รัฐจ่อพับแผนแก้กฎหมาย ยุติปมร้อนต่างชาติซื้อที่ดิน
กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง และมีการวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และสังคมอย่างกว้างขวางเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบการแก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทยเรื่องการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
สาระสำคัญของการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับนี้คือการนำกฎกระทรวงมหาดไทยในเรื่องนี้ที่บังคับใช้เมื่อปี 2545 มาปรับปรุงใหม่หลังจากที่รัฐบาลได้มีการออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa) หรือ “LTR Visa”เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงหรือมีความรู้ ความเชี่ยวชาญให้เข้ามาพำนักหรือทำงานในไทยระยะยาวใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญในสาขาที่ประเทศไทยต้องการให้เข้ามาทำงาน
ทั้งนี้เมื่อมีการผ่านมาตรการ LTR VISA ออกมาโดยมีเป้าหมายในการดึงดูดกลุ่มชาวต่างชาติเป้าหมาย 4 กลุ่มให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนภายในระยะเวลา 5 ปี จึงมีการแก้ไขร่างกฎกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเพื่อให้ชาวต่างชาติที่ได้วีซ่าประเภทนี้ที่มีระยะเวลาในการให้วีซ่าสูงสุด 10 ปีมีทางเลือกในการซื้อที่อยู่อาศัยในรูปแบบบ้าน และที่ดินได้ขนาดไม่เกิน 1 ไร่ จากเดิมที่ชาวต่างชาติกลุ่มนี้ซื้อได้แต่คอนโดมิเนียม โดยการซื้อบ้านและที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ สำหรับผู้ที่ได้สิทธิ์วีซ่า LTR และห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือให้กับผู้อื่นๆ และระยะเวลาของกฎกระทรวงฉบับนี้มีกำหนดระยะ 5 ปี
เปลี่ยนระยะเวลาคงเงินลงทุนเหลือ 3 ปี
ในส่วนของสาระสำคัญของกฎกระทรวงที่มีการปรับเปลี่ยนจากในปี 2545 คือเรื่องการคงจำนวนเงินลงทุนที่ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทไว้ในประเทศไทยจากเดิมที่กำหนดให้คงการลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ให้เหลือ 3 ปี โดยการลงทุนยังคงเปิดกว้างทั้งการซื้อพันธบัตร การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งเปิดกว้างในการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆเช่น ดิจิทัลโทเคล เป็นต้น
แม้สาระสำคัญทางกฎหมายจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากในปี 2545 ในเรื่องของการวงเงินในการลงทุน และการถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ได้ไม่เกิน 1 ไร่ แต่ทันทีที่เรื่องนี้ผ่านความเห็นชอบของ ครม.เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสม รวททั้งวาทะกรรม และข้อกล่าวหารัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมว่า “ขายชาติ” ตามมาด้วยการโจมตีจากฝ่ายค้านที่ว่าการใช้กฎหมายฉบับนี้สะท้อนการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดของรัฐบาลทำให้ต้องหาวิธีเอาเงินเข้าประเทศด้วยวิธีนี้
ฝ่ายค้านทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลตั้งกระทู้ถามสดในสภาฯเกี่ยวกับเรื่องนี้นำโดยนายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อภิปรายทั้งการดำเนินการ ความเหมาะสม และจำเป็นในขณะนี้ โดยนายพิธาตั้งคำถามว่ากฎหมายลักษณะนี้จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำเนื่องจากมีประชากรอีกกว่า 80% ของประเทศยังไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ขณะที่นายสุทินแนะนำให้รัฐบาลคิดให้รอบครอบเพราะไม่อยากให้รัฐบาลขายชาติโดยที่ไม่ได้ตั้งใจเพราะไปเปิดช่องให้ทุนต่างชาติเข้ามากว้านซื่อที่ดินในเมืองไทยทั้งในเขตเทศบาล และนอกเทศบาล
“สมคิด” หนุนเช่าที่ดินระยะยาว
พรรคการเมืองต่างๆมีการแสดงความเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่าในเรื่องนโยบายที่รัฐบาลแก้กฎกระทรวงเปิดให้ต่างชาติถือครองที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ ว่า ในเรื่องนี้ตนเองไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์ แต่ความคิดแบบนี้มีมานานหลาย 10 ปีแล้ว
โดยทุกครั้งที่มีความคิดเหล่านี้ออกมาก็ต้องมีการต่อต้าน แต่ถ้าเป็นไปได้ส่วนตัวมองว่าควรพยายามรักษาไว้ให้ยาวที่สุดจะเป็นผลดีกว่า หรืออาจเปิดเป็นการให้เช่าระยะยาวแทนน่าจะมีความเหมาะสม พร้อมกับให้สิทธิประโยชน์พิเศษเพื่อส่งเสริม แต่ทั้งหมดนั้นต้องพ่วงด้วยเงื่อนไขคือ เมื่อมาเช่าแล้วต้องพัฒนาให้มีเงินกระจายลงไปในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อช่วยเหลือคนตัวเล็ก ๆ ให้ได้ประโยชน์
“ไม่ได้ต่อต้านเรื่องต่างชาติถือครองที่ดิน แต่เป็นเรื่องของนโยบายของแต่ละคน แต่ละพรรคที่มีความคิดเป็นของพรรค เพียงแต่ว่าจะทำอะไรก็ขอให้ทำด้วยความรอบคอบ พยายามปรึกษาชาวบ้านโดยรอบดูด้วย แต่พรรคสร้างอนาคตไทยยังไม่มีนโยบายอย่างนี้ เพราะนโยบายพรรคจะให้สิทธิประโยชน์พิเศษหลาย ๆ ด้าน เพื่อส่งเสริมนักลงทุนเข้ามา”
เอกชนแนะเพิ่มวงเงินลงทุนเป็น 5 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ในมุมมองของภาคเอกชนมีการออกมาคัดค้านแนวคิดนี้และมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการซื้อบ้านและที่ดินของชาวต่างชาติในประเทศไทย ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะทำผ่านการให้สิทธิประโยชน์การซื้อที่ดินนั้นไม่มีความจำเป็นในขณะนี้เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต้องการเงินลงทุนต่างชาติในรูปแบบนี้มากนัก จึงไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายดังกล่าว
นอกจากนี้เมื่อมีการผ่านกฎหมายลักษณะนี้สิ่งที่จะตามมาคือการเข้ามาเก็งกำไรที่ดิน โดยเฉพาะรูปแบบนอมินี โดยเฉพาะประเทศจีนและอินเดีย ที่จะเข้ามาลงทุนแบบนอมินีและกว้านซึ่งที่ดินไทย ไปเป็นแหล่งที่อยู่ทำให้ราคาที่ดินแพงขึ้น คนไทยก็จะเข้าถึงที่ดินยากขึ้น และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือนอมินีนำที่ดินไปทำการเกษตรก็จะเป็นการแข่งขันและแย่งอาชีพคนไทย
นอกจากนั้นยังมองว่าหากรัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปควรจะมีการปรับเงื่อนไขต่างให้รัดกุมมากกว่าที่กำหนดชาวต่างชาติที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดสามารถซื้อที่ดินในประเทศไทย แลกกับนำเงิน 40 ล้านบาทเข้ามาลงทุนเป็นเวลา 3 ปี โดยควรให้มีการลงทุนในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และต้องคงลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า10 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่รัดกุมมากขึ้นในการให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในประเทศไทย
ขณะที่ในฟากฝั่งของรัฐบาลเมื่อมีข้อทักท้วงและวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขกฎกระทรวงในเรื่องนี้ในวงกว้างทำให้รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง โดยในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ครม.มีการหารือกันในเรื่องนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นหน่วยงานหลักในการชี้แจง ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้บอกว่าในเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นที่กฤษฎีกาจะเปิดรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอน และยังสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้เป็นข้อกฎหมายที่มีความเหมาะสมที่สุด
มอบกฤษฎีการับฟังความคิดเห็นรอบด้าน
ด้าน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ปี 2545 โดยเมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปรัฐบาลก็เห็นสมควรว่าจะมีการหยิบกฎหมายขึ้นมาปรับปรุงอีกครั้งเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในกลุ่มที่มีความสามารถ และทักษะสูง โดยการแก้ไขกฎกระทรวงในครั้งนี้ว่ารัฐบาลได้ส่งร่างกฎกระทรวงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และปรับปรุงรายละเอียดกฎหมายและนำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง
โดยในขั้นตอนการแก้ไขทบทวนร่างกฎกระทรวงของคณะกรรมการกฤษฎีการัฐบาลจะรับเอาข้อเสนอทุกอย่างมาพิจารณาถึงความเหมาะสมเพื่อให้กฎกระทรวงที่จะบังคับใช้นี้มีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยจะรับข้อเสนอที่จะพิจารณาอีกครั้งมีทั้งในเรื่องจำนวนวงเงินลงทุนที่มีข้อเสนอให้เพิ่มเงินลงทุนในไทยมากขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 40 ล้านบาท รวมถึงการคงระยะเวลาในการลงทุนในไทยจากที่ ครม.เห็นชอบให้คงเงินลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี
นอกจากนี้ยังรวมทั้งข้อเสนอที่กำหนดว่าไม่ให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินแล้วขายต่อเปลี่ยนมือก็กำลังพิจารณา และไม่ให้ซื้อที่ดินแปลงที่ดินที่ใกล้กันเพื่อป้องกันการถือครองที่ดินแปลงขนาดใหญ่ของต่างชาติด้วย
ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา ปกรณ์ นิลประพันธ์ ชี้แจงว่าร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. ….ที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้วนั้นได้ส่งมายังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยตามขั้นตอนแล้วการพิจารณาตรวจแก้ร่างกฎกระทรวงในชั้นกฤษฎีกา จะนำเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำขึ้นสู่เว็บไซต์กลางของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน
โดยวัตถุประสงค์ของการออกกฎหมายฉบับนี้ผู้เสนอกฎหมายระบุว่าเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่มีการย้ายฐานการผลิตเนื่องจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงต้องการต่างชาติที่มีกำลังทรัพย์เข้ามา
“การแก้กฎหมายนี้ต้องใช้เวลา แต่ระหว่างนี้ก็ใช้กฎหมายเก่าได้ แต่ปัญหาของกฎหมายเก่าเพราะกว้างเกณฑ์ไป แต่ฉบับใหม่ต้องการดึงดูดคนที่เป็นเป้าหมายจริง ๆ เข้ามา”นายปกรณ์กล่าว
เมื่อกฤษฎีกานำร่างฯกลับมาให้ครม.พิจารณา กฤษฎีกาอาจจะมีความเห็นกลับมาในประเด็นเรื่องหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีความเห็นว่า ระยะเวลาการลงทุนสั้นไปหรือยาวไป เงินทุนมากไปหรือน้อยเกินไป ขึ้นอยู่กับครม.จะตัดสินอย่างไร ครม.อยากจะเปลี่ยนหรือแก้ไขตรงไหนเพิ่มเติมเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย ส่วนคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงฝ่ายปฏิบัติเท่านั้น
กฤษฎีกาชี้ให้เช่าระยะยาวทำได้
สำหรับข้อเสนอเรื่องของการเปลี่ยนจากการอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินเป็นการให้เช่าระยะยาวแทน นายปกรณ์ระบุว่าในเรื่องนี้ทำได้อยู่แล้ว ที่เรียกว่า “รีทโฮล” คือ เช่าระยะยาว โดยร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับปัจจุบันสามารถทำได้เลย ภายใต้ประมวลแพ่ง กฎหมายที่ดิน ไม่ต้องมีสิทธิ์ก็ได้ มาเช่า ตราบใดที่เขามีสิทธิ์ที่จะอยู่ในราชอาณาจักรก็สามารถที่จะเข้ามาเช่าที่ดินได้
โดยถ้าเทียบกับร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับใหม่กับกฎกระทรวงฯ ฉบับเก่าสาระสำคัญแตกต่างกันอย่างไร นายปกรณ์กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับใหม่ ตรงกับวัตถุประสงค์มากขึ้นเพราะแต่เดิมกฎหมายนี้เขียนไว้กว้างๆ แต่ตอนนี้ต้องได้วีซ่าระยะยาว (LTR) ก่อนซึ่งบีโอไอจะต้องเป็นการคัดกรองก่อน ถึงจะยื่นขอซื้อที่ดินได้ ไม่ใช่ใครก็ได้เหมือนในอดีต และแม้จะมีการแก้กฎกระทรวงส่วนนี้ก็ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อที่ดินเพราะวิธีคิดของต่างชาติและคนไทยต่างกัน
ส่วนการป้องกันการรวมเป็นที่ดินแปลงใหญ่ทำอย่างไรได้บ้าง นายปกรณ์กล่าวว่า การรวมที่ดินแปลงใหญ่ไม่มีอยู่แล้ว ที่มีคือเรื่องนอมินีทำไมไม่ไปไล่จับพวกนอมินี ที่ตอนนี้ทำกันอยู่น่ากลัวกว่า
“กฎกระทรวงฯ ฉบับปี 45 ที่มีเพียง 8 คน เพราะไม่ได้ดึงดูด จึงไปแอบตั้งบริษัท ไปหาภรรยาคนไทย หาสามีไทยและมาซื้อที่ดิน ควรเอาใต้ดินขึ้นมาไว้บนดิน และจำกัดสิทธิ์ ซึ่งที่ดินโอนไปไหนไม่ได้ ยกไปไหนไม่ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ต่างชาติซื้อ ปัญหาอยู่ที่แลนด์ลอร์ดคนไทย ถือที่ดินเป็นหมื่น ๆ พัน ๆ ไร่ ในสภาก็มี เศรษฐีก็ถือ ทำไมไม่กระจายให้เป็นธรรม ต้องจัดการที่ต้นเหตุ ทำอย่างไรให้คนที่มีอยู่เยอะมาก เป็นร้อย เป็นพันไร่ ให้กระจายออกมาข้างนอก ดีกว่าไม่เล่นคำว่าขายชาติ”
“อนุพงษ์”แจงสภาฯไม่คิดขายชาติ
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงเรื่องกฎกระทรวงมหาดไทยต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการตอบกระทู้สดฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ว่าร่างกฎกระทรวงใหม่มองในเรื่องการให้ต่างชาติที่อยากมาพำนักในประเทศไทยระยะยาว ได้ลงทุนด้วย โดยมีขั้นตอนการพิจารณากลั่นกรองคนกลุ่มนี้เข้ามาที่จะต้องได้ LTR VISA ก่อน ซึ่งการออกกฎกระทรวงใหม่มีความรัดกุมมากกว่าเดิม เพราะกำหนดระยะเวลาลงทุน 3 ปี จึงจะขายได้ มีการเพิ่มว่าต้องลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และที่ดินต้องอยู่ในเขตที่กำหนดว่าอนุญาตให้เป็นที่อยู่อาศัยได้
ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาขายชาติ หากมาพูดว่าขายชาติคงต้องปฏิเสธว่าไม่มี และไม่มีใครคิดเช่นนั้น และไม่ได้ต้องการให้ต่างชาติครอบครองที่ดินตามที่เกรงกลัว เรามีมาตรการระเบียบรองรับแล้ว ร่างกฎกระทรวงนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทราบว่ากำลังจะรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ประชาชนหายแคลงใจ อาจกำหนดให้เข้มงวดมากกว่านี้ หากประชาชนไม่สบายใจมีความกังวลมาก คิดว่าอาจจะล้มก็ได้ ไม่มีอะไรเสียหน้าทั้งนั้น
“สุพัฒนพงษ์” พร้อมถอยหากสังคมไม่พร้อม
ขณะที่สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย(คสดช.) ณ ศูนย์บริการ One Stop Service (กม.พิเศษ และ BOI) อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 18 โดยระบุถึงร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ตอนหนึ่งว่าเรื่องนี้ตนชี้แจงในสภาฯว่าเป็นทางเลือกของคนที่ประสงค์จะอยู่ในประเทศไทยจริงๆและอยาก เข้ามาอยู่ในระบบที่ถูกต้อง ไม่ต้องไปใช้ช่องว่างทางกฎหมาย และไม่ได้คิดว่าไม่มีเรื่องนี้แล้ว การดึงดูดชาวต่างชาติคุณภาพสูงจะไม่สำเร็จ เพราะต่างชาติที่มาอยู่ในไทยอาจใช้วิธีการเช่า 30 ปี และเพิ่มอีก 30 ปีก็ทำได้ หรือซื้อคอนโดมิเนียม ในสัดส่วนไม่เกิน 49% หรือจะเลือกเช่าโรงแรมอยู่ก็ได้
อย่างไรก็ตามในที่สุดถ้าขั้นตอนการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากประชาชนแล้วยังเห็นว่า ต้องระงับหรือแก้ไขอะไรก็มาดูกันว่าเป็นอย่างไร กฎกระทรวงเดิมก็มีอยู่แล้วอย่างไรก็ตามก็เป็นทางเลือก ไม่ได้บอกว่าจะต้องมีและต้องขายพ่วง เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันเพียงแต่ว่าถ้าหากมีหลักเกณฑ์ใหม่ ก็เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งแต่ถ้าไม่ได้เพราะประชาชนคิดว่า ไม่ยอมรับก็ยังมีทางเลือกอื่นๆอีก หรือกลับไปให้คงการลงทุนในไทย 5 ปีเหมือนเดิมก็ไม่มีปัญหา หากสังคมมองว่าไม่เหมาะสม ยังไม่พร้อม ไม่เป็นที่ยอมรับ ก็ไม่ได้ติดใจอะไร ต้องฟังเสียงประชาชนและผู้ประกอบการ