ทายาท ประยุทธ์ – ประวิตร ชิง นายกฯ ม้วนเดียวจบ
พล.อ.ประยุทธ์ เปรียบได้กับนักมวยที่ต้องขึ้นเวทีที่เป็นไฟต์บังคับ แม้ป้องกันแชมป์สำเร็จ แต่อยู่ได้เพียง 2 ปี
ทายาททางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะมารับไม้ต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก 2 ปีที่เหลือ ภายใต้เงื่อนไขต้องชนะเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นคำถามที่มาก่อนกำหนด
“2 ปี ก็จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และจากนั้นก็จะมีคนใหม่ที่เหมาะสม ประชาชนยอมรับ และทำต่อเท่านั้นเอง”พล.อ.ประยุทธ์เปิดความในใจครั้งแรกถึงนอนาคตทางการเมืองในปี 2566
2 บิ๊ก ที่ถูกคาดหมาย-คาดเดากันว่าจะเป็นทายาทของพล.อ.ประยุทธ์และขุมข่ายอำนาจ 3 ป. คือ บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
บิ๊กแป๊ะ-บิ๊กแดง พ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ครบ 2 ปี เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 ทำให้คุณสมบัติทางการเมืองครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมที่จะออกมาท่องยุทธจักรการเมืองได้เต็มเนื้อ เต็มตัว
บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้รับมอบหมายจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพลังประชารัญให้ช่วยทำพื้นที่ในภาคอีสานใต้ และยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในทีมประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ผู้ใหญ่ใจดี ใจถึง-พึ่งได้ให้กับพล.อ.ประวิตร
นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า บิ๊กแป๊ะ จะเป็น 1 ใน 3 คน ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ
ขณะที่บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวังและรองผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รับใช้ใต้ฝ่าละออลธุลีพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 10
สถานะทางการเมืองข้างต้น บิ๊กแป๊ะ อาจจะเข้าใกล้ตำแหน่งทายาทของพล.อ.ประยุทธ์มากกว่า บิ๊กแดง
ทว่าในประวัติศาสตร์การเมือง-กองทัพ ผู้นำทหารที่ความเสี่ยงเป็น-เสี่ยงตาย ลงมาลิ้มรสชาติอำนาจสูงสุด ตอนอวสานจบลงด้วยการช่วงชิงด้วยการก่อการกบฏ-ลอบสังหาร
หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 จอมพลผิน ชุณหะวัณ รัฐประหารรัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี-รัฐบาลชั่วคราว
นายควงถูกคณะของจอมพลผิน รัฐประหารเงียบ โดยการบีบให้ลาออก เพื่อให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
ตลอดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 14 ปี 11 เดือน 18 วัน ของ 1 ใน 7 แกนนำผู้ก่อตั้งคณะราษฎรที่ประเทศฝรั่งเศสถูกกบฏ 3 ครั้ง ถูกลอบสังหาร 3 ครั้ง
มิหน้ำซ้ำจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังได้รัฐประหารตัวเอง เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 โดยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 มาใช้บังคับและตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นล้มอำนาจโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2500 จนต้องลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศกัมพูชา และแต่งตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
หลังรัฐบาลพจน์ จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม แม้จะประกาศลาออก แต่ก็ถูกจอมพลสฤษดิ์ รัฐประหารวันเดียวกัน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501
ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2506 จอมพลถนอมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ 600 กว่าล้านบาท จากทรัพย์สินทั้งหมดที่มีกว่า 2,800 ล้านบาท
จอมพลถนอมลงจากอำนาจหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในเวลาต่อมา นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
นายพลการเมืองออกจากวงโคจรอำนาจไปได้เพียง 3 ปี รัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถูกรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่มีพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าก่อการ และแต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลนายธานินทร์ ถูกรัฐประหารซ้ำ และแต่งตั้งพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน
การเมืองหลังจากรัฐประหาร 6 ต.ค. 2519 เข้าสู่ยุคป๋า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปี 154 วัน ถูกกลุ่มนายทหารยังเติร์ก รัฐประหารถึงสองครั้งสองครา แต่ไม่สำเร็จ
พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ-ทายาทซอยราชครู ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพล.อ.เปรม และถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) รัฐประหารเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 เพราะไปตัดลดงบประมาณของกองทัพ
โดยเฉพาะค่าคอมมิสชั่นในการจัดซื้ออาวุธ
หลังกลุ่ม จปร.5 รัฐประหารรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย แม้แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คณะรสช.ยังคงมีบทบาทในทางการเมืองขณะนั้น
จนพล.อ.สุจินดา คราประยูร แกนนำคณะรสช.ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด-พฤษภาทมิฬ 35
ทายาททางการเมืองของผู้นำทหารในอดีต โดยเฉพาะที่มาจากการรัฐประหาร ไม่เคยมีการส่งไม้ต่อโดยไม่มีการชิงอำนาจกันเองในคณะผู้ก่อการรัฐประหารเสียเอง
ไม่ต่างกับปัจจุบัน พรรคพลังประชารัฐพยายามเสนอพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
โดยมีไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค แกนนำกลุ่มบ้านป่ารอยต่อ ที่เปิดหน้าเป็นตัวจักรเคลื่อนวาระแห่งชาติ-สานฝันพี่ชายที่แสนดีให้สมหวังได้เป็นนายกรัฐมนตรีถาวร ไม่ใช่การรักษาการนายกรัฐมนตรี 38 วัน เหมือนที่ผ่านมา
ไม่ใช่ทายาทที่จะมารับช่วงต่อจากพล.อ.ประยุทธ์ อีก 2 ปี แต่จะเป็นนายกรัฐมนตรี 4 ปีม้วนเดียวจบ
เป็นที่มาของการบีบพล.อ.ประยุทธ์ ทุกวิถีทางให้ไม่มีที่ยืนในพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเปิดทางให้กับพล.อ.ประวิตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว
กอปรกับความพยายามปล่อยข่าวทุกช่องทางให้เสมือนประหนึ่งว่าพล.อ.ประยุทธ์ไปแน่ – ย้ายพรรคไปพรรครวมไทยสร้างชาติ จนพรรครวมไทยสร้างชาติได้อานิสงส์จากกระแสพรรคประยุทธ์ เรียกเรตติ้งจนติดหูกองเชียร์ลุงตู่
ทายาททางการเมืองที่จะมารับไม้ต่อพล.อ.ประยุทธ์ อาจยังไม่ถึงเวลาของ บิ๊กแป๊ะ-บิ๊กแดง เพราะยังมีอนาคตทางการเมืองอีกยาวไกล
ยิ่งอำนาจ ส.ว.เฉพาะกาล 250 คน จะอยู่ในช่วงโค้งสุดท้าย สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ถึงปี 2567 เท่านั้น พล.อ.ประวิตร จึงไม่ยอมพลาดรถไฟขบวนอำนาจ (ส.ว.250 คน) เที่ยวสุดท้าย
เวลาของบิ๊กป้อม-พี่ใหญ่ แห่งบ้านป่ารอยต่อ เป็นไฟต์บังคับเช่นกัน