รัฐไฟเขียวสร้าง 2 บิ๊กโปรเจ็กต์ในภาคใต้ ‘สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา – สะพานเชื่อมเกาะลันตา’
ครม.ไฟเขียวสร้าง “สะพานข้ามทะเลสาบสงขลาและสะพานเชื่อมเกาะลันตา” มูลค่ารวม 6,695 ล้านบาท เล็งปั้นเป็นแลรด์มาร์กใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว – ยกระดับการเดินทาง ขณะที่ ทช. เตรียมเปิดประมูลในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดเปิดใช้บริการได้ปี 2569
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินการก่อสร้างสะพานในพื้นที่ภาคใต้ 2 แห่ง มูลค่ารวมประมาณ 6,695 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอขออนุมัติ เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา
โครงการแรก คือ โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง – ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ วงเงิน 1,854 ล้านบาท
โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นบริเวณถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 (กม.ที่ 26+620) ตำบลเกาะกลาง ไปบรรจบกับทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ตำบลเกาะลันตาน้อย รวมระยะทางตลอดโครงการ 2,240 เมตร
ตัวสะพานจะก่อสร้างเป็นรูปแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานยื่น (Balanced Cantilever Bridge) ความยาวสะพาน 1,825 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ช่องจราจรละ 3.75 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.5 เมตร พร้อมถนนต่อเชื่อมทั้งสองฝั่งรวมระยะทาง 415 เมตร
โครงการนี้มีกรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,854 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท (เป็นเงินกู้ 70% จำนวน 1,260 ล้านบาท เงินสมทบ 30% จำนวน 540 ล้านบาท) และค่าควบคุมงาน 54 ล้านบาท (ใช้เงินสมทบ 100%) โดยกระทรวงการคลังจะจัดหาแหล่งเงินกู้ให้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทช. ได้สำรวจออกแบบโครงการดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย และผ่านการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ของสำนักนโยบายและเเผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว
สำหรับเหตุผลความจำเป็นในการก่อสร้าง เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางระหว่างแผ่นดินใหญ่ ต.เกาะกลาง และเกาะลันตา จะต้องใช้แพขนานยนต์ไปยังเกาะลันตาน้อย ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทางซึ่งผู้โดยสารจะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง 1 – 2 ชั่วโมง
ประกอบกับในบางเวลา จะมีปัญหาในเรื่องของระดับน้ำทะเลที่ขึ้นลงตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอุปสรรคของแพขนานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ทช. จึงกำหนดที่จะก่อสร้างโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนสายหลัก แก้ปัญหาการเดินทางที่ล่าช้าโดยแพขนานยนต์ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นและภูมิภาค
อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วย
ส่วนอีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา – ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วงเงิน 4,841 ล้านบาท
มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกจากถนนทางหลวงชนบทสาย พท.4004 (กม.ที่ 3+300) บ้านแหลมจองถนน ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วางแนวข้ามทะเลสาบสงขลา ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และมีจุดสิ้นสุดที่ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ถนนรอบเกาะใหญ่) บริเวณ หมู่ 2 บ้านแหลมยาง ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร
โดยสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge)
บริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์
โครงการนี้มีกรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น จำนวน 4,841 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 4,700 ล้านบาท (เป็นเงินกู้ 70% จำนวน 3,290 ล้านบาท เงินสมทบ 30% จำนวน 1,410 ล้านบาท) และค่าควบคุมงาน 141 ล้านบาท (ใช้เงินสมทบ 100%) โดยกระทรวงการคลังจะจัดหาแหล่งเงินกู้ให้เช่นกัน
สำหรับเหตุผลความจำเป็นในการก่อสร้าง คือ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะทางระหว่าง อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา – อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เป็น 7 กิโลเมตร และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เป็น 15 นาที
สามารถพัฒนาการขนส่งโลจิสติกส์และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทะเลอันดามัน – อ่าวไทย และเชื่อม 3 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง และสงขลา
ช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวงและแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางในกรณีเกิดภัยพิบัติ จะสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทช.ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว
อย่างไรก็ดี ที่ประชุม ครม. ได้มีการกำชับว่าการดำเนินโครงการจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงการคลังจะประสานกับหน่วยงานต่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมในการกำหนดแนวทางป้องกัน ไม่ให้กระทบสัตว์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองต่อไปด้วย
ทั้ง 2 โครงการนี้ ทช. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2566 โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี คือระหว่างปี 2566 – 2568 และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2569