วิวาทะ ‘กรุงเทพธนาคม vs BTSC’ ปะฉะดะ ‘ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว’
วนกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งสำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อมีรายงานว่า ช่วงเดือนพ.ย. 2565 บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ไปยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง เพื่อเรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) จ่ายค่าจ้างเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวในช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ หรือส่วนต่อขยายที่ 2 เพิ่มเติมอีกประมาณ 10,600 ล้านบาท (เดือน มิ.ย. 2564 – ต.ค. 2565)
โดยเป็นฐานความผิดเดียวกับคดีที่ฟ้องไปก่อนหน้านี้คือ กรณีผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อขอให้ชำระหนี้ ประกอบด้วย ค่าจ้างบริการเดินรถและซ่อมบำรุง 2,731 ล้านบาท, ดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดตามสัญญาของเงินต้น 2,581 ล้านบาท, ค่าจ้างเดินรถช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคตและแบริ่ง – สมุทรปราการ (ส่วนต่อขยายที่ 2) 9,406 ล้านบาท, อัตราดอกเบี้ยส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต – คูคต ของเงินต้น 3,255 ล้านบาท และดอกเบี้ยส่วนต่อขยายช่วงสำโรง – สมุทรปราการ ของเงินต้น 5,531 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งหมดที่ กทม.และเคทีต้องชดใช้ประมาณ 11.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันจำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว รอการพิจารณาคดีกันต่อไป
โดยวิวาทะที่เกิดขึ้น มาจากการที่ BTSC ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางในคดีที่ 2 นี้นั่นเอง
เมื่อมีการเสนอข่าวว่า ทาง BTSC ยื่นร้องศาลปกครองกลางเกี่ยวกับค่าจ้างเดินรถอีก 1 ก้อนที่เกิดขึ้น ทางกรุงเทพธนาคม (เคที) ก็เผยแพร่ข้อต่อสู้ในคดีทันที 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1. สัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคม กับ BTSC นั้น นำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน ไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
2. กรุงเทพธนาคม ไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 ม.ค.2515 ในข้อ 4 ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการได้ ทั้งนี้กรุงเทพธนาคมก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตจากัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
3. สัญญาจ้างที่กรุงเทพธนาคม กระทำกับ BTSC เป็นสัญญาที่ไม่ชอบ เพราะจงใจจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ อาทิเช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุฯ เรื่องการงบประมาณ ตลอดจนพ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน กล่าวคือกรุงเทพธนาคมไม่มีอำนาจนำเอางานที่รับจ้างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปทำสัญญาจ้างกับบุคคลอื่นตามอำเภอใจได้
4. การที่กรุงเทพธนาคม ไปทำสัญญาว่าจ้าง BTSC ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยตรง โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นที่อาจเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ
5. การฟ้องคดีของ BTSC ในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะ BTSC ทราบดีอยู่แล้วว่า กรุงเทพธนาคม ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่ BTSC ยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับกรุงเทพธนาคม ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคม เป็นคดีนี้ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
2 สัญญาเจ้าปัญหาในมุม ‘เคที’
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกรุงเทพธนาคม ขยายความภายหลังว่า สัญญาจ้างที่ระบุว่าไม่ชอบ มีอยู่ด้วยกัน 2 ฉบับคือ 1.สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร มีกรุงเทพธนาคม และ BTSC เป็นคู่สัญญา ทำขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2555 ในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่ากทม. ซึ่งในตอนนั้น ถูกครหาว่าเร่งรบในการทำสัญญาผิดปกติ เพราะ ณ ตอนนั้นยังเหลืออายุสัญญาสัมปทานสายหลักอีก 17 ปี อีกทั้งการจ้าง BTSC เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุงในครั้งนั้น เนื่องจาก กทม. เพิ่งก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ 1 ของสายสีเขียว คือ ช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน – บางหว้า แล้วเสร็จ จึงมีการทำสัญญาฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้เกิดการเดินรถในสายทางดังกล่าว แต่มีการผนวกเอารถไฟฟ้าสายสีเขียวสัมปทานหลักเข้าไปด้วย
ทำให้พรรคเพื่อไทยในตอนนั้นยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้มีการชี้มูลความผิด แต่จนถึงวันนี้ 11 ปี ป.ป.ช.ก็ยังไม่ชี้มูลคดีนี้ได้เสียที ซึ่งทางเคทีเองก็ทวงถามไปยัง ป.ป.ช.แล้ว 2 ครั้ง แต่ได้รับคำตอบเพียงว่า กำลังดำเนินการอยู่
อีก 1 สัญญาที่เกี่ยวข้องคือ การจ้าง BTSC ดำเนินการติดตั้งงานระบบเดินรถและระบบไฟฟ้ารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ ซึ่งประเด็นเกี่ยวเนื่องกับนโยบายในการให้ กทม.เป็นผู้ดูแลรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณเดือน พ.ย. 2551 กำหนดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ก่อสร้างและเดินรถโครงการ โดย กทม. รับบทบาทประสานการเดินรถให้ไร้รอยต่อเท่านั้น อย่างไรก็ตามในช่วงนั้น กทม. และ กระทรวงคมนาคม ก็งัดข้อกันหลายครั้ง เพื่อยื้อแย่งการบริหารโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ และมาสรุปจบในยุค คสช.ประมาณปี 2559 ที่ให้ กทม. เป็นผู้บริหารโครงการทั้งหมด
แต่เนื่องจากงานก่อสร้างในตอนนั้นดำเนินการโดย รฟม.จนเสร็จทั้งหมดแล้ว เมื่อ กทม.เข้ามาเป็นเจ้าของโครงการแทน จึงต้องมีการจ่ายเงินค่าก่อสร้างคืนให้ รฟม. และเมื่อรวมกับทรัพย์สินและหนี้สินอีกหลายรายการ ทำให้การรับโอนหนี้สิน-ทรัพย์สินระหว่างทั้งสองหน่วยงาน มีมูลค่าโครงการประมาณ 51,000 ล้านบาทในที่สุด ซึ่งทั้งสองหน่วยงานก็จรดปากกาเซ็น MOU ไว้ตั้งแต่ปี 2561 แต่ปัจจุบัน ทางกทม.ก็ยังไม่สามารถปิดดีลการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินตรงนี้ได้เสียที แม้ในยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จะได้ออกข้อบัญญัติกู้เงิน วงเงิน 51,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถควักเงินดังกล่าวมาใช้ได้ เพราะสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ไม่เห็นชอบ
แหล่งข่าวจากกรุงเทพธนาคม กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากกระบวนการรับโอนที่ยังไม่เสร็จสิ้น การไปจ้าง BTSC ดำเนินการวางงานระบบรถไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในช่วงส่วนต่อขยายที่ 2 ดังกล่าว อาจสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายตามมาในอนาคต เพราะกรรมสิทธิ์ยังไม่ได้ตกเป็น กทม. 100% การไปดำเนินการใดๆก่อนที่จะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงมีความเสี่ยงมากที่จะผิดกฎหมาย
ด้วยเหตุเหล่านี้ กรุงเทพธนาคมจึงมั่นใจว่า ข้อต่อสู้คดีในส่วนของสัญญาทั้ง 2 ฉบับจะพลิกคำพิพากษาในคดีที่ 2 นี้ได้!
BTSC สู้กลับ สัญญาไม่ชอบแล้วทำไมยังเดินต่อ?
ฉับพลันทันใด BTSC ก็ตั้งการ์ดสู้กลับทันที โดย ‘สุรพงษ์ เลาหะอัญญา’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ ‘พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย’ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะที่ปรึกษาประธานกรรมการ จึงออกมาตอบโต้ทันที
โดยเฉพาะประเด็นสัญญาไม่ชอบนั้น BTSC ก็ตั้งคำถามกลับไปดังๆว่า หากกรุงเทพธนาคมได้ตรวจสอบ และเชื่อโดยสุจริตตามความเห็นดังกล่าว เหตุใดกรุงเทพธนาคมยังคงยอมรับ และปฏิบัติตามสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้ ทั้งในส่วนของสัญญาระหว่าง กทม. และกรุงเทพธนาคม และสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคม และ BTSC โดยเฉพาะในส่วนของสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคมและ BTSC ซึ่งขณะนี้บริษัทยังคงต้องให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตามสัญญาจ้างเดินรถต่อไป แต่กทม. และกรุงเทพธนาคมกลับยังไม่ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายและเลือกแต่จะกล่าวอ้างตามความเห็นดังกล่าว
เคส ‘คลองด่าน’ ชี้ชัดเป็นหนี้ต้องจ่าย
และการที่หน่วยงานรัฐไม่จ่ายหนี้ โดยอ้างว่าสัญญาไม่ชอบนั้น ‘ชาญชัย อิสระเสนารักษ์’ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ มือตรวจสอบทุจริตภาคการเมือง ก็แสดงความเห็นไว้น่าสนใจว่า ศาลปกครองสูงสุดในคดีคลองด่านพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานว่า แม้จะมีประเด็นคดีความเรื่องการทำผิดกฎหมายอาญาค้างอยู่ในศาล แต่หากยังไม่มีคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดว่ามีการทุจริต สัญญาตกเป็นโมฆะหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หนี้ตามสัญญาดังกล่าวยังสามารถบังคับกันได้อยู่
เมื่อเอกชนได้ทำงานตามสัญญาแล้ว รัฐก็ต้องชำระหนี้ตามสัญญาพิพาท หากจะกล่าวอ้างว่าสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่จะมาตัดสินไม่ใช่หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่กรณี แต่เป็นเรื่องของศาลใดศาลหนึ่ง ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดก็ได้ยืนยันหลักการเดียวกันกับคดีคลองด่าน ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเลขที่ อ. 356/2565 ว่าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องชำระเงินตามสัญญาให้กับเอกชน ถ้าเอกชนได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าสัญญาตกเป็นโมฆะ
ดังนั้น การที่ กทม. และ KT พึงรู้อยู่แล้วว่าหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสัญญาภาครัฐจะเป็นไปตามแนวทางคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ภาครัฐยังคงต้องชำระหนี้ให้แก่เอกชน ถ้าเอกชนได้ชำระหนี้ถูกต้องแล้ว จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าสัญญาไม่ถูกต้อง แต่ กทม. และ KT กลับจงใจประวิงเวลาโดยอ้างเพียงความเห็นหน่วยงานว่าสัญญาไม่ถูกต้องซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการของศาลปกครองสูงสุด ทำให้รัฐต้องรับภาระดอกเบี้ยเพิ่มเติม ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ยังคงให้เอกชนเดินรถต่อไปทั้งที่ตัวเองเห็นว่าสัญญาไม่ถูกต้อง จึงเห็นได้ว่าการกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างโดยไม่สุจริตและทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งอาจจะเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา
ไม่รู้ว่าหลังจากนี้ คู่ค้าทางธุรกิจรัฐ-เอกชน 2 เจ้าคือ จะยังญาติดีกันได้หรือไม่ และแน่นอนว่า การชักเย่อของทั้ง 2 หน่วยงาน มีประชาชนชาวไทยที่ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS วันละหลายแสนคนค่อนไปหลักล้าน จับตามองอยู่ หากจบกันไม่ลง คงมีระเบิดอีกหลายลูกตามมาแน่นอน