พลิกแฟ้ม ครม. อัพเดทความคืบหน้า ‘แผนฟื้นฟูการบินไทย’
นับตั้งแต่ปี 2557 อันเป็นปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและในฐานะหัวหน้า คสช. เข้ามาบริหารประเทศยาวนานถึง 8 ปี การปฏิรูปและฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการขาดทุนสะสมหลายแสนล้านบาท เป็นหนึ่งในภารกิจแรกๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อเนื่อง
…และ บมจ.การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ก็อยู่ในขอบข่ายนี้ด้วย
หลังจากตั้งท่ามานาน และได้ตั้งธงมาตั้งแต่ปี 2563 จนล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ และนำมาสู่การประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 ซึ่งได้มีการรายงานความคืบหน้าต่างๆ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- ลดขอเงินกู้เหลือ 2.5 หมื่นล้า@nuchnuchลดขอเงินกู้เหลือ 2.5 หมื่นล้าน
เอกสารที่นำเสนอ ครม. เริ่มต้นสรุปสถานการณ์ในภาพรวมว่า การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้ประเทศไทยและประเทศปลายทางมีการผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการจำกัดและควบคุมการเดินทาง จึงส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อใหม่ลดลง จากเดิมที่ขอไว้ 50,000 ล้านบาท เหลือเพียง 25,000 ล้านบาท
โดยสินเชื่อที่จะต้องจัดหาใหม่แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สินเชื่อระยะยาว (Term Loan) หรือ ตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปีจำนวน 12,500 ล้านบาท โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้ ผู้ให้สินเชื่อจะได้รับสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Share Option) หรือเลือกชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เงินต้นเดิมเป็นทุน
และสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาท สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจปกติ, ค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำหรับการบินไทยและบริษัทย่อย, การปรับปรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สิน, การปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในองค์กร, ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการพาณิชย์, การปรับปรุงฝูงบินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาด และการประกอบธุรกิจการบินที่อาจเปลี่ยนแปลงไป
- ขอเพิ่มทุนจดทะเบียน 3.1 หมื่นล้านหุ้น
ส่วนการเพิ่มทุนจดทะเบียน จะเพิ่มในจำนวนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น มีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวกเพื่อสร้างความมั่นคงทางสถานะการเงินของการบินไทย เพื่อให้หลักทรัพย์ของการบินไทยสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้อีกครั้ง
ขณะที่รายละเอียดและแผนการชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้การค้าที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินกิจการของบริษัทในต่างประเทศ ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบให้เพิ่มรายชื่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจำนวน 26 รายอย่างไรก็ดี หากมีเจ้าหนี้อื่นเพิ่มเติมในอนาคตการบินไทยจะต้องดำเนินการขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลางเป็นรายกรณีอีกครั้งหนึ่ง
- ไตรมาส 3 พลิกกำไรครั้งแรก
เอกสารระบุถึงผลการดำเนินงานของการบินไทยในช่วงไตรมาส 3/2565 รายละเอียดดังนี้ การบินไทยและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 3,920 ล้านบาท โดยไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนจำนวน 5,310 ล้านบาท และมี EBITDA จำนวน 6,181 ล้านบาท ซึ่งก็ดีขึ้นอีกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนจำนวน 3,100 ล้านบาท
สาเหตุมาจากการเพิ่มความถี่เที่ยวบินช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 และการกลับไปทำการบินในเส้นทางเดิมก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับอัตราบรรทุกผู้โดยสารรวมเฉลี่ย 77% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารโดยรวมเฉลี่ยเพียง 9.9% ทางนี้การบินไทยยังขาดทุนสุทธิ 4,780 ล้านบาท เป็นผลมาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จากการตีมูลค่าทางบัญชีซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินบาท
ขณะที่ตัวเลขผู้โดยสาร มีผู้โดยสารต่างประเทศเฉลี่ยต่อวัน 21,557 คน ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีผู้โดยสารต่างประเทศรวมเฉลี่ยต่อวันจำนวน 23,881 คน
- ปี 66 อัพเกรดฝูงบินเป็น 70 ลำ
ส่วนการปรับปรุงฝูงบินและการปรับลดต้นทุนด้านอากาศยาน เอกสารระบุว่าในปี 2565 การบินไทยมีเครื่องบินที่อยู่ในแผนดำเนินธุรกิจจำนวน 61 ลำ โดยเป็นของสายการบินไทยสมายล์ จำนวน 20 ลำ ซึ่งในปี 2566 ทางการบินไทยจะนั่งเครื่องบินจำนวน 5 ลำกลับมาให้บริการใหม่ประกอบด้วย ลำกลับมาให้บริการใหม่ประกอบด้วยเครื่อง Boeing 777-200 ER จำนวน 2 ลำ และ Airbus 330-300 จำนวน 3 ลำ มาให้บริการทำให้ในต้นปี 2566 จะมีเครื่องบินที่จะให้บริการรวมทั้งสิ้น 66 ลำ
นอกจากนี้ ทางการบินไทยได้ลงนามในสัญญาเช่าดำเนินการอากาศยาน Airbus 350-900 จำนวน 2 ลำแล้วเสร็จและได้รับอนุญาตให้จัดหาจากกระทรวงคมนาคมในการนำเข้าประจำการในฝูงบินของการบินไทยแล้ว
และการบินไทยได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of intent) ในการเช่าเครื่องบิน Airbus 350-900 อีก 2 ลำ โดยอยู่ระหว่างการขออนุญาตนำเข้าประจำการในฝูงบินของการบินไทยต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม โดยคาดว่าเครื่องบินทั้ง 4 ลำจะสามารถมาให้บริการได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีเครื่องบินให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 70 ลำ
- ทวงหนี้ ‘ทัพฟ้า-ออมสิน-กรุงไทย’
ขณะที่การติดตามหนี้สิน รายละเอียดระบุว่า ในส่วนของกองทัพอากาศ (ทอ.) มีภาระหนี้สินค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินและเครื่องยนต์จำนวน 1,015 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างติดตามและรอรับชำระบางส่วนตามกรอบวงเงินงบประมาณที่กองทัพอากาศได้รับ
ส่วนธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย ที่ติดค้างหนี้สินกรณีกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทย ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งให้ธนาคารทั้งสองชำระหรือ 2 มอบเงินคืนให้แก่กองทุนบําเหน็จพนักงานการบินไทยพร้อมดอกเบี้ยภายใน 14 วัน แต่ทั้ง 2 ธนาคารโต้แย้งคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลล้มละลายกลาง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2556 5 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ธนาคารออมสินชำระเงินต้นจำนวน 2,279,771,446.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยเงินฝากประจํา 12 เดือนที่ได้กำหนดไว้ตามสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากนับตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2563 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2565 ดอกเบี้ยเงินฝากประจํา 12 เดือนให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และให้ชำระดอกเบี้ยในอัตรา 5% ต่อปีของเงินต้นดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 25650 เป็นต้นไปจนกว่าธนาคารออมสินจะชำระหรือส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวคืนกลับในบัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทย
ส่วนหนี้ของธนาคารกรุงไทยสาขาล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งในวันที่ 7 ธันวาคมนี้
- ขอ ‘คลัง’ เพิ่มทุน-คงหุ้นใหญ่ 32%
และสุดท้าย การขอสนับสนุนจากภาครัฐ มีรายละเอียด ดังนี้
ขอให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่พิจารณาใช้สิทธิ์ในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนที่การบินไทยจะออก และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อให้การบินไทยมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการกลับมาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ตามปกติ โดยการใช้สิทธิ์ในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวจะทำให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 32.7% และในกรณีที่กระทรวงการคลังไม่ใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวจะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังเหลือเพียง 18.7%
และเนื่องจากการปรับโครงสร้างทุนและการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขมีความซับซ้อนและในบางเรื่องไม่เคยมีกรณีตัวอย่างมาก่อน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการหารือร่วมกันให้เกิดความชัดเจนและความสอดคล้องของกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ
เพื่อให้การปรับโครงสร้างทุนและการออกหุ้น เพิ่มทุนตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูสามารถสำเร็จลุล่วงได้
- แง้มไอเดียชงกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางและการดำเนินการของการบินไทยเป็นไปด้วยดีตามแผนฟื้นฟู และยืนยันว่า การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ประมาณปลายปี 2567 ทั้งนี้ ตนได้มีการนำหารือประเด็นที่จะให้ การบินไทย กลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ อีกครั้ง ซึ่งตามเงื่อนไขเดิมกำหนดให้สายการบินแห่งชาติ รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นเกิน 50%แต่ไไม่ได้เป็นกฎหมาย ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง เร่งไปพิจารณาดำเนินการ ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขมติที่เกี่ยวข้อง
“เรื่องจะให้การบินไทยเป็นสายการบินแห่งขาติไม่มีอะไรยุ่งยาก กระทรวงการคลังทำได้ เพราะตอนนี้กระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทการบินไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องสัดส่วนมากกว่า 50% และกรณีที่ให้การบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติเหมือนเดิม มีข้อดีในหลายเรื่อง เช่น สามารถจัดเที่ยวบินพิเศษ ให้บริการขนส่งชาวไทยมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะห์ประเทศซาอุดีอารเบีย หรือการดูแลคนไทยในกรณีต่างๆ การมีสายการบินแห่งชาติจะดำเนินการได้สะดวก ”
เหล่านี้ คือ ความคืบหน้าล่าสุดของแผนฟื้นฟู ‘เจ้าจำปี’ อดีตสายการบินแห่งชาติ ที่เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่จะเป็นแสงสว่างตลอดไปหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป