“ค่าเหยียบแผ่นดิน” รัฐกางแผนเก็บแน่ปี 66
การท่องเที่ยวฟื้นแล้วชัดเจน ไม่เชื่อลองออกไปเที่ยวดูสิแล้วจะเห็นว่าบรรยากาศคึกคักแค่ไหน สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งของไทย คนจีน ฝรั่ง อินเดีย เดินกันขวักไขว่ พูดคุยภาษาแปลก ๆ ให้เราเห็นกันแทบจะทุกหัวถนน ถือเป็นสัญญาณที่ดี กับธุรกิจท่องเที่ยวที่จะกลับมาโกยรายได้คืนอีกครั้ง หลังจากทนทุกข์ระทมมานาน 3 ปี
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยในปี 2566 เอาไว้ก่อน 20 ล้านคน แต่ตอนนี้มองว่าเป้าหมายนี้อาจน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับสถานการณ์ฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด เพราะต่างชาติน่าจะพุ่งทะยานไปถึง 25 ล้านคนได้ไม่ยาก ขณะที่ไทยเที่ยวไทยก็น่าจะถึง 250 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 2.38 ล้านล้านบาท
การกลับมาของการท่องเที่ยวที่เกือบจะเป็นปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด ส่งผลให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมกลับมาทบทวนเรื่องสำคัญกันอีกครั้ง นั้นคือ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือที่หลายคนคุ้นชื่อกันว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน”ครอบคลุมการเดินทางทั้งทางเครื่องบิน ทางบก และทางน้ำ
ประเด็นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างชาติเข้าประเทศนี้ ที่ผ่านมาเคยเกิดเป็นเรื่องดรามาหลายรอบ หลังกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ชงเรื่องไปถึงรัฐบาล แต่ทุกครั้งกลับเจอเบรก โดยครั้งแรกที่จัดทำรายละเอียดเสร็จสิ้นมีเฉพาะการเก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะการเดินทางมาจากเครื่องบินเท่านั้น เมื่อเสนอไปยังรัฐบาล ก็ถูกตีกลับให้ไปจัดทำรายละเอียดใหม่ให้ครอบคลุมการเดินทางให้ครบทุกด้าน ทั้งทางบกและทางน้ำ ทำให้ต้องร่างแนวทางกันใหม่อีกรอบ
จนล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้จัดทำออกมาเป็นร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ประกอบด้วย
1. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางโดยอากาศยาน
2. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางผ่านด่านช่องทางบก ช่องทางน้ำ
ความจำเป็นของการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมกับนักท่องเที่วต่างชาติ กำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้หลัก นั้นคือ เพื่อนำค่าธรรมเนียมดังกล่าวไปพัฒนาการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะการลดงบประมาณภาครัฐได้จำนวนมาก โดยเฉพาะสามารถนำไปใช้เป็นงบประมาณแผ่นดินในการดูแลเยียวยานักท่องเที่ยวที่เกิดอุบัติเหตุ และเพื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
เช่นเดียวกับเพื่อใช้จ่ายในการให้บริการด้านสาธารณสุขกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แสดงถึงค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ารับบริการจากสถานพยาบาลภาครัฐ ค้างจ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งจะได้มีงบประมาณในการดูแลแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดความเสื่อมโทรม รวมทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัย และเพื่อการท่องเที่ยวของคนทั้งมวล
นอกจากนี้ยังใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การพัฒนาทักษะด้านการบริหาร การตลาด หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน การดูแลรักษาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว การส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยวใหม่ๆ ในท้องถิ่น รวมทั้งการจัดให้มีประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศอีกด้วย
หลายประเทศจัดเก็บค่าธรรมเนียมหมด
การเก็บค่าเหยียบแผ่นดินของไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะถ้าไปดูหลาย ๆ ประเทศที่เป้นประเทศจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวต่างก็เก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าเหยียบแผ่นดินกันเกือบทั้งสิ้น เพียงแต่จะเก็บในรูปแบบไหนเท่านั้น และบางครั้งเราก็อาจจ่ายไปแล้วโดยที่ไม่รู้ตัว โดยมีการจัดเก็บเป็น Tourist Tax มีตัวอย่างประเทศสำคัญ ๆ ดังนี้
ประเทศญี่ปุ่น จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยมีการเรียกเก็บภาษีซาโยนาระ โดยจะมีค่าธรรมเนียมประมาณ 1,000 เยน (300 บาท) ที่นักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายเมื่อเดินทางออกนอกประเทศ เช่นเดียวกับ มาเลเซีย จะเก็บภาษีนักท่องเที่ยว 10 ริงกิตมาเลเซีย ต่อคนต่อคืน หรือ อินโดนีเซีย เมื่อท่องเที่ยวหลักอย่างเกาะบาหลี จะเก็บภาษีนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ 10 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังกำหนดภาษีขาออกซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละสนามบิน หรืออีกประเทศที่ไปยาก คือ ภูฏาน เก็บภาษีนักท่องเที่ยวสำหรับการเข้าประเทศ เป็นค่าธรรมเนียมคงที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐ
ฝั่งยุโรป หลายประเทศเก็บล่วงหน้าไปหลายปีแล้ว เช่น เยอรมนี เรียกเก็บภาษีเป็นจำนวนเงิน 5 ยูโรต่อคนต่อวัน หรือ 5% ของราคาบิลโรงแรมที่เข้าพัก เช่นเดียวกับ สเปน เรียกเก็บค่าธรรมเนียม 4 ยูโรต่อวันต่อคน นอกจากนี้สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งอาจเรียกเก็บเงินพิเศษสำหรับผู้มาเยือน โดยในบาร์เซโลนา ผู้เข้าชมจะถูกเรียกเก็บเงินสูงถึง 2.50 ยูโรต่อวัน หรือ สวิตเซอร์แลนด์ จะเรียกเก็บภาษีจากของนักท่องเที่ยวแตกต่างกันออกไปตามโลเกชั่นของที่พัก เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 2.50 ฟรังก์สวิส
ขณะที่ สหรัฐอเมริกา ในหลายๆ รัฐของสหรัฐฯ ทั้งรัฐแคลิฟอร์เนีย และเท็กซัส มีการเก็บภาษีการเข้าพัก ทั้งในโรงแรมขนาดเล็กและโรงแรมขนาดใหญ่ โดยมีอัตราการเรียกเก็บที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะรัฐเท็กซัสนั้นมีอัตราเรียกเก็บสูงถึง 17%
พร้อมดันออกมาใช้ภายในปี 2566
ความคืบหน้าล่าสุดของการผลักดันการเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่มีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ซึ่งประชุมกันเป็นครั้งแรกของปี 2566 ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือด้วย พร้อมกับรับทราบการประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พ.ศ. …. เบื้องต้นคาดว่าจะมีการประกาศใช้ภายในปี 2566 นี้
โดยแบ่งการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน หรือ ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ออกเป็น 2 ฉบับ แบ่งเป็น 1.การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินทางอากาศยาน 2.การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินทาง ทางบก และทางน้ำ
กำหนดราคาเก็บจากนักท่องเที่ยว
สำหรับรายละเอียดของการดำเนินการ ในกรณีแรกคือ “ค่าเหยียบแผ่นดินทางอากาศยาน” มีสาระสำคัญ คือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยอากาศยาน ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราคนละ 300 ต่อคนต่อครั้ง แต่มีข้อยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแก่บุคคลต่าง ๆ ทั้ง ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย ผู้ควบคุมและเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน ทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี และบุคคลอื่น ตามที่คณะกรรมการกำหนด
ทั้งนี้ยังกำหนดให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศ มีหน้าที่ดำเนินการ รวมทั้งจัดเก็บค่าธรรมเนียม โดยให้จัดเก็บรวมกับค่าโดยสารอากาศยาน ทั้งนี้ ให้แสดงอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บไว้ในบัตรโดยสาร หรือเอกสารอย่างอื่นที่แสดงรายการอัตราค่าธรรมเนียมที่ผู้โดยสาร ต้องชำระ พร้อมทั้งนำส่งบัญชีรายชื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็นผู้โดยสารขาเข้าก่อนอากาศยานนั้น ออกเดินทางจากสนามบินประเทศต้นทาง
อีกกรณี “ค่าเหยียบแผ่นดินทางด่านช่องทางบก และช่องทางน้ำ” มีสาระสำคัญ คือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยผ่านด่านช่องทางบก ช่องทางน้ำ ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราคนละ 300 ต่อคนต่อครั้ง แต่ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สหพันธรัฐมาเลเซีย ราชอาณาจักรกัมพูชา จะเก็บถูกกว่า คือ จ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราคนละ 150 ต่อคนต่อครั้ง โดยให้สิทธิ์ยกเว้น กับผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย ผู้ถือบัตรผ่านแดน ทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี และผู้ควบคุมและเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตามในช่วงจากนี้ไปต้องติดตามดูว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะดันเรื่องนี้ไปได้จนสุดทางหรือไม่ เพราะหากไม่ทำตอนนี้อาจต้องใช้เวลาอีกนานแน่นอนหลังจากประเทศกำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ