1 ปี รถไฟฟ้าสายสีแดง กับก้าวต่อไปของส่วนต่อขยายที่รอคอย
29 พ.ย.นี้ จะครบ 1 ปีที่โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง เปิดให้บริการกับประชาชนอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันรถไฟชานเมืองสายสีแดงเปิดวิ่งให้บริการใน 2 สายทางคือ ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน (นครวิถี) และช่วงบางซื่อ – รังสิต (ธานีรัถยา) โดยมีสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางของรถไฟฟ้าสายนี้
โดยเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่4/2565 ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สรุปตัวเลขผู้โดยสารไว้ที่ 3,983,493 คน หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 331,958 คน แบ่งเป็นช่วงบางซื่อ – รังสิต 3,705,961 คน หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 308,830 คน และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 277,532 คน หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 23,128 คน
และล่าสุด กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สรุปตัวเลขผู้โดยสารช่วงการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเซีย – แปซิฟิก (APEC 2022) ระหว่างวันที่ 16 – 20 พฤศจิกายน 2565 สะสม 3 วันในช่วงวันหยุดพิเศษ ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีแดง มีเที่ยววิ่งรวม 230 เที่ยววิ่ง เฉลี่ย 16,113 คนเที่ยว/วัน
…เรียกว่า ยังไม่มากเท่าไหร่นัก หากเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ในช่วงเอเปคมีคนใช้บริการถึง 594,220 คนเที่ยว/วัน และยังต่ำกว่าประมาณการณ์ตามผลการศึกษาที่ต้องมีผู้โดยสารที่ระดับ 40,000 – 50,000 คน/วัน
ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้โดยสารยังไม่มา หรือมาช้า ก็หนีไม่พ้นส่วนต่อขยายที่หลายคนรอคอยยังไม่เสร็จ โดยเฉพาะ 4 สายทางที่จะต้องต่อขยายออกไป ประกอบด้วย
1.สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท
2.สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท
3.สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท
และ 4. ช่วง Missing Link ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ – หัวหมาก ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท.
ซึ่งทั้งหมดผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งหมดแล้ว แต่ที่ผ่านมาในยุครัฐมนตรีเจ้าไอเดีย ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’’มีแนวคิดจะทำ PPP (เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ) ซึ่งในทีแรกจะรวบเอาทุกงานทั้งการก่อสร้างส่วนต่อขยายและการบริหารงานเดินรถ ระบบไฟฟ้า และการจัดหาขบวนรถมารวมไว้ทั้งหมด แต่เมื่อแผนงานล่าช้าออกไปมาก จึงมีแนวคิดดึงเอางานก่อสร้างส่วนต่อขยายออกมาทำก่อน
ส่วนต่อขยายทั้ง 4 ตอน มีความคืบหน้าอย่างไร คำตอบอยู่ในบรรทัดถัดไป
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนงานก่อสร้างส่วนต่อขยายอยู่ระหว่างการผลักดันและเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาการปรับกรอบวงเงินใหม่ โดยเมื่อ คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. พิจารณาปรับกรอบวงเงิน 3 สายทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ไปทั้งหมดแล้ว หลังจากนี้ จะเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบกรอบวงเงินทั้ง 3 สายทางใหม่อีกครั้ง คาดว่าภายในปี 2565 น่าจะสามารถเสนอได้ โดยทาง ร.ฟ.ท. จ้างที่ปรึกษารอไว้แล้ว เหลือเพียงการดำเนินการตามขั้นตอนเท่านั้น
เมื่อ ครม. เห็นชอบแล้ว อีก 3-6 เดือนนับจากนั้น ก็จะเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้รับจ้าง คาดว่าได้ตัวในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 การก่อสร้างใช้เวลา 36 เดือน ทั้ง 3 สายทางน่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569
ส่วนช่วง Missing Link ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเพิ่มค่างานโยธา เพราะมีการปรับแบบโครงสร้างที่ต้องใช้ทักษะพิเศษในการก่อสร้าง ทำให้มูลค่าการก่อสร้างสูงขึ้น โดยทีมงานอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขทั้งหมดอยู่
ส่วนการจัดทำ PPP สายสีแดง หลังจากผ่านที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. พิจารณาเห็นชอบเมื่อกลางปี 2563 ปัจจุบันเห็นตรงกันแล้วว่า จะนำเรื่องการบริหารเดินรถ บำรุงรักษาและจัดหาขบวนรถไฟฟ้ามาบรรจุลงในการทำ PPP ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ก่อนเสนอกลับมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเข้ากระบวนการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 โดยหลักการจะเป็น PPP Gross Cost (ภาครัฐจัดเก็บรายได้ทั้งหมด และชดเชยค่าตอบแทนให้บริษัทเอกชนตามค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน (Full Operating Cost) แบบคงที่) รูปแบบสัญญา 30 ปี นอกจากนั้น จะมีการนำพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน 12 สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง พื้นที่รวม 2,700 ตารางเมตรมาบรรจุรวมใน PPP นี้ด้วย
ต้องติดตามกันต่อว่า การเพิ่มมูลค่าให้รถไฟฟ้าสายสีแดงจะช่วยดึงดูดประชาชนให้เข้ามาใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน และแผนงานต่างๆที่วาดไว้จะไปตามแผนหรือไม่ ต้องติดตาม!