รัฐเร่งคลอด ‘งบฯปี 67’ 3.35 ล้าน รับเศรษฐกิจฟื้น – ตั้งเป้าเพิ่มจีดีพี
แม้จะอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ก่อนจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งภายในไม่เกิน 180 วันข้างหน้า โดยมีการคาดการณ์ว่านายกรัฐมนตรีอาจมีการยุบสภาในช่วงเดือน มี.ค.ภายหลังจากที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ รวมทั้งการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กำหนดจะมีขึ้นเร็วๆนี้ ควบคู่กับการย้ายเข้าสังกัดพรรคการเมืองต่างๆของนักการเมืองเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2566
แม้การเลือกตั้งจะใกล้เข้ามาทุกขณะแต่การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐถือว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้นรัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมีภารกิจที่จะต้องจัดทำงบประมาณปี 2567 ให้แล้วเสร็จในเรื่องของกรอบวงเงินงบประมาณและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อให้การทำงบประมาณในปีที่มีการเลือกตั้งมีความชัดเจน และมีการสะดุดหรือล่าช้าน้อยที่สุดในปีที่มีการเลือกตั้งดังเช่นในปีนี้
การจัดทำงบประมาณปี 2567 ของรัฐบาลได้มีการเดินหน้าตามกรอบระยะเวลาตามปฏิทินงบประมาณ โดยเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกประชุม ร่วมกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อกำหนดกรอบวงเงินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567
เคาะกรอบงบฯปี 67 3.35 ล้านล้าน
เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่ากรอบการจัดทำงบประมาณปี 2567 มีกรอบวงเงินงบประมาณรายจย่ายรวม 3.35 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นมาจากงบประมาณปี 2566 ที่มีวงเงิน3.185ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ1.65 แสนล้านบาท โดยเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุลในวงเงิน 5.93 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 3% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางกรอบการคลังระยะปานกลางที่ต้องการทำให้งบประมาณไปสู่การสมดุล ส่วนงบลงทุนยังคงสัดส่วนไว้ที่ 20% ของงบประมาณทั้งหมด ตามกฎหมายการจัดทำงบประมาณหรือเป็นวงเงินงบลงทุนรวมประมาณ 7 แสนล้านบาท โดยกรอบวงเงินดังกล่าวจะเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 ม.ค.2566
วางเป้าจัดเก็บงบฯเพิ่ม 10.7%
สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณปี 2567 ประกอบไปด้วยการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล2.757 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลรวม 3.357 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% และมีหนี้สาธารณะคงค้าง 1.18 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.35% ต่อจีดีพี
ในส่วนของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2567 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1 – 2% ชะลอลงจากปี 2566 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในส่วนของสถานะและประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.3 – 4.3% (ค่ากลาง 3.8%) โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของการลงทุนภายในประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
จีดีพีปี 67 โต 3.8% หนุนลดขาดดุลงบฯ
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการจัดทำกรอบงบประมาณปี 2567 ที่กรอบวงเงิน3.35 ล้านล้านบาท และลดการขาดดุลลงเหลือ 5.93 แสนล้านบาทถือว่าเหมาะสมในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนจากโควิด-19 โดยการตั้งสมมุติฐานการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 67 ไว้ที่ 3.3 – 4.3% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.8% นั้นถือว่าไม่สูงจนเกินไปเนื่องจากปริมาณการค้าโลกใน 67 จะฟื้นตัวจากปี 66 โดยจะขยายตัวได้ถึง 3.7% เพิ่มจากปี 2566 ที่การค้าโลกจะหดตัวลงเหลือ 2.5% จาก 4.5% ในปี 2565 ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าในปี2567 จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ทำให้จีดีพีขยายตัวได้เพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐและลดการขาดดุลงบประมาณลงในการจัดทำงบฯปี 67 ถือว่าส่งผลดีต่อสถานะการเงินการคลังของประเทศในระยะยาวเนื่องจากการจัดทำงบขาดดุลต่อเนื่องนั้นไม่เป็นผลดี รัฐบาลจึงมีการวางแผนลดการขาดดุลลง ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐด้วย
เมื่อถามว่าการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่มีการเพิ่มวงเงินการจัดทำงบประมาณ และลดการขาดดุลงบประมาณลงนั้นจะช่วยทำให้การจัดทำงบประมาณเกิดวินัยการเงินการคลังมากของประเทศมากขึ้น เพราะไทยจัดทำแผนงบประมาณแบบขาดดุลเป็นจำนวนมากมาเป็นระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เพราะมีปัญหาเรื่องของโควิด-19 ซึ่งเมื่อสถานการณ์โลกดีขึ้นแล้วการขาดดุลงบประมาณก็ต้องลดลง
“การที่เราตั้งขาดดุลงบประมาณในปริมาณสูงๆ ไปเรื่อยๆไม่ได้ เพราะจะพันไปกับหนี้สาธารณะตามไปด้วย ซึ่งจะต้องพยายามบีบหนี้สาธารณะลง และไปเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย ส่วนการดำเดินเป้าหมายแบบสมดุลนั้น จะดำเนินการได้ในเวลาที่เหมาะสม เพราะอยู่ในแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2567 – 2570 อยู่แล้ว”
คุมเงินเฟ้อแผนการคลังระยะกลางที่ 1 -3%
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจอื่นๆในปี 2567 ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรอบการคลังระยะปานกลาง ที่มีการกำหนดกรอบเงินเฟ้อในช่วง 1-3% ซึ่งยังมีความเหมาะสม เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีกว้าง 2% ทำให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลางรวมถึงจะช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและรักษาเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่กันไปด้วย
สาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) สรุปได้ดังนี้
สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2567 คาดว่า GDP ขยายตัว 3.3 – 4.3% อัตราเงินเฟ้อ 1.0- 2.0% โดยในปี 2568 -2570 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2568 และปี 2569 GDP คาดขยายตัว 2.9 – 3.9%
อัตราเงินเฟ้อ ปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2-2.2% และในปี 2569 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3-2.3% และในปี 2570 คาดว่า GDP ขยายตัว 2.8-3.8% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.4-2.4 %
แรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวดีขึ้นของการลงทุนในประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว
สำหรับสถานะและประมาณการการคลังของประเทศ คือ ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ ปี 2566-2570 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2566 คาดรายได้รัฐบาลจำนวน 2.490 ล้านล้านบาท ปี 2567 ประมาณการรายได้จำนวน 2.757 ล้านล้านบาท ปี 2568 ประมาณการรายได้จำนวน 2.867 ล้านล้านบาท ปี 2569 ประมาณการรายได้จำนวน2.953 ล้านล้านบาท และปี 2570 ประมาณการรายได้จำนวน 3.041 ล้านล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ในระยะปานกลาง จะฟื้นตัวตามการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รายได้จากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยวหลังการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทาง
การประมาณการงบประมาณรายจ่ายปี งบประมาณ 2567-2570 ปรับเพิ่มขึ้น โดยมีสมมติฐานที่สำคัญ เช่นการกำหนดการจ่ายคืนต้นเงินกู้ให้มีสัดส่วน 2.5 -4.0% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง และเหมาะสมกับกำลังเงินของประเทศ กำหนดสัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอยู่ที่ 2.0-3.5% ของวงเงินงบประมาณ ควบคุมการใช้จ่ายบุคลากรให้มีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกิน4.0% โดยใช้มาตรการในการกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณนำเงินรายได้มาสมบทค่าใช้จ่ายเป็นต้น โดยในปี 2566 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.185 ล้านล้าบาท ปี 2567 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.35 ล้านล้าบาท ส่วนปี 2568 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.457 ล้านล้าบาท ปี 2569 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.568 ล้านล้าบาท และ ปี 2570 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.682 ล้านล้านบาท
ด้านดุลการคลัง ในปีงบประมาณ 2567-2570 ยังคงเป็นงบประมาณขาดดุล โดยประมาณการหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567-2570 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบพ.ร.บ. ระเบียบวินัยการเงินการคลัง โดยปี 2566 60.64% ปี 2567 61.35% ปี 2568 61.78% ปี 2569 61.69% และ ปี 2570 61.25%
เน้นการทำนโยบายการคลังสมเหตุผล
ทั้งนี้การกำหนดแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ได้ยึดหลัก “Sound Strong Sustained” เน้นการดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง เสริมสร้าง ความเข้มแข็งทางการคลังในทุกด้าน ทั้งการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบฯ รายจ่าย และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลัง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รองรับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต และหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะเป็นแนวทางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทพงบฯ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐตามพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 ต่อไป