มองต่างมุม “ขึ้นค่าแรง 600” สร้างผลดีหรือผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย
ในทุกครั้งในช่วงเวลาที่ใกล้จะเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ มักหาจังหวะเปิดตัวนโยบาย ที่คาดหวังว่าจะโกยคะแนนเสียงจากฐานเสียงได้เพื่อให้ได้โอกาสเป็นพรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาล โดยหนึ่งในนโยบายที่มีการหาเสียงกันทุกครั้ง ทุกยุคสมัยที่จะมีการเลือกตั้งก็คือ “นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ” หรือค่าจ้างแรงงานรายวัน โดยมีเป้าหมายมุ่งลงไปที่กลุ่มแรงงานที่มีอยู่ในสังคมไทยกว่า 38 ล้านคน
เพื่อไทยจุดพลุค่าแรง 600 บาท/วัน
ล่าสุด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมฯ พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้กล่าวระหว่างการปราศรัยเปิดแคมเปญเลือกตั้งใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ในหัวข้อ “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทย ทุกคน Think Big, Act Smart, For All Thais”
โดยเนื้อหาระบุว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไรเมื่อถึงปี 2570 หากเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 โดยระบุว่า ในด้านเศรษฐกิจ นโยบายลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสให้ประชาชน โดยปี 2566 – 2570 ประเทศไทยจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตเฉลี่ยปีละ 5%
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย แต่การรดน้ำที่ราก จะทำให้ต้นไม้งอกงาม สวยงามทั้งต้น ทั้งที่น้ำมีจำกัด โดยรากแก้วที่สำคัญ คือ ครอบครัว จึงวางนโยบาย “1 ครอบครัว 1 Soft Power” บ่มเพาะทักษะต่างๆ ในศูนย์บ่มเพาะศักยภาพทั่วประเทศ 800 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้ 1 คน ต่อ 1 ครอบครัว เพื่อให้สามารถต่อยอดสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้รวมทั้งจะมีการสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง ประชาชนมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท/ปี รวมสร้างรายได้ถึง 4 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ ในปี 70 คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เริ่มต้นเงินเดือนที่ 25,000 บาท/เดือน โดยรวมรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยชำระหนี้ของคนไทย ทำให้ประเทศไทยในปี 70 ไร้คนจน และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่กำลังสร้างตัว สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะทลายธุรกิจที่ผูกขาดความคิดสร้างสรรค์ เช่น สุรา เบียร์ และไวน์ผลไม้ เป็นต้น
ส่วนนโยบายด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เช่น การใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตทาง ปรับปรุงสายพันธุ์ แปรรูปมูลค่าเพิ่ม และขนส่งที่รวดเร็ว เพิ่มราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดให้เพิ่มขึ้น ส่วนการท่องเที่ยวจะหาทางเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก โดยภาคการท่องเที่ยวต้องสร้างรายได้สูงถึง 3 ล้านล้านบาท/ปี โดยสร้างแลนด์มาร์กท่องเที่ยว การแพทย์ และสุขภาพ และในช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ หรือลอยกระทง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวโลก
ค่าแรงขึ้นได้ถ้าเศรษฐกิจประเทศดี
ทั้งนี้นางสาวแพทองธารได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาท และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน เป็นการทยอยปรับค่าแรงเป็นขั้นต่ำ และเงินเดือนแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยมีเป้าหมายว่าจะต้องทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นตามลำดับจนถึงปี 2570 ไม่ใช่การจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทันทีในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจขณะนี้ยังไม่ดี ผู้ประกอบการไม่สามารถรับได้แต่จะต้องค่อยๆทำให้เศรษฐกิจดีก่อนแล้วขึ้นค่าแรงเป็นขั้นบันได โดยค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาทต่อวันนั้นถือว่าเป็นค่าแรงที่แรงงานควรได้ตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้
ทันทีที่มีการประกาศแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทย หลายฝ่ายมีปฏิกิริยาต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทอย่างกว้างขวางว่าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนนโยบายนี้จะมองในอีกมุมมองว่าค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นจะเพิ่มกำลังซื้อให้กับแรงงานที่เป็นกลุ่มที่อยู่ฐานรากเศรษฐกิจของประเทศทำให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
สหภาพแรงงานฯหนุนขึ้นค่าแรง
ด้านปิยรัชต์ สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า พร้อมด้วยสมาชิกผู้ใช้แรงงาน เดินทางให้กำลังใจ พรรค พท. ซึ่งได้ประกาศวิสัยทัศน์ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570
นายปิยรัชต์ กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศหมุนเวียนได้ หลังจากที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคพท. ได้ประกาศวิสัยทัศน์ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาท และเงินเดือนผู้จบการปริญญาตรีจบใหม่ที่ 25,000 บาทภายในปี 2570
ทั้งนี้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่น้องแรงงานไทยในหลากหลายองค์กร พบว่าพี่น้องแรงงานไทยต้องการให้ปรับค่าแรงให้มีความสมดุลกับค่าครองชีพ เพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตได้โดยปกติ สามารถดูแลครอบครัวได้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ไม่ได้เกินกำลังของนายจ้างหรือผู้ประกอบการ
“เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ธุรกิจต้องมีกำไร จึงจะทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ภาครัฐซึ่งเป็นส่วนกลางในการนำเสนอนโยบายที่ดี ก็จะมีมาตรการรองรับด้วย จึงขอให้กำลังใจคณะทำงานด้านนโยบายของพรรคพท. ในการผลักดันนโยบายนี้เมื่อสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล”
กกร.ประชุมด่วนห่วงธุรกิจต้นทุนพุ่ง 70%
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้มีการนัดประชุมเพื่อหารือถึงประเด็น การประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง เรื่อง การทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และการจบปริญญาตรีมีเงินเดือน 25,000 บาท
สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพิจารณาปรับค่าแรง จึงต้องมองในทุกมิติ ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งมีผลต่อการจ้างงานด้วยเพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม กกร. มีความเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา มีความเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดมากนัก ประกอบกับการขั้นค่าแรงขั้นต่ำมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยคำนึงถึง การครองชีพของลูกจ้าง รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ราคาสินค้า เป็นต้น
ขณะเดียวกันหากทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน จากปัจจุบันที่ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 328 – 354 บาทต่อวัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการทยอยขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน
กกร.ยังระบุด้วนว่าในช่วงที่ประเทศไทยเคยมีการปรับค่าจ้างแรงงานทั่วประเทศในปี 2554 เป็นอัตรา 300 บาททั่วประเทศ ธุรกิจที่ปรับตัวได้น้อย และได้รับผลกระทบมากคือธุรกิจในกลุ่ม SMEs ปรับตัวค่อนข้างลำบาก ส่วนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางราย ก็ปรับเป็นการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทนเพราะต้นทุนด้านค่าแรงถูกกว่าในประเทศไทย โดยค่าจ้างแรงาย
อย่างไรก็ตาม กกร.ยังเห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามภาวะของสถานการณ์เศรษฐกิจ และขึ้นอย่างมีขั้นมีตอนยังคงมีความจำเป็น หากได้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านเชื่อว่าการปรับค่าแรงในระดับที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจ การปรับขึ้นค่าจ้างควรมีความสอดคล้องกับการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy) และการพัฒนาทักษะ (Up-skill and re-skill) ของลูกจ้างรวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องพิจารณาถึงความสมดุลของค่าจ้าง ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง และควรอยู่บนพื้นฐานของทักษะองค์ความรู้ และประสิทธิภาพของแรงงาน (Pay by Skill) รวมถึงการจูงใจให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน
นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงความสามารถ ในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งมีผลต่อการจ้างงานโดยรวม เพื่อให้การเติบโตของระบบเศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง ทั่วถึง และยั่งยืน เชื่อว่าการปรับค่าแรงในระดับที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจ
สภาฯนายจ้างค้านขึ้นค่าแรง 600
ขณะที่ ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ “สภานายจ้าง” กล่าวว่า นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำถูกพรรคการเมืองนำมาเป็นนโยบายประชานิยมหาเสียงก่อนเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ใช่มีแต่พรรคเพื่อไทย ช่วงเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐเคยชูนโยบายปรับค่าจ้าง 425 บาทแต่ไม่ได้นำมาใช้จริงเพราะมีการเปลี่ยนผู้บริหารพรรค ซึ่งจากนี้ไปคงเห็นหลายพรรคออกนโยบายหรือแนวคิดหาเสียงเชิงประชานิยมปรับค่าจ้างเพื่อ ชิงคะแนนเสียงจากผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบประมาณ 38 ล้านคน จำเป็นที่ภาคเอกชนจะต้องติดตามว่าจะมีการนำมาใช้จริงหรือไม่และต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์
ธนิตย์กล่าวว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาท และเงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขั้นต่ำอยู่ที่ 25,000 บาท/เดือน ภายในปี 2570 ถือว่ากระทบกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่มีการจ้างงานและใช้แรงงานจำนวนมาก เนื่องจาก ครม.เพิ่งจะมีมติรับข้อเสนอของคณะกรรมการไตรภาคีที่กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 มีการประกาศใช้ 1 ตุลาคม พ.ศ.2565 มี 9 อัตราแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันสูงสุดวันละ 354 บาท (มี 3 จังหวัด) ต่ำสุดวันละ 328 บาท (มี 5 จังหวัด) กทม.และปริมณฑลอัตราค่าจ้าง 353 บาท
ทั้งนี้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่พรรคเพื่อไทยชูเป็นประเด็นหาเสียงคือวันละ 600 บาทภายในปีพ.ศ. 2570 หากใช้อัตราค่าจ้างของกทม.และปริมณฑลเป็นฐานจะทำให้ค่าจ้างที่ต้องปรับขึ้นภายในห้าปีข้างหน้าวันละ 247-250 บาทหรือเฉลี่ยขึ้นปีละ 50 บาท ซึ่งค่าจ้างที่กล่าวก็ไม่ได้ระบุว่าเท่ากันทั้งประเทศหรือไม่ หากใช้เหมือนเมื่ออดีตคือเท่ากันทุกจังหวัดจังหวัดที่กระทบมากสุดคือกลุ่มจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์เศรษฐกิจ เช่น ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, น่านและอุดรธานีซึ่งได้รับค่าจ้างวันละ 328 บาทจะต้องปรับค่าจ้างในอัตราที่สูง
ทั้งนี้มองว่านโยบายการปรับอัตราขั้นต่ำขึ้นแบบทั้งประเทศ นั้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างด้าวที่ปัจจุบันมีจำนวน 2,408,716 คน ขณะที่แรงงานไทยที่รายได้ไม่เกินค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 1 ใน 3 ของลูกจ้างเอกชนทั้งหมดก็จะได้รับอานิสงส์เคยมีการสำรวจของสนง.สถิติแห่งชาติเมื่อหลายปีก่อนมีแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ 2.11 ล้านคนหรือมากกว่า ส่วนใหญ่อยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็ก (Micro Enterprise) ซึ่งลูกจ้างไม่เกิน 9 คน ผลกระทบของนายจ้างแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและการปรับใช้เทคโนโลยีที่ใช้ด้วย
มองผลกระทบ 6 ข้อ นโยบายขึ้นค่าแรง
- กระทบฐานค่าจ้างและขีดความสามารถในการจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างขั้นต่ำเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนทั้งภาคการผลิต, การบริการ, ก่อสร้าง, โลจิสติกส์, ท่องเที่ยว, ร้านอาหาร, ที่พักอาศัย, ลูกจ้างในครัวเรือน, แรงงานเกษตรและประมงรวมถึงแรงงานต่างด้าว การปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดจึงส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างที่เคยเกิดในอดีตปี พ.ศ 2555-2556
- ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนคือค่าจ้างแท้จริงของลูกจ้างสูงขึ้น ค่าจ้างแท้จริงคือรายได้ที่หักเงินเฟ้อเพื่อจะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับลูกจ้าง แต่ในอดีตพบว่าค่าจ้างที่ก้าวกระโดดจะตามมาด้วยเงินเฟ้อราคาค่าของที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นกันและมีข้อมูลว่าแรงงานส่วนหนึ่งที่อยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็กและภาคเกษตร-ประมงถึงแม้ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายก็ยังคงเป็นกลุ่มตกหล่นไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่ม
- กลุ่มนายจ้างที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น
- นายจ้างในภาคเกษตรและประมงซึ่งผลผลิตราคาต่ำทำให้ผลิตภาพแรงงานต่ำกว่าค่าจ้าง ร้อยละ 7-11
- กิจการโรงแรม, ร้านอาหาร ก่อสร้างที่ต้องใช้คนจำนวนมาก
- อุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต (OEM) เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่ม, รองเท้ากีฬา, เครื่องหนัง, อาหารแปรรูป
- อุตสาหกรรมที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน
- ภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบ ทั้งอุตสาหกรรมรับจ้างการผลิต อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรรวมถึง SME ขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบมากกว่าขนาดใหญ่ เคยมีการศึกษาผลกระทบค่าจ้างแบบก้าวกระโดดหลังจาก 1 ปีการจ้างงานของบริษัทขนาดเล็กเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดและ อาจมีผลทำให้มีผลกระทบสัดส่วน GDP ลดลง 2.5%
- การปรับค่าจ้างชี้นำ 600 บาทเป็นการทำลายโครงสร้างไตรภาคี ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาค่าจ้าง ขั้นต่ำในการพิจารณาของไตรภาคีถึงแม้บางครั้งภาคการเมืองจะเข้ามาก็ต้องชี้นำอยู่ในไตรภาคี การประกาศนโยบายเช่นนี้จะทำลายโครงสร้างค่าจ้างที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความสามารถของนายจ้างและความเดือดร้อนของลูกจ้าง
- ค่าจ้างของผู้จบปริญญาตรีเป็นทางเลือกของนายจ้าง การชี้นำค่าจ้างแรงงานผู้จบปริญญาตรีจาก 15,000 บาทเป็น 25,000 บาทภายในห้าปีหรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2,000 บาท หากเป็นการรับแรงงานใหม่ที่ไม่ต้องการคุณสมบัติที่ต้องการใช้ทักษะระดับปริญญาเป็นทางเลือกของนายจ้างที่อาจเลือกแรงงานในระดับที่ต่ำกว่าซึ่งค่าจ้างถูกกว่า