ไทยดันมาตรการสนับสนุน ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ‘บีโอไอ’ มั่นใจไทยเป็นฮับภูมิภาค
การผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) ในประเทศไทยถือว่ามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะนอกจากไทยจะเป็นผู้นำเข้ารถไฟฟ้ามาใช้ในประเทศแล้ว ภาครัฐยังมีมาตรการการส่งเสริมการผลิตรถ EV ในประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในปีที่ผ่านมาเริ่มมีการประกาศการลงทุนของค่ายรถยนต์ที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตรถ EV ในประเทศ
ตลาดรถ EV หนุนการตั้งฐานผลิตในประเทศ
ส่วนสำคัญที่เป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทยคือมีตลาดรถ EV ขนาดใหญ่ เห็นได้จากปีที่ผ่านมามียอดจองรถ EV ภายในงาน Motor Expo 2022 ช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา สูงถึง 5,800 คัน คิดเป็นสัดส่วน 15.8% จากยอดจองรถยนต์ทั้งหมดที่ 36,679 คัน ยังไม่นับการจองรถ BYD ทั้งปีนับหมื่นคัน และการจองรถเทสล่าที่เข้ามาเปิดตัวให้จองในเมืองไทยเมื่อปลายปี ทำให้รวมๆแล้วยอดจองรถ EV ปีที่ผ่านมาในไทยมีมากกว่า 2 หมื่นคัน
ความสำเร็จของการผลักดันอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยมาจากการส่งเสริม 2 ส่วนที่สำคัญ จากมาตรการของภาครัฐ คือมาตรการลดภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมรถ EV รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีการออกมาตรการสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง
บีโอไอปลื้มยอดขอส่งเสริม EV ทะลุ 5 หมื่นล้าน
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีเงินลงทุน 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% นับว่าเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด นอกจากนี้ การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นที่ใกล้จะลงทุนจริงมากที่สุด ก็มีแนวโน้มที่ดี ในปี 2565 มีโครงการที่ออกบัตรส่งเสริม ทั้งสิ้น 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าเงินลงทุน 489,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เป็นสัญญาณที่ดีว่า ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนจริงที่มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้การขอส่งเสริมการลงทุนในปีที่ผ่านมามีการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV, PHEV และ Hybrid โดยเฉพาะมูลค่ารวมกว่า 53,000 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนรายสำคัญ เช่น บริษัท BYD และ บริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด (HORIZON PLUS) ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ผู้นำด้านระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร หนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหม่ของ ปตท. กับ Hon Hai Precision Industry Co., Ltd. (FOXCONN) ที่เริ่มมีการลงทุนแล้วในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
นฤตม์กล่าวด้วยว่าการลงทุนรถ EV ในไทยมีส่วนช่วยส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ มีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โดยมีการขอการรับส่งเสริมจำนวน 637 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 358,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% โดยมูลค่าเงินลงทุนกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า เป็นต้น
นอกจากนี้การลงทุนในส่วนของรถ EV ในปี 2566 จะช่วยสนับสนุนให้เป้าหมายการขอส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยได้ตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 5 – 6 แสนล้านบาทได้ เนื่องจากไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง ไม่อยู่ในความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยี BCG พลังงานสะอาด การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น
ชี้ค่ายรถสนลงทุน EV ในไทย
ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าเป็นตลาด EV ที่มีความโดดเด่นที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค โดยในปีนี้มีค่ายรถผู้ผลิตรถ EV ระดับโลกที่เป็นผู้นำในอุตสาหกกรมนี้เข้ามาเปิดตัวทำตลาดในประเทศไทย ได้แก่ เทสล่า MG GWM และ BYD และล่าสุดโตโยต้าได้มีการเปิดตัวทั้งรถทั้งที่เป็นรูปแบบ Battery Electric Vehicle (BEV) และรถไฟฟ้าที่เป็นโมเดลใหม่ เช่น รถกระบะไฟฟ้าที่อนาคตน่าเข้ามาทำตลาดในไทยทำให้ตลาดรถ BEV ในไทยมีความคึกคัก มีความโดดเด่นมากในภูมิภาค
โดยในการเลือกแหล่งการผลิต EV ของค่ายรถนั้นประเทศไทยถือว่าอยู่ในจอเรดาของค่ายรถที่จะใช้เป็นฐานการผลิต โดยในระยะต่อไปบริษัทที่นำรถ EV เข้ามาขายก่อน จากนั้นจึงเป็นสเต็ปของการรับจ้างผลิต การร่วมทุน และการตั้งโรงงานเพื่อผลิตรถ EV ในประเทศไทย เชื่อว่าในอีก 1 – 2 ปี จะเห็นพัฒนาการของ EV ในบ้านเราอีกมาก โดยหลายค่ายที่เห็นกระแสตอบรับของตลาดรถ EV ในไทย แล้วยังไม่มีฐานการผลิตในไทย ค่ายรถต่างๆก็จับตามอง และกำลังตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
“เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคแล้วตลาดรถ EV ของประเทศไทยนั้นมีความโดดเด่นอย่างมาก และไม่ใช่ตลาดที่ผู้ผลิตรถ EV จากทั่วโลกจะสามารถมองข้ามได้”
ส่วนความพร้อมของสถานีบริการเติมไฟฟ้า หรือ “charging station” เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของรถ EV ในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาเป็นเรื่องของไก่กับไข่ระหว่างผู้ลงทุนติดตั้งปั๊ม EV กับผู้ซื้อรถที่รอดูว่าสถานีชาร์จจะเพียงพอหรือไม่ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการปรับตัวเข้าหากันของกลไกตลาด คือช่วงปีที่ผ่านมาพอเห็นดีมานต์รถยนต์ EV ที่มีคนซื้อมากขึ้นมีการติดตั้งสถานีชาร์จมากขึ้นและติดตั้งรวดเร็วมากขึ้น
เร่งส่งเสริมจุดชาร์จรถ EV
ขณะเดียวกันจุดที่ติดตั้งมากขึ้นก็คือในพื้นที่ที่มีคนเดินทางไปมากคือห้างสรรพสินค้า ค่ายรถเริ่มทำสถานีชาร์จ และมีโมเดลใหม่ในการลงทุน Super fast charge ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนในส่วนนี้ของภาคเอกชนอีกมาก ซึ่งมาตรการที่มีอยู่ในการส่งเสริมการลงทุนของสถานีชาร์จ EV ในขณะนี้ยังเพียงพอที่จะดึงดูดการลงทุนโดยปัจจุบันบีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนในส่วนของสถานีชาร์จไปทั้งสิ้น 5 โครงการจาก 5 บริษัท มียอดสะสมทั้งหมดกว่า 9,000 หัวจ่ายซึ่งคาดว่าจากดีมานต์ที่เพิ่มขึ้นของรถ EV จะทำให้เป้าหมาย 2030
ทั้งเรื่องการผลิตรถ EV ในประเทศ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด หรือคิดเป็น 725,000คัน และเป้าหมายของการจำหน่ายรถ EV ในประเทศ 50% ของการขายนรถยนต์ในประเทศ หรือประมาณ 440,000 คันในปี2030 สามารถทำได้ตามเป้าหมาย
มาตรการภาษีช่วยหนุนการขยายตัวตลาด EV
สำหรับมาตรการทางด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการเป็นฐานการผลิตรถ EV ในประเทศไทย และส่งเสริมดีมานต์รถ EV ในประเทศ โดยมีสาระสำคัญตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดภาษีอัตราอากร และยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่สำเร็จรูป (CBU)เพื่อสนับสนุนตลาด EV ในประเทศให้เกิดขึ้นได้เร็ว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1.รถไฟฟ้าราคารถไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราอากรไม่เกิน 40% ให้ยกเว้นอากร ส่วนที่เกิน 40% ให้ลดลงอีก 40% ส่วนที่อัตราอากร 80% (นำเข้าทั่วไป) ให้ลดลงเหลือ 40%
2.รถไฟฟ้าราคาขายปลีกตั้งแต่ 2 – 7 ล้านบาท หากมีอัตราอากรอยู่ที่ 20% ให้ยกเว้นอากร ส่วนที่เกิน 20% ให้ลดลง 20% และส่วนที่มีอากร 80% (นำเข้าทั่วไป) ให้ลดลงเหลือ 60%
ทั้งนี้ร่างประกาศดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ 6 หมื่นล้านบาท (คำนวณจากราคาและจำนวนรถยนต์ที่คาดว่าจะมีการนำเข้าประมาณ 150,000 คัน ในส่วนของรถราคาคันละ 1 – 2 ล้านบาท) โดยจะช่วยส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0% ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566 โดยต้องมีการผลิตในประเทศไทยในอัตรา 1 ต่อ 1.5 คันภายใน 3 ปี และ ยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญจำนวน 9 รายการ
ลดภาษีประจำปี EV สูงสุด 80%
สำหรับมาตรการสนับสนุนรถ EV ของรัฐบาลมาตรการอื่นๆ เช่น การลดอัตราภาษีรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ประจำปีลง 80% เป็นเวลา 1 ปี โดยมีการอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีประจำปีลง 80% สำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ที่จดทะเบียนระหว่าง 1 ต.ค. 2565 – 30 ก.ย. 2568 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียน โดยเป็นการปรับลดภาษีตามอัตราที่กำหนดตามอัตราภาษีประจำปีท้าย พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ. รถยนต์ (ฉ. 14) พ.ศ. 2550) ตัวอย่างเช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ขนาดใหญ่สุด (น้ำหนัก 7,001 กก. ขึ้นไป) เดิมอยู่ที่ 3,600 บาท ปรับลงมาเหลือ 720 บาท
การยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ โดยมีการยังมีการยกเว้นอากร ศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV ทั้งแบบรถยนต์นั่ง, รถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 10 คน และรถยนต์กระบะ ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรีตามที่กำหนด โดยมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 68 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด เช่น ให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศ สำหรับการนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในเขตปลอดภาษี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มได้ไม่เกิน 15% ของราคายานยนต์ไฟฟ้าหน้าโรงงาน
โดยการยกเว้นภาษีดังกล่าวจะทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 36,128 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการภายในประเทศ ทั้งนี้การสูญเสียดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาใหญ่เนื่องจาก สัดส่วนรายได้จากภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นเพียง 0.05% เท่านั้น