ส่อง 5 ปี ไฮสปีดไทยจีน ‘กรุงเทพฯ-โคราช’ ช้ายกแผง คืบ 15.49% ปักเป้า เม.ย. 69 สร้างเสร็จ

ควันหลงจากสัปดาห์ที่แล้ว หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยกคณะไปร่วมเป็นประธานร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จ.บึงกาฬ กับนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว จบลงอย่างชื่นมื่น
แน่นอนว่า ฝ่ายที่เป็นกองหนุนก็ยินดีปรีดากับความสัมพันธ์แน่นเฟ้นที่เกิดขึ้น และความร่วมมือในการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ ซึ่งได้รายงานไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน
แต่เมื่อมีกองหนุนย่อมมีกองแช่ง โดยเฉพาะการจับตาไปถึงโครงการถไฟความเร็วสูง ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฟูกฟักจนผ่านเข้ารอบได้ประมูลและก่อสร้าง 2 สายทาง คือ โครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท และโครงการถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ที่ทั้งสองเส้นทางนี้ กำลังขยับก่อสร้าง ไล่ประมูลต่อเนื่อง
โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ที่เป็นสายทางสำคัญในการเชื่อมโยงพื้นที่ประเทศไทย จากกทม.ไปสู่ภาคอีสาน ได้เร็วขึ้น และลามเลยออกไปสู่ภูมิภาคอาเซียน ที่ ณ ปัจจุบัน มีรถไฟลาวจีนมารอเชื่อมต่ออยู่แล้ว ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ผลักดันจนถึงฝั่งฝันเปิดใช้ได้ จะถือเป็นมรดกชิ้นสำคัญในชีวิต 8 ปีทางการเมืองเลยทีเดียวก็ว่าได้
โยธาคืบ 15.49% วาง เม.ย. 69 สร้างเสร็จ

สำหรับโครงการอภิมหาระบบราง รถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและจีน ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างในระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. วงเงินโครงการ 179,412.21 ล้านบาท ขณะนี้วางกำหนดแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2569
โครงการแบ่งเป็นทางยกระดับ 188.68 กม. คันทางระดับดิน 54.09 กม. และอุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง ประมาณ 8 กม. การเดินทางจากกทม.ไปนครราชสีมา จะใช้เวลาประมาณ 90 นาที ซึ่งรถไฟความเร็วสูงสายนี้จะใช้ความเร็วที่ 250 กม./ชม.
ขณะที่ภาพรวม ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2565 คืบหน้า 15.49 % ขณะที่แผนงานวางไว้ที่ 37.33%

เนื้องานในส่วนของงานโยธาแบ่งได้ 14 สัญญา สถานะปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ ช่วงสัญญาที่ 1-1 ช่วงกลางดง – ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ที่มีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ดำเนินการ

ส่วนอีก 13 สัญญา สถานะอยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา, เตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา รายละเอียดมีดังนี้
โยธา 9 สัญญา อืดยกแผง
อยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา วงเงินรวม 74,932.98 ล้านบาท

1.สัญญาที่ 2-1งานโยธาสาหรับช่วงสีคิ้ว -กุดจิกระยะทาง 11.00กม. วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท มี บจ. ซีวิล คอนสตรัคชั่น เซอร์วิสเซส แอนด์ โปรดักซ์ เป็นผู้รับจ้าง ผลงาน ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565 อยู่ที่ 94.44% ช้ากว่าแผน 5.56%
2. สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้รับจ้าง ผลงาน ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565 อยู่ที่ 4.16% ช้าวกว่าแผน 30.05%
3. สัญญาที่ 3-3งานโยธา ช่วงบันไดม้า -ลำตะคอง ระยะทาง 26.10กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท มี บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม เป็นผู้รับจ้าง ผลงาน ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565 อยู่ที่ 13.93% ช้ากว่าแผน 41.18%
4. สัญญาที่ 3-4 งานโยธา ช่วงลำตะคอง -สีคิ้วและช่วงกุดจิก -โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท มีบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง ผลงาน ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565 อยุ่ที่ 38.2% ช้ากว่าแผน 11.85%
5. สัญญาที่ 3-5 งานโยธา ช่วงโคกกรวด -นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เป็นผู้รับจ้าง ผลงาน ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565 อยู่ที่ 2.36% ช้ากว่าแผน 48.8%
6. สัญญาที่ 4-2 งานโยธา ช่วงดอนเมือง -นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 10,590 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง ผลงาน ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565 อยู่ที่ 0.08% ช้ากว่าแผน 2.36%
7. สัญญาที่ 4-3 งานโยธา ช่วงนวนคร -บ้านโพ ระยะทาง 23.00 กม.วงเงิน 11,525 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ซีเอเอ็น เชียงรากน้อย (ประกอบด้วย บจ. ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (CSCEC) บจ.เอ. เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) และ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ) เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้า ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565 อยู่ที่ 4.08% ช้ากว่าแผน 38.73%
8. สัญญาที่ 4-6 งานโยธา ช่วงพระแก้ว -สระบุรี ระยะทาง 31.60กม. วงเงิน 9,428 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง ผลงาน ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565 อยู่ที่ 0.13% ช้ากว่าแผน 2.58%
9. สัญญาที่ 4-7งานโยธา ช่วงสระบุรี -แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท มี บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง ผลงาน ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565 อยู่ที่ 0.13% ช้ากว่าแผน 2.58%

อยุ่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง 1 สัญญา คือ สัญญา 4-4 งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้างนั้น ลงนามแล้ว แจ้ง NTP ให้เริ่มงานเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 อยู่ระหว่างจัดเตรียมพื้นที่
3 สัญญาวุ่นทั้ง ฟ้องร้อง-ติดมรดกโลก-ทับซ้อนไฮสปีด 3 สนามบิน
อยู่ระหว่างประกวดราคา 3 สัญญา ประกอบด้วย

1.สัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21กม. เดิมกิจการร่วมค้า BPHB-TIM SEKATA JV (ประกอบด้วย บจ.นภาก่อสร้าง, บจ.บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี, นายชาตรี เขมาวชิรา) เป็นผู้ชนะโครงการ
ต่อมามีการตรวจสอบพบว่า กลุ่มกิจการร่วมค้านี้ขาดคุณสมบัติในการประมูล จึงได้ให้กิจการร่วมค้า ITD-CREC NO.10.JV (ประกอบด้วย บมจ.บจ.ไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป :CREC และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ทาง บจ.นภาก่อสร้าง ยื่นร้องกับคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง และมีผลวินิจฉัยให้กลุ่ม BPHB-TIM SEKATA JV กลับมาได้งานอีกครั้ง
ทำให้กลุ่ม ITD-CREC NO.10.JV ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางแต่ไม่เป็นผล จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และมีผลให้กลุ่ม ITD-CREC NO.10.JV กลับมาเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
2. สัญญาที่ 4-1งานโยธา ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เพราะเป็นช่วงนี้ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่มีมติให้ บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซีพี) เป็นผู้ก่อสร้างเพิ่มเติมจากสัมปทานที่ลงนามไว้ เป็น 1 ใน 4 ข้อเสนอพิเศษที่ตั้งคณะกรรมการที่มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของทางแก้ปัญหา 4 ข้อตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แล้วให้นำกลับมารายงานข้อพิจารณาทั้งหมดในการประชุมครั้งหน้า
3. สัญญาที่ 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,913 ล้านบาท แต่ยังลงนามในสัญญาไม่ได้ เพราะติดปัญหาการดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา บริเวณที่ตั้งสถานีอยุธยา ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทสไทย (รฟท.) เตรียมลงนามจ้างผู้รับเหมาแบบมีเงื่อนไขในช่วงรอรายงาน EIA ฉบับปรับปรุง
ด้านเนื้องานระบบของโครงการ แบ่งเป็น 2 สัญญา ประกอบด้วย

1.สัญญา 2.2 การควบคุมงานก่อสร้าง มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จากัด (CRIC) และบริษัท ไชน่าเรลเวย์ ดีไซด์ คอร์ปอเรชั่น จากัด (CRDC) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้ลงนามกับรัฐวิสาหกิจจีน (CRDC และ CRIC) เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2560 วงเงิน 3,500 ล้านบาท ปัจจุบันผู้รับจ้าง เริ่มดาเนินงานควบคุมการก่อสร้าง Fดยได้มีการลงนามแก้ไขแนบท้ายสัญญา 2.2 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 65 ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจาประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง

2. สัญญา 2.3งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลฯ ลงนามสัญญาเมื่อ 28 ต.ค. 2563 ระยะเวลาดำเนินงาน 64 เดือน (สิ้นสุดสัญญา เดือนก.พ. 2569) แจ้งให้เริ่มงานออกแบบ (NTP For Design) แล้วเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563
สถานะ ผู้รับจ้างได้ส่งรายงานการออกแบบให้ รฟท. ตรวจสอบแล้ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่าง รฟท. ตรวจสอบแบบรายละเอียด และเบิกค่าจ้างล่วงหน้า
ขณะที่ส่วนต่อขยายของโครงการ ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 355 กม. มีจำนวน 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA คาดว่าเปิดให้บริการปี 2572

นี่คือความคืบหน้าล่าสุดของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีนที่หลายคนตั้งตารอคอย ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เป้าหมายเม.ย. 2569 ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จนั้น จะเลื่อนอีกหรือไม่ และ รฟท. จะเร่งสปีดให้งานคั่งค้างต่างๆเร็วกว่าแผนได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันอีกยาวๆ