14 กระทรวงขอผูกพัน ‘งบประมาณปี 67’ โครงการใหญ่รวมกว่า 3.6 แสนล้านบาท
การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการรักษาโมเมนตัมของการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยหน่วยงานทางเศรษฐกิจมีมุมมองที่ดีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 ที่มีโอกาสขยายตัวได้กว่า 4% จากปีก่อนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐผ่านการจัดซื้อ จัดจ้าง และการลงทุนก็สามารถที่จะช่วยหนุนเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
แม้จะอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2566 แต่ในส่วนของกาจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีการเดินหน้าแล้วอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา โดยการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ถือเป็นการจัดทำงบประมาณในปีสุดท้ายของรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พิจารณารายละเอียดงบประมาณ 30 ม.ค. – 7 มี.ค.
โดยมีการกำหนดให้กระทรวง และหน่วยงานราชการต่างๆต้องส่งคำของบประมาณให้กับสำนักงบประมาณพิจารณาภายในวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณารายละเอียดงบประมาณระหว่างวันที่ 30 ม.ค. – 7 มี.ค.2566 ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ใช้จ่ายงบประมาณฯปี 2567 ในวันที่ 14 มี.ค.2566 ในครั้งแรกเพื่อให้ครม.เห็นชอบและนำเสนอแนวทางการปรับปรุง ก่อนจะนำไปรับความคิดเห็นตามขั้นตอนการจัดทำงบประมาณปี 2567 ก่อนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 16 พ.ค. 2567 ซึ่งเป็นไปตามที่ปฏิทินงบประมาณกำหนดไว้ ส่วนหากมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีการยุบสภาฯก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนปฏิทินงบประมาณอีกครั้ง
ที่ผ่านมาการจัดทำงบประมาณฯปี 2567 ได้มีการกำหนดวงยุทธศาสตร์งบประมาณ สาระสำคัญ กรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งการให้หน่วยงานต่างๆขออนุมัติผูกพันงบประมาณข้ามปีที่จะเริ่มมีการเบิกจ่ายสำหรับปี 2567 ในส่วนของโครงการขนาดใหญ่ที่มีขนาดเกินกว่า 1 พันล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้วในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามเกณฑ์การจัดทำงบประมาณที่มีการกำหนดไว้
โดยในส่วนของกรอบวงเงินปี 2567 ที่ ครม.มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้อยู่ที่มีกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.185 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณก่อน หรือเพิ่มขึ้น 1.65 แสนล้านบาท โดยจัดทำงบประมาณขาดดุล 5.93 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 3% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางกรอบการคลังระยะปานกลางของประเทศ ที่ต้องการทำให้งบประมาณไปสู่สมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม
โดยในส่วนของโครงสร้างของงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ประกอบไปด้วยรายได้ของรัฐบาล 2.757 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลรวม 3.357 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% และมีหนี้สาธารณะคงค้าง 1.18 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.35% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 70% ของจีดีพี
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2567 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 1-2% ชะลอลงจากปี 2566 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.3-4.3% (ค่ากลาง 3.8%) โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของการลงทุนภายในประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาหน่วยราชการรวม 14 กระทรวง และ 25 หน่วยงานรับงบประมาณขอเสนอผูกพันงบประมาณในโครงการต่างๆที่มีมูลค่าโครงการตั้งแต่ 1 พันล้านบาท เป็นวงเงินรวมประมาณ 3.6 แสนล้านบาท โดยสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วว่าการก่อหนี้ของหน่วยงานต่างๆต้องมีการก่อหนี้ไม่ต่ำกว่า 20% ของมูลค่ารวมของโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณแรกคือในปีงบประมาณ 2567
ครม.อนุมัติผูกพันโครงการเกินพันล้านก่อนส่งสำนักงบฯ
ทั้งนี้การเสนอขอผูกพันงบประมาณสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่วงเงินเกินกว่า 1 พันล้านบาทที่ต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาก่อนเสนอของบประมาณจากสำนักงบประมาณนั้นเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ต.ค.2565 ว่าให้มีการเสนอขอพิจารณาเรื่องการขอผูกพันงบประมาณที่มีวงเงินเกิน 1 พันล้านบาทมายัง ครม.ก่อนที่จะเสนอขออนุมัติงบประมาณของแต่ละกระทรวง และหน่วยงานไปให้สำนักงบประมาณพิจารณาตามขั้นตอน
โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการายงานว่ามาตรา 26 ตามพ.ร.บ.วิธีการทางงบประมาณกำหนดว่าในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณจะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติก่อนที่จะมีการยืนคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
ส่วนมาตรา 27 ระบุว่าการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัด มีหน้าที่รับผิดชอบในการรวบรวมคำขอตั้งงบประมาณรายจ่าย และยื่นต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อเสนอต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด
หลังจากนั้นสำนักงบประมาณจะจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณ และเสนอ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวันที่ 16 พ.ค.2566 แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนกรอบเวลาเพราะปีนี้จะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยกรณีไม่มีการยุบสภาจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.2566 และคาดว่าจะได้ ครม.ชุดใหม่ในเดือน มิ.ย.2566 นี้
มหาดไทยชง 7 โครงการ 1.5 หมื่นล้าน
สำหรับการผูกพันงบประมาณของหน่วยราชการ กระทรวง และหน่วยงานรับงบประมาณในโครงการที่ต้องใช้งบประมาณเกินกว่า 1 พันล้านบาท ที่น่าสนใจ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย เสนอขออนุมัติผูกพันข้ามปีงบประมาณจำนวน 7 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 15,486 ล้านบาท ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอก่อสร้างโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ระยะที่ 2 วงเงิน 3,344 ล้านบาท
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ขออนุมัติโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปา ส่วนภูมิภาค จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 7,587 ล้านบาท ด้านกรุงเทพมหานคร เสนอ 2โครงการ วงเงิน 4,555 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กทม. และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง (โครงการป้องกันฯ กัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน) วงเงิน 1,723 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 วงเงิน 2,832 ล้านบาท
คลังผูกพันงบค่าเช่าศูนย์ราชการ 9.8 หมื่นล้าน
กระทรวงการคลังขออนุมัติให้กรมธนารักษ์ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ พื้นที่โซน C เพื่อเป็นค่าเช่าอาคารให้กับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) พื้นที่ทั้งหมด 510,000 ตารางเมตร เป็นเวลา 30 ปี ในอัตราค่าเช่า 390 บาท/ตารางเมตร/เดือน หรือปีละ 2,386 ล้านบาท และปรับปรุงอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้น 7% ต่อปีของค่าเช่าเดิมทุก 3 ปี รวม 30 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 98,931 ล้านบาท แทนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่มีสิทธิขอใช้งบประมาณ ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ และเป็นผู้ทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับการเช่าพื้นที่ในโครงการแทนทุกหน่วนงานในโครงการ
ขณะที่กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย วงเงิน 1,514 ล้านบาท โดยขอก่อหนี้ผูกพัน 3 ปี (2566 – 2568)ส่วนกระทรวงอุดมศึกษาฯ เสนอขออนุมัติงบประมาณโครงการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต 3,143 ล้านบาท และโครงการอาคารรักษาพยาบาล และสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 1,636 ล้านบาท
สำนักนายกฯขออนุมัติซื้อเครื่องบิน 8.7 พันล้าน
สำนักนายกรัฐมนตรี เสนอขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป การจัดหาเครื่องบิน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญ ทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น วงเงิน 8,784 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2567 วงเงิน 1,753 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 2,191 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 2,201 ล้านบาท และปี 2570 วงเงิน 2,637 ล้านบาท
องค์กรอิสระ และองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ และในปีงบประมาณ 2567 ได้แก่ สถาบันประปกเกล้า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานอัยการสูงสุด วงเงินรวม 66,692.55 ล้านบาท ด้านศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทางทะเล (ศรชล.) เสนอ โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 3 ลำระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2567 – 2571) วงเงิน 4,500 ล้านบาท ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเสนอ ขอผูกพันงบประมาณสำหรับโครงการศูนย์การแพทย์เพื่อตอบโต้โรคอุบัติใหม่แห่งชาติบำราศนราดูร (โครงการฯ) (National Center for Emerging and Infectious Diseases : NCEID) 2,229 ล้านบาท
กระทรวงเกษตรฯขอผูกพันงบฯ 2.7 พันล้าน 5 โครงการ
กระทรวงเกษตรฯ เสนอขออนุมัติให้กรมชลประทาน 5 โครงการ วงเงิน 2,766 ล้านบาท ได้แก่ เขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตราดิตถ์ อ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน ปรับปรุงคลอดบางขนาก จ.เชิงเทรา ปรับปรุงคลอดระพีพัฒน์แยกใต้ จ.ปทุมธานี และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระพีพัฒน์ จ.สระบุรี ส่วนกระทรวงยุติธรรม เสนอขออนุมัติก่อสร้างเรือนจำ 3 โครงการ ใน จ.อุตรดิตถ์ ชัยนาท ยโสธร รวม 5,004 ล้านบาท โดยผูกพันข้ามปีตั้งแต่ปี 2567-2569
เป็นที่น่าสังเกตว่าการขอผูกพันงบประมาณโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงงานราชการ และหน่วยงานรับงบประมาณเกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะมีการจัดเลือกตั้งในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งน่าสนใจว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่แล้วรัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่จะมีการเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงการต่างๆ รวมทั้งจำนวนเงินงบประมาณที่กำหนดไว้หรือไม่ หรือว่าจะต้องจำใจไปเริ่มขั้นตอนใหม่ในการทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 แทน เนื่องจากในปี 2567 แทบที่จะไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว