หยุดยาว “เที่ยวโครงการหลวง” ตามรอยพ่อ
เดือนธันวาคม 2565 มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวันเริ่มกันตั้งแต่ต้นเดือนเลยทีเดียว แถมเดือนนี้ยังเป็นเดือนมหามงคล เพราะนอกจากจะเป็นวันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ยังเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 วันที่ 5 ธ.ค. วันสำคัญที่เราคนไทยทุกคนไม่มีวันลืมเลือน
ตลอดระยะเวลายาวนานอย่างน้อยก็ช่วงชีวิตของคน ๆ หนึ่งคน ต่างพบเห็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงงานเพื่อคนไทยมาโดยตลอด จนทำให้เกิดเป็นโครงการในพระราชดำริมากมายหลายพันโครงการ แต่ละโครงการก็มีความพิเศษ แตกต่างตามภูมิสังคม และการแก้ไขปัญหาความยากจนและเสริมสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับคนไทย
ปัจจุบันพื้นที่โครงการในพระราชดำริ และโครงการหลวงหลายแห่ง นอกเหนือจะเป็นแปลงทดลองขนาดใหญ่แล้ว ยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ รองรับการเดินทางไปเยี่ยมชม และศึกษาดูงานอีกด้วย ดังนั้นในสัปดาห์นี้ เราจึงขอพาผู้อ่านทุกท่านเดินทางไปเที่ยวยังพื้นที่โครงการหลวงกัน รับรองว่ามีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจรอให้ชม และสัมผัสบรรยากาศดี ๆ ต้อนรับไฮซีซั่น
- ชมซากุระ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สถานที่แรกที่จะพาไปเที่ยวถือเป็นหนึ่งพื้นที่ดูงานที่วิวสวยงามแบบหาที่ไหนมาเทียบไม่ได้ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ทดแทนการปลูกฝิ่น สถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวงอยู่บนเทือกเขาแดนลาว ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่วไปเป็นแอ่งรูปร่างคล้ายกระทะ ประกอบด้วยเขาหินปูนและเขาหินดินดานมีความลาดชัน ยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาอ่างขางสูงประมาณ 1,920 เมตร พื้นที่ราบบริเวณที่ตั้งของสถานีสูง1,400 เมตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 20,213 ไร่ สภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 17.7 องศาเซลเซียส นั่นจึงทำให้หลายคนแวะมาจุดท่องเที่ยวบริเวณยอดดอย
ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยรวบรวมคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์พืชเขตหนาวชนิดต่างๆ ได้แก่ พีช ลับ บ๊วย กีวีฟรุต อาโวคาโด สตรอว์เบอร์รีกาแฟอาราบิก้า ชาจีน ผักอินทรีย์ กุหลาบ แคลล่าลิลลี่ ไม้กระถาง เห็ดพ๊อตโตเบลโล และถ้าใครอยากมาชมต้นซากุระแท้ ๆ ของประเทศญี่ปุ่น สามารถมาชมได้ที่นี่ โดยมูลนิธิโครงการหลวง ได้เข้ามาปลูกตั้งแต่ปี 2540 และ ยังได้ปลูกต้นเชอร์รีไต้หวัน ตามมาในปี 2551ซึ่งใครอยากมาชม “ดอกซากุระ” บาน ขอให้มาช่วงปลาย ๆ ปี
นอกจากได้ชมซากุระญี่ปุ่นแล้ว ใครที่มาดอยอ่างขาง ยังได้ชมความสวยงามของ “ซากุระเมืองไทย” หรือ ดอกนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งจะบานชมพูสดใสเต็มภูเขาในช่วงประมาณปลายปีถึงต้นเดือนมกราคม และในเส้นทางนอกสถานีเกษตรหลสง ผู้ที่ขับรถผ่านไปมายังได้พบกับ อุโมงค์ต้นนางพญาเสือโครง สีชมพูยาวไปตลอดเส้นทาง โดยมีจุดชมวิวสวย ๆ ให้เก็บรูปไว้เป็นที่ระลึกพร้อมจิบชา กาแฟอร่อย ๆ ได้หลายแห่ง
- ชิมกาแฟสด สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด
อีกหนึ่งโครงการหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด พัฒนาจากศูนย์วิจัยและส่งเสริมกาแฟอาราบิก้าบ้านแม่หลอด โดยในปี 2527 กรมวิชาการเกษตรได้เข้าไปสำรวจแหล่งผลิตกาแฟอาราบิก้าที่บ้านแม่หลอด พบการแพร่ระบาดของโรคราสนิมอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนากาแฟอาราบิก้าบนพื้นที่สูง
ประกอบกับได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาผ่านมูลนิธิโครงการหลวง จึงได้นำกาแฟพันธุ์อาราบิก้าลูกผสมชั่วที่ 2 จำนวน 28 สายพันธุ์ มาศึกษาวิจัยและคัดเลือกจนได้พันธุ์ที่เหมาะสมต้านทานต่อโรคราสนิม กระจายออกไปปลูกยังพื้นที่ต่าง ๆ
จนกระทั่งสิ้นสุดความช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา มูลนิธิโครงการหลวงจึงเข้ามาดูแล จัดตั้งเป็นสถานีวิจัยและรวบรวมพันธุ์กาแฟอาราบิก้า ดำเนินการวิจัยและส่งเสริมการปลูกพืชเขตหนาวอื่น ๆ แก่เกษตรกรในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย จนกระทั่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอดในปัจจุบัน
แหล่งท่องเที่ยวจุดเรียนรู้ชุมชน สามารถเยี่ยมชมประเพณีและวัฒนธรรมที่น่าสนใจของชาวปกาเกอะญอ เช่น ประเพณีกินข้าวใหม่ ประเพณีมัดมือปีใหม่ ประเพณีเลี้ยงผีต้นน้ำ พิธีแต่งงาน และงานหัตถกรรมผ้าทอ เช่น ถุงยาม ผ้าพันคอ เสื้อ พร้อมชมความงามของน้ำตกหมอกฟ้า ซึ่งมีความสูงประมาณ 50 เมตร ในพื้นที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ 5 (น้ำตกหมอกฟ้า) บริเวณทางเข้าก่อนถึงสถานี 1.5 กก. และชมแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาบ้านผาแตก มีปลาธรรมชาติหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลาใน ปลาปุง ปลามอน ซึ่งชาวบ้านทำแนวเขตอนุรักษ์ไว้ในลำน้ำแม่ริม มีความยาวประมาณ 1.5 กม.
- สัมผัสลมหนาว สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
ใครได้ไปเชียงใหม่ ต้องลองไป สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ดูสักครั้งเดี๋ยวจะหาว่ามาไม่ถึง ที่นี่เป็นสถานีวิจัยพืชเขตหนาว 1 ใน 4 แห่ง ของมูลนิธิโครงการหลวง เริ่มดำเนินงาน เมื่อปี 2522 ตั้งอยู่ที่บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีการดำเนินงานวิจัยทั้งทางด้าน ด้านไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก ไม้ผล และงานประมงพื้นที่สูง รวมทั้งถ่ายทอดผลงานวิจัยไปสู่การส่งเสริม สร้างรายได้แก่ครอบครัวเกษตรกรทั้งชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอและม้ง ในหมู่บ้านรอบ ๆ สถานีฯ พร้อมกับการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน พัฒนาด้านสังคม และการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร
ไปถึงที่อย่าลืมไปจุดไฮไลท์ ยอดดอยอินทนนท์ อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทย คือสูงจากระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร มีสภาพภูมิประเทศและสภาพป่าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ ส่วนสภาพภูมิอากาศนั้นมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมเกือบทั้งวัน และในตอนเช้าตรู่อาจเกิดปรากฏการณ์น้ำค้างแข็ง ที่สร้างความฮือฮาในหมู่นักท่องเที่ยวเป็นประจำในทุกฤดูหนาว
มีเวลาต้องลองไป “กิ่วแม่ปาน” เป็นเส้นทางธรรมชาติยอดนิยมของผู้ที่มาเยือนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่บริเวณเกือบถึงยอดดอยประมาณ ก.ม.ที่ 42 มีความสูงประมาณ 2,000 เมตร เป็นเส้นทางเดินเป็นรอบวงกลมระยะรวมประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าโดยประมาณ 2-3 ช.ม. กิ่วแม่ปานมีความสวยงามหลากหลาย ตั้งแต่ป่าเมฆดึกดำบรรพ์ ไปจนถึงพื้นที่ที่เรียกว่า ”กิ่ว” ซึ่งเป็นภูมิประเทศแบบสันเขาที่มีลักษณะเฉพาะตัว บนสันจะแคบและมีไหล่เขาสองข้างทางชันมาก ซึ่งจะมีโอกาสเห็นทะเลหมอกสุดลูกลูกตา และจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยสดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
- ชมทุ่งเก๊กฮวย ดอกคาโมมายล์ โครงการหลวงสะโงะ
เมื่อ พ.ศ. 2521 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่และมีพระราชดำรัสให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมช่วยเหลือชาวบ้านดอยสะโงะ ปี 2522 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ จึงก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ในรูปแบบงานอาสาพัฒนาชาวเขา โดยความร่วมมือของมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผัก อีกทั้งยังส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อนำมาอบแห้ง ได้แก่ ผักกาดกวางตุ้งต้น คะน้ายอด มะเขือม่วง เก๊กฮวย คาโมมายล์ เสาวรสเหลืองหวาน องุ่นดำไร้เมล็ด อาโวคาโด
ทั้งนี้ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ยังเป้นแหล่งเกษตรกรเผ่าอาข่า กำลังช่วยกันเก็บดอกคาโมมายล์ที่ออกดอกสะพรั่งบนพื้นที่กว่า 40 ไร่ ภายใต้ความสวยงามของทุ่งดอกสีขาวนี้ คือ อาชีพที่สร้างรายได้แก่เกษตรกร และผลผลิตคุณภาพที่จะนำไปผ่านกระบวนการอบแห้ง และแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
อีกทั้งที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ยังมีแปลงเก็กฮวย และหญ้าหวาน ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสร้างรายได้แก่เกษตรกรตลอดทั้งปี ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะเปิดให้เข้าศึกษาเรียนรู้การผลิตและแปรรูปพืชสมุนไพรเหล่านี้ ได้ในช่วงพฤศจิกายนถึงมีนาคมของทุกปี โดยประโยชน์ของคาโมมายล์ กลิ่นหอมละมุน ช่วยให้ผ่อนคลาย นอนหลับสบาย ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร และยังเป็นส่วนผสมหนี่งในการผลิตแป้งเด็กด้วย
- เป็นหนึ่งกับธรรมชาติ ที่โครงการหลวงแม่ลาน้อย
เมื่อปี 2414 ในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวบ้านห้วยห้อมเป็นครั้งแรก ซึ่งสภาพพื้นที่แห่งนี้มีการตัดไม้ทำลายป่า ปลูกฝิ่นเป็นพื้นที่กว้าง จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้านห้วยห้อมอีก 2 ครั้ง (พ.ศ. 2519, 2521) และได้พระราชทานสิ่งของ พันธุ์แกะ ให้กับพสกนิกร จนกระทั่งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเป็นครั้งที่ 4 ในปี 2522
นายบุญสม แก่นเจิง ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นเฝ้ารับเสด็จ และได้ถวายฎีกาขอให้มีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงในเขตพื้นที่นี้จึงมีพระราชกระแสรับสั่งกับประธานมูลนิธิโครงการหลวง ให้ช่วยพัฒนาอาชีพโดยเฉพาะด้านการเกษตร สังคม และสาธารณสุข ในปี 2523 จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยขึ้น ต่อมาในปี 2535 ได้เสด็จพระราชด าเนินไปทรงเยี่ยมอีกครั้ง และได้ทรงรับสั่งให้รักษาป่าไม้ต้นน้ำลำธาร การปลูกพืชเชิงอนุรักษ์โดยใช้หญ้าแฝก
สำหรับการมาเที่ยวที่นี่ถือเป็นหมู่บ้านที่มีแต่ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โอบล้อมด้วยป่าเขา ทุ่งนาเขียวขจี ชาวบ้านใช้ชีวิตเรียบง่าย มีกิจกรรมและที่เที่ยวหลากหลาย พร้อมชิมผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่ออย่างกาแฟสด ถั่วเหลือง ช้อปผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่จากขนแกะบ้านห้วยห้อม
ส่วนใครที่ชอบ “เคพกูสเบอร์รี” ซึ่งเป็นหนึ่งในไม้ผลขนาดเล็กที่มูลนิธิโครงการหลวงได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดี ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว และมีคุณค่าทางอาหารสูง จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับพริก มะเขือ มะเขือเทศ
ซึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ย. – เม.ย. ของทุกปี สามารถมาชิมกันสด ๆ ได้ที่นี่ด้วย