“ประยุทธ์” อดแจกไม่ไหว เติมเงินบัตรคนจน 13.2 ล้านคน
คณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสุดท้ายส่งท้ายปีเสือ 2565 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อดแจกไม่ไหว ควักงบกลางปี 66 วงเงิน 2,643 ล้านบาท ออกมาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษ-เติมเงินบัตรคนจน 13.2 ล้านคน คนละ 200 ในเดือนม.ค. 2566
โดยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ที่เดิมได้รับวงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน จะได้รับเพิ่มอีก 200 บาท รวมเป็น 400 บาทต่อคนต่อเดือน
ขณะเดียวกัน ผู้มีบัตรคนจนที่เดิมได้รับวงเงิน 300 บาทต่อคนต่อเดือน จะได้รับเพิ่มอีก 200 บาท รวมเป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน
ขณะที่ของขวัญปีใหม่ 2566 ก่อนหน้าที่ ครม.อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปี คือ โครงการช้อปดีมีคืน (ภาษี) สูงสุดถึง 4 หมื่นบาท
สำหรับผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ-คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลสามารถนำมาหักลดหย่อน ค่าซื้อสินค้า-ค่าบริการ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 2566
สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ เช่น ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)
อย่างไรก็ตามไม่รวมถึงสินค้า-บริการ 10 รายได้ ได้แก่ 1.สุรา เบียร์ ไวน์ 2.ยาสูบ 3.รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 4.หนังสือพิมพ์และนิตยสาร 5.ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
6.ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ 7.ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม 8.ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
9.ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 2566 หรือจะจ่ายค่าบริการในช่วงระหว่างวันที่ดังกล่าว และ 10.ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
แม้ว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 8,232 ล้านบาท แต่จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 56,000 ล้านบาท คิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 0.16%
นอกจากมาตรการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและลดหย่อนภาษีเงินได้แล้ว ยังมีมาตรการลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างปี 2566 ในอัตรา 15% ซึ่งจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. สูญเสียรายได้ 6,288 ล้านบาท
ขณะที่มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์จากการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566 ประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์หรือที่ดินพร้อมอาคาร ไม่เกิน 3 ล้านบาท จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566
โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อสัญญา จากเดิม 2% เหลือ 1%
ลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน จากเดิม 1% เหลือ 0.01%
ส่งผลให้ อปท. สูญเสียการจัดเก็บรายได้ราว 1,989 ล้านบาท แต่ส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.60%
ขณะที่โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว 4,000 ล้านบาท ภายหลังครม.ปรับลดวงเงินจาก 87,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หารือรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ
แม้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 จะถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
ทว่านายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จะนำเข้าครม.อีกครั้งในวันที่ 3 ม.ค. 2566 หากได้รับการอนุมัติจะมีผลใช้ย้อนหลังทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2566
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ-การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลง ครม.ยังเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจสายการบิน
โดยออกมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น 0.20 บาทต่อลิตรอีก 6 เดือน หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ซึ่งคาดว่าจะสูญเสียรายได้ราว 1,800 ล้านบาท
มิหน้ำซ้ำยังรยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ผู้ประกอบการสุรา ยาสูบ และไพ่ ที่ยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการใช้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประมาณ 1.45 ล้านฉบับ ผู้ได้รับสิทธิประมาณ 8 แสนราย โดยรัฐจะสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมราว 381.72 ล้านบาท
ทั้งหมดทั้ง 5 มาตรการยกเว้น-ลดหย่อนภาษีและการลดค่าธรรมเนียมจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ทั้งสิ้นราว 18,690 ล้านบาท
ยังมีมาตรการของสถาบันการเงินเฉพาะกว่า 15 โครงการ เช่น ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คืนเงินลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี รางวัลพิเศษสำหรับลูกค้าสลากออมสิน
ด้านมาตรการลดรายจ่ายให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขยายเวลาคงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ถัง 15 กิโลกรัม ราคา 408 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2566
นอกจากนี้ยังมีส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้มีรายได้น้อยคนละ 100 บาทต่อ 3 เดือน โดยมีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ประโยชน์ 6.5 ล้านราย
รวมถึงร้านค้าหาบเร่คนละ 100 บาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2566 แหล่งเงินจากงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2566 วงเงิน 357.5 ล้านบาท
ขอความร่วมมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตรึงราคาน้ำมันทุกชนิดในช่วงเทศกาลปีใหม่รวม 11 วัน หรือ ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2565 – 3 ม.ค. 2566 และแจกคูปองลดครึ่งราคาที่พักเขื่อนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 30,000 สิทธิ์
รอนุมัติงบกลางปี 66 จำนวน 6,693 ล้านบาท สำหรับค่าไฟฟ้าเดือนก.ย. จนถึงเดือนธ.ค. 2565 เพื่อให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย/เดือนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ส่วนลด 92.04 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย หรือ กลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน
กลุ่มที่ 2 ส่วนลดค่าเอฟที แบบขั้นบันได 15-75% หรือ 10.30-51.50 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน
กระทรวงคมนาคมยกเว้นค่าธรรมเนียมทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ตั้งแต่ 00.01 น. ของวันพฤหัสบดี 29 ธ.ค. 2565 ถึง 24.00 น.ของวันพุธ 4 ม.ค. 2566
เปิดให้บริการฟรีทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ช่วงอำเภอปากช่อง-อำเภอสีคิ้ว-อำเภอขามทะเลสอ
ยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ระหว่างเวลา 12.00 น. ของวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2566
บริการเรือไฟฟ้า หรือ EV Boat ฟรี ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2565 จนถึงวันที่ 1 ม.ค. 2566 ลดค่าโดยสารบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) 10% ทุกเส้นทาง สำหรับผู้โดยสารที่จองตั๋วรถ บขส. ล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์
สิ่งที่หายไป-ไม่อยู่ในกล่องของขวัญปีใหม่ 2566 คือ คนละครึ่ง เฟส 6 เศรษฐกิจจึงเดินได้ไม่ปัง