23 ปี รถไฟฟ้า BTS เปิดแผลสดที่ทำให้เรื่องวุ่นไม่รู้จบ
ยังเป็นประเด็นอยู่ระยะๆ สำหรับการแก้ปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายแรกของคนไทยที่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2542 นับนิ้วจนถึงวันนี้ก็ 23 ปี พอดี ที่รถไฟฟ้าเส้นนี้รับใช้ประชาชนชาวบางกอกมา
แต่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คนใช้รถไฟฟ้าคงได้เห็นสปอร์ตโฆษณาที่กลุ่ม บมจ.บีทีเอส โฮลดิ้ง กรุ๊ป (BTS) เผยแพร่บนสื่อของรถไฟฟ้าและบิลบอร์ดโฆษณาในหลายๆที่ ซึ่งว่าด้วยเรื่องการทวงหนี้ 40,000 ล้านบาท อันเป็นมหากาพย์ที่ลากยาวมานานนับปี
ก่อนจะไปถึงเรื่องหนี้ มารู้จักรถไฟฟ้าที่ท่านๆนั่งกันก่อน
ปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดให้บริการทั้งหมด 60 สถานี ระยะทางรวม 68.25 กิโลเมตร ค่าโดยสารปัจจุบันเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 59 บาท แนวเส้นทางแบ่งได้ 3 ช่วง ประกอบด้วย
1.ช่วงหมอชิต – อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน ระยะทางรวม 23.5 กม. จำนวนสถานีรวม 25 สถานี
2. ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน – บางหว้า ระยะทางรวม 12.75 กม. จำนวนสถานีรวม 11 สถานี
3. ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ ระยะทางรวม 31.2 กม. จำนวนสถานีรวม 25 สถานี
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน ที่มา: กรุงเทพธนาคม
ทั้ง 3 ส่วน เกี่ยวพันกันกับสัญญาจำนวน 4 ฉบับ
สัญญาที่ 1 เป็นส่วนสัมปทานหลักช่วงหมอชิต – อ่อนนุช และช่วงสนามกีแห่งชาติ – สะพานตากสิน หรือที่หลายๆเรียกว่าเป็นพื้นที่ไข่แดงของโครงการ อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่าง กทม. และบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ลงนามกันเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2535 สัญญามีอายุ 30 ปี เริ่มนับเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยสัญญาฉบับนี้จะไปสิ้นสุดในปี 2572 อย่างไรก็ตาม หากสัญญาฉบับนี้สิ้นสุดลง ส่วนสัมปทานสายหลักในส่วนของการเดินรถ จะอยู่ภายใต้
สัญญาที่ 2 สัญญาว่าจ้างที่ บจ.กรุเทพธนาคม (KT) ให้ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่งลงนามกันเมื่อปี 2555 และจะหมดอายุสัญญาในปี 2585 ซึ่งสัญญาฉบับนี้ทำขึ้นในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่ากทม. และพรรคเพื่อไทยได้ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ชี้มูลความผิด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากการว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว
สัญญาที่ 3 สัญญาที่ กทม. ทำร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ให้โอนทรัพย์สิน และหนี้สินของ รฟม. ในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ ไปให้ กทม. มูลค่ารวม 60,815.54 ล้านบาท พร้อมกับให้ กทม. บริหารจัดการรายได้และตั้งงบประมาณให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ดังกล่าว รวมทั้งกำหนดค่าโดยสารให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพ และบริหารจัดการสัญญาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้มีระยะสิ้นสุดพร้อมกันทุกช่วง เพื่อให้ กทม. สามารถเปิดให้เอกชนเข้าร่วมแข่งขันประมูลการให้บริการเดินรถไฟฟ้าได้ทั้งสาย
สัญญาที่ 4 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อหาทางออกในประเด็นสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดอายุลงในปี 2572
ปมปัญหาที่เป็นฝีเรื้อรังลากสู่การทวงหนี้ของ BTS ปะทุจากส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ …
เพรราะต้องไม่ลืมว่า ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ เดิมทีรัฐบาลในปี 2551 และ 2556 กำหนดให้ รฟม.เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารจัดการการเดินรถ ซึ่ง รฟม.ก็ลงทุนก่อสร้างงานโครงสร้างโยธาจนเสร็จสิ้นเกือบทั้งหมดในเวลาต่อมา
แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ยุค คสช.ในปี 2559 เห็นชอบให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้เดินรถและบริหารจัดการส่วนต่อขยายดังกล่าว จนในที่สุด วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ครม.มีมติให้โอนทรัพย์สิน และหนี้สินของ รฟม.ที่เกิดจากการก่อสร้างให้ กทม. เป็นผู้รับภาระทั้งหมด อันนำมาสู่การจัดทำ MOU ระหว่างหน่วยงานทั้งสองขึ้นในช่วงปลายปีเดียวกัน ซึ่ง กทม. ก็ออก ข้อบัญญัติกทม. เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ 2561 กรอบวงเงิน 51,785,370,000 บาท เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 รอไว้แล้ว
@กรรมสิทธิ์ไม่สมบูรณ์ แต่ทำเรื่องจ้าง BTS ไปก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมี MOU และข้อบัญญัติกู้เงินดังกล่าวออกมา แต่ก็ยังไม่สามารถผ่าทางตันปัญหาได้ เพราะในส่วนต่อขยายที่ 2 กทม.เคลียร์ค่าใช้จ่ายด้านใต้ช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการไปได้แล้ว ยังเหลือส่วนเหนือช่วงหมอชิต – คูคต ที่ยังไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่างานโยธาได้ เพราะข้อบัญญัติดังกล่าวต้องผ่านสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) ก่อน แต่ท้ายสุด สภากทม. ไม่ยกมือผ่านให้ ข้อบัญญัติจึงยังคาราคาซังต่อไป
แถมเรื่องยังวุ่นอีกชั้นหนึ่ง เมื่อ กรุงเทพธนาคม ไปทำสัญญาจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) บริษัทลูกของ BTS เดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งๆที่การโอนรับทรัพย์สินและหนี้สินจาก รฟม. ยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้เรื่องนี้จึงเป็นแผลกลัดหนองที่รอวันปะทุอีก 1 จุดในอนาคต
สอดคล้องกับ ‘วิศณุ ทรัพย์สมพล’ รองผู้ว่ากทม.ที่ชี้แจงเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ว่า ส่วนต่อขยายที่ 2 เริ่มปี 2559 มีข้อสังเกตว่ากรุงเทพธนาคมไปทำสัญญาระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) กับเอกชน ตั้งแต่ มิ.ย. 2559 ก่อนที่จะมีการลงนามบันทึกมอบหมายเมื่อ ก.ค. 2559 โดยข้อสังเกตคือ การลงนามบันทึกมอบหมายไม่ได้ผ่านสภากทม. หลังจากนั้นกรุงเทพธนาคมไปทำสัญญาเดินระบบและซ่อมบำรุง (O&M) เมื่อ ส.ค. 2559 จากนั้นกทม.นำรายละเอียดงบประมาณเข้าสภากรุงเทพฯ แต่สภาพิจารณาแล้วไม่ผ่าน ดังนั้นเลยเกิดเป็นปัญหาที่ยืดยาวว่างบประมาณส่วนนี้ยังไม่ผ่าน
“ไม่มีเจตนารมณ์ที่จะไปชะลอแต่เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ คือยังขาดการพิจารณาจากสภากรุงเทพฯ โดยรายละเอียด คือ เมื่อปี 2561 นำเรื่องเข้าสภาไปแล้ว แต่พิจารณาแล้วไม่ผ่าน และอีกครั้งเมื่อปี 2564 สภาก็ยังคงไม่เห็นชอบ โดยในระหว่างดำเนินการช่วง เม.ย. 2562 ก็มีคำสั่งคสช. ตั้งคณะกรรมการเจราจาเรื่องหนี้ เจรจาเรื่องการแก้ไขปัญหา และเจรจาเรื่องขยายสัญญาสัมปทาน” รองผู้ว่าวิศณุระบุ
แม้ในส่วนต่อขยายที่ 2 BTS จะนำเรื่องร้องถึงศาลปกครอง จนสามารถชนะคดี และศาลตัดสินให้ กทม.และเคทีจ่ายเงินเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.17 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช – สำโรงและช่วงสะพานตากสิน – บางหว้า วงเงิน 2,348 ล้านบาท, ดอกเบี้ยจากส่วนต่อขยายที่ 1 วงเงิน 2,199 ล้านบาท, หนี้เดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต – คูคตและช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ วงเงิน 9,406 ล้านบาท และดอกเบี้ยจากส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 8,786 ล้านบาท
แต่เนื่องจากยังต้องสู้กันอีก 1 ศาลคือ ศาลปกครองสูงสุด ทำให้กทม.และเคทียื้อต่อในชั้นนี้ต่อไป
ส่วนท่าทีเจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ บิ๊กบอส BTS ผู้ฟูกฟักรถไฟฟ้าสายแรกของเมืองไทย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ เมื่อถามว่าได้คุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.ถึงประเด็นนี้หรือไม่ว่า ‘ไม่ได้คุยกันแล้ว และ 1 ม.ค. 2566 จะประกาศเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่ที่ 16-47 บาท’
ท่าจะต้องลุ้นกันอีกยาว สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับทางออกที่เหมือนมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ในช่วงนี้ทุกฝ่ายคง Wait and see กันไปก่อนเรื่อยๆ…