เส้นทางพีระพันธุ์-ประยุทธ์ สุดทางที่รวมไทยสร้างชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เป็นตัวของตัวเอง
กว่าพรรครวมไทยสร้างชาติของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จะก่อร่างขึ้นรูปได้จนถึงวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจล่มหัวจมท้าย-ตกปากรับคำเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องใช้ลูกล่อ-ลูกชน ทุกกระบวนท่า
นับตั้งแต่วันตั้งไข่พรรครวมไทยสร้างชาติในทำเนียบรัฐบาล จนถึงวันที่ตั้งโต๊ะแถลงข่าวภายหลังที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคที่ซอยอารีย์ 5 ผ่านระบบซูม รับทราบรายงานการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
นายพีระพันธุ์ กระโดดลงจากเรือลำเก่า อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ยอมทิ้งเก้าอี้นิติบัญญัติ-ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหลังจากความพ่ายแพ้ศึกชิงหัวหน้าพรรคเก่าแก่ คนที่ 8 มานั่งชิมลาง เก้าอี้บริหารในตำแหน่งที่ปรึกนายกรัฐมนตรี
ระหว่างทางของการเป็นกุนซือพล.อ.ประยุทธ์ นายพีระพันธุ์ ยอมเป็นหนังหน้าไฟ-เผือกร้อนประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
การแบกรับภารกิจหิน อย่างการเป็น 1 ในกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชุดกุ้ซากสายการบินแห่งชาติ ทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยให้พ้นจากสถานะล้มละลาย และการเป็นหัวหน้าทีมฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 3 หมื่นล้านบาท
พีระพันธุ์ทำสิ่งที่ประมุขตึกไทยคู่ฟ้า ไม่อาจปฏิเสธคำเชื้อเชิญ-หว่านล้อมให้ตอบรับตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคที่มีอายุไม่ถึงขวบปี – ไม่มี ส.ส.แม้แต่คนเดียวในสภาได้
ยอมแม้กระทั่งยกเก้าอี้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่เป็นเสมือนเป็น “นายกฯน้อย” ให้กับนายพีระพันธุ์ และโยกนายดิสทัต โหตระกิตย์ คนที่ได้รับเครดิตว่า “ช่วยผมพ้นคุก” ข้ามฟากไปฝั่งตรงข้ามศูนย์กลางอำนาจ ทำเนียบรัฐบาล
กว่านายดิสทัตจะรู้ตัวว่ามีภัยคุกคามระดับที่เขาไม่สามารถเฉพาะเจาะจงได้ว่า เป็นนักการเมือง-ข้าราชการประจำ หรือ นักธุรกิจ ก็ไม่ทันการณ์ ต้องไปนั่งตบยุ-เข้ากรุตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
นายพีระพันธุ์ใช้เวลาเพียง 3 วัน นับตั้งแต่วินาทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ
ประกอบกับก๊กใหญ่สุดในพรรคพลังประชารัฐ อย่างแกนนำบ้านป่ารอยต่อ-นักการเมืองรุ่นเก๋าแห่งปากน้ำโพ ไม่หนุนหลังพล.อ.ประยุทธ์ให้ไปต่อ อีกต่อไป เพราะมีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น
พล.อ.ประยุทธ์จึงจำเป็น-จำใจต้องตัดสินใจ คล้อยหลังวันเดียวกับวันที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 14 มกราคม 2566 เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
โดยที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังเป็นหัวหน้าพรรคคนเดิม-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียวของพรรคพลังประชารัฐ
สำทับกับความเห็นส่วนตัวที่มีระดับความไว้ใจเข้านอก-ออกในบ้านป่ารอยต่อได้ 24 ชั่วโมง ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุนพล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ แบบไร้รอยต่อ
จึงไม่ต้องแปลกใจที่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหนีตาย-ไม่มีทางเลือก ต้องตัดสินใจเปลี่ยนจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ไปสวมเสื้อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปสมัยที่สาม
เมื่อทุกอย่างถูกเซตเกม-บังคับทางเดินให้เป็นไปตามเกมที่ถูกปูทางไว้ตั้งแต่บนตึกบัญชาการ 1 ถึง อุโมงค์ก่อนถึงกองบัญชาการ ถนนรัชดา มาบรรจบที่ตีนบันไดตึกไทยคู่ฟ้า ทุกอย่างก็ลงล็อก
คู่ขนานไปกับการตกปลาในบ่อเพื่อน เพื่อเป็นการการันตีว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ ส.ส.ถึง 25 ที่นั่ง ใส่ไว้ในการ์ดเชิญพล.อ.ประยุทธ์ให้ตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อรวย (ส.ส.) ทางลัด เป็นพรรคใหญ่
กลุ่มนักการเมือง-ส.ส. ในบ่อพรรคเก่า-ประชาธิปัตย์ เช่น นายสามารถ มะลูลีม อดีต ส.ส.กทม. นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรัง นายสุชีน เอ่งฉ้วน อดีต ส.ส.กระบี่
กลุ่มนักการเมือง-ส.ส.ในบ่อพรรคเพื่อน
โดยเฉพาะกลุ่มที่จะตามพล.อ.ประยุทธ์มาในอนาคต คือ กลุ่มของนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ อาทิ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. นายรณเทพ อนุวัฒน์ ส.ส. ชลบุรี พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี
นายสมพงษ์ โสภณ ส.ส. ระยอง นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส. ฉะเชิงเทรา น.ส.ไพรินทร์ เทียนสุวรรณ ส.ส. สมุทรปราการ 7นายสมบัติ อำนาคะ ส.ส. สระบุรี นายสาธิต อุ๋ยตระกูล ส.ส. เพชรบุรี นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส. กทม
รวมถึง กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ ของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีนายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นำทีม อาทิ นายสายัณห์ ยุติธรรม นครศรีธรรมราช นายศาตรา ศรีปาน นายพยม พรหมเพชร และ ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา
รวมถึงอดีตหัวหน้าพรรคเล็ก-พรรคเพิ่งเกิด อย่างนายชัชวาล คงอุดม หรือ ชัชเตาปูน หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท ที่จะเข้ามาสมทบกับบุตรชาย นายชื่นชอบ คงอุดม อดีต ส.ส.กทม และนายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้ หัวหน้าพรรคเทิดไท
นอกจากนั้นนายพีระพันธุ์ยังแย้มมาว่าจะมีนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมาอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ภายหลังจากไปเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคอีสาน ที่เป็นอดีตคนเสื้อแดงหลายคน
เป็นการบุกหนักตั้งแต่ไล่ตี-ไล่ทุบฐานภาคใต้ ฐานที่มั่นของต้นสังกัดเก่าอย่างพรรคประชาธิปัตย์ เลยไปถึงภาคอีสาน และภาคเหนือ ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย
ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ดูเหมือนว่า จะเป็นความท้าทายของพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะกระแสของพล.อ.ประยุทธ์อัปปาง สะท้อนจากผลการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.เมื่อครั้งที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่สวมหมวกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายพีระพันธุ์ ในฐานะเลขานายกรัฐมนตรี ที่สวมหัวโขนหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ถือไพ่เหนือกว่าทั้งวงในระนาบของพรรคเกิดใหม่
ทั้งเวลาราชการ-ทรัพยากรรัฐ ที่เหมือนเส้นแบ่งบาง ๆ ที่กลายเป็นตำบลกระสุนตกให้พรรคฝ่ายค้าน-พรรคฝ่ายรัฐบาลโจมตีหนัก ถึงความได้เปรียบ-เสียเปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า