อย่าให้ ‘เศรษฐกิจไทย’ สำลักฝุ่นพิษ! จากผลกระทบของ ‘PM2.5’
ปัญหา “ฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว” หรือ “PM2.5” ที่มีความรุนแรงขึ้น กำลังบั่นทอนสุขภาพประชาชน และสร้างผลกระทบต่อประเทศ เป็นความท้าทายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ต้องการมาตรการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาพอากาศโดยทั่วไปของประเทศไทย ตามมาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ที่ใช้เป็นมาตรฐานการวัดคุณภาพอากาศติดอัน 1 ใน 5 ประเทศที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดในโลก โดยดัชนี AQI อยู่ที่ค่าเฉลี่ย 151 – 200 ซึ่งเป็นช่วงอากาศที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว
หลายจังหวัดที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น รวมทั้งเมืองท่องเที่ยวอีกหลายแห่งปกคลุมไปด้วยฝุ่นพิษ PM2.5 โดยในพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศอย่างกรุงเทพมหานคร ความหนาแน่นของ PM2.5 อยู่ในระดับสูงมาก จนรัฐบาลออกคำเตือนให้ประชาชนสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ขณะที่กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือให้ลดการใช้รถยนต์ ลดการเดินทาง Work from home อยู่กับบ้าน โดยภาวะของฝุ่น PM2.5 จะยังมีต่อเนื่องไปอีกหลายวันในช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้
PM2.5 กระทบเศรษฐกิจโลก
ที่จริงแล้วฝุ่น PM2.5 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรายงานเรื่อง “How to fight the next threat to our world air pollution” ที่เผยแพร่โดย “World Economic Forum” เมื่อปลายปีที่ผ่านมาบอกเล่าถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก PM2.5 ส่งผลโดยตรงต่อประชากรโลกกว่า 80% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่รวมทั้งค่ารักษาพยาบาล และผลกระทบอื่นๆในทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 8.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นประมาณ 6.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของโลก โดยตัวเลขนี้มีการเก็บข้อมูลในการประเมินผลกระทบจากค่า PM2.5 ตั้งแต่ปี 2019 หากมีการเก็บข้อมูลใหม่ในปีนี้ตัวเลขความเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีก
ในส่วนของประเทศไทยการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ไว้ด้วยเช่นกัน ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการออกแบบจำลองเพื่อประมาณมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่าย โดยชี้ให้เห็นว่าคนยินดีจ่ายเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่เพื่อลดระดับมลพิษ
พบว่าคนกรุงเทพฯยอมจ่ายเงินเพิ่มประมาณ 5,000 บาท/ครัวเรือน/ปี เพื่อให้ฝุ่น PM ลดลง 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในกรุงเทพฯมีปริมาณฝุ่น PM10 อยู่ที่ 24-25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีประชากรกว่า 3 ล้านครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าเม็ดเงินในปี 2562 ถึงประมาณ 450,000 ล้านบาท
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าแม้ในภาคเหนือค่าฝุ่นจะสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แต่เมื่อรวมประชากร 9 จังหวัดภาคเหนือ ยังไม่สูงเท่าประชากรในกรุงเทพ มูลค่าความสูญเสียในเมืองหลวงจึงสูงกว่า หากวัดความเสียหายทั้งประเทศในปี 2562 จะอยู่ที่ 2.36 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมติฐานทุกคนได้รับผลกระทบจากฝุ่น
เศรษฐกิจไทยรับผลกระทบหลายด้านจากฝุ่น PM2.5
ขณะเดียวกัน“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้เปิดเผยว่าผลระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปีที่ผ่านมาคิดเป็นเม็ดเงินรวมราว 3.2 – 6 พันล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับกรอบระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น ค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ) 2,000-3,000 ล้านบาท โดยกว่า 75% เป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล
นอกจากนั้นยังมีค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว 1,000- 2,400 ล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล และค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร ตลาดนัดอีกไม่น้อยกว่าปีละ 200 – 600 ล้านบาท
ภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด -19 และถือว่าเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในขณะนี้โดยรัฐบาลได้เริ่มมีการขยับปรับเป้าทั้งจำนวน และรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มเติมโดยล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศเป้าหมายการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยเพิ่มจาก 20 ล้าน เป็น 25 ล้านคน
จับตา PM2.5 เสี่ยงกระทบการท่องเที่ยว
ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) มีมุมมองในเชิงบวกต่อการท่องเที่ยวไทย โดยมองว่าหลังจากที่ประเทศจีนผ่อนคลายมาตรการเดินทางออกนอกประเทศ และอนุญาตให้มีการเดินทางออกนอกประเทศในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ได้ซึ่งทีทีบีมองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยในปีนี้จะสูงถึง 28 ล้านคน และสร้างรายได้เข้าประเทศไทยได้กว่า 1.44 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตามปัจจัยลบจาก PM2.5 จะกระทบภาคท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงนี้ไปจนถึงช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. 2566 มีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับฝุ่น PM2.5 ที่กระทบต่อสุขภาพของนักท่องเที่ยว และกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยซึ่งจะฉุดรั้งการท่องเที่ยว จนทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดเติบโตไม่ได้ตามเป้าหมายที่ทุกฝ่ายคาดหวังไว้ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2562 ก็เคยเกิดปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเมืองไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ามายังกทม.และปริมณฑลเพราะปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตราฐานไปมาก
นายกฯกางแผน 3 พื้นที่ 7 มาตรการ รับมือ ฝุ่น PM2.5
อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่าฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับปัญหานี้ โดยได้กำหนดแนวทาง และมาตรการรับมือสถานการณ์สถานการณ์ PM 2.5 ในทุกมิติ พร้อมกับได้เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุก แจ้งเตือน รวมทั้งยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง ขอความร่วมมือประชาชนให้หันมาใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น หมั่นตรวจบำรุงรักษารถ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้สวมใส่หน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพื่อป้องกันตนเองจากฝุ่น
ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับ และสั่งการให้เดินหน้าแผน “3 พื้นที่ 7 มาตรการ” รับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของประเทศไทย ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งในระยะยาวสั้น และระยะยาว รวมทั้ง สั่งการให้ประชาสัมพันธ์สื่อสารให้ความรู้ ความเข้าใจ แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 พร้อมแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ
“ขณะนี้ที่มีความรุนแรงเกิดจาก ภาพรวมของพื้นที่ ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง และเป็นช่วงรอยต่อฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน สภาวะอากาศนิ่ง ลมสงบ ส่งผลต่อการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศ ทำให้ระดับฝุ่นละอองมีค่าสูงขึ้น อีกทั้งอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยเสริมทำให้ PM2.5 อาจมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้ง ติดตามสอบถามการแก้ไขปัญหา การทำงานของทุกหน่วยเป็นระยะ เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด”
แบ่งงานรายกระทรวงแก้ปัญหาฝุ่นพิษ
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากจังหวัดใดที่มีค่าฝุ่นเกิน 51 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center : PHEOC) เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ส่วนจังหวัดที่มีค่า PM 2.5 ระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ให้เปิดศูนย์บัญชาการสถานการณ์ (OC) ระดับจังหวัดรองรับ รวมถึงให้เร่งรัดสื่อสารความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 แจ้งเตือนถึงความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ
กระทรวงคมนาคม ยกระดับการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การออกตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียของรถบรรทุกและรถโดยสารในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การตรวจสภาพรถบรรทุกและรถโดยสาร การตรวจสอบการดำเนินการของสถานตรวจสภาพรถ การตรวจสอบยานพาหนะของหน่วยงานราชการ และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check) ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS) เป็นต้น รวมทั้งขอความร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อลดปริมาณการเผาในพื้นที่ ทั้งการเคาะประตูบ้านแจ้งข่าวทำ ความเข้าใจ ตลอดจนกำชับให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละพื้นที่แบบครบวงจร ทั้งการชิงเก็บ ลดเผา และการใช้แอปพลิเคชัน Burn Check เพื่อลงทะเบียนและจองเวลา ในการเผาล่วงหน้า เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และได้นำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ให้ความเห็นชอบและออกเป็นประกาศ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้น
โดยกรมควบคุมมลพิษจะมีการประกาศใช้ กำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ใหม่ จากเดิมประเทศไทยจะใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง กำหนดค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) เป็น ให้ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. และกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 โดยจะส่งผลให้มาตรการการควบคุมการปล่อยมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่งรถยนต์ จะมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อลดอัตราการปล่อยมลภาวะออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการการควบคุมและลดปริมาณการเผาอ้อยหรือการเผาป่ามากขึ้น
คงต้องจับตาการขับเคลื่อนแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นวาระแห่งชาติ ของรัฐบาลที่ประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาให้ได้ โดยได้มีการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถดำเนินการได้ผลมากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาแต่ละกระทรวงมีแผนที่เตรียมการรับมือกับฝุ่น PM2.5 ไว้อยู่แล้วแต่ที่ผ่านมาปัญหานี้ยังไม่รุนแรงจึงยังแทบไม่มีหน่วยงานไหนหยิบแผนมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
ตอนนี้คงถึงเวลาแล้วที่จะขยับ เดินหน้าร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา PM2.5 อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมก่อนที่ปัญหานี้จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันไม่เช่นนั้น “เศรษฐกิจไทย” คงเสมือนกับสำลักฝุ่นควันพิษ PM2.5 จนเจ็บป่วยและอ่อนแอ