แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดันจีดีพี 3.3%
รัฐต่อคนละครึ่ง – ฟื้นช้อปดีมีคืน
เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ถือว่าเป็นปีแรกที่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่วัดจากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ตามศักยภาพคือขยายตัวได้ในระดับ 3% หรือสูงกว่า 3% หลังจากที่ใน 2 ปีที่เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจของไทยเผชิญมรสุมโดยในปี 2563 จีดีพีติดลบ 6.2% และในปี 2564 จีดีพีของไทยก็ขยายตัวได้เพียง 1.2% ถือว่าฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศเนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจและการจ้างงานที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงถึงประมาณ 17% ของจีดีพี
หน่วยงานเศรษฐกิจมองจีดีพีไทยโตเกิน 3%
ทั้งนี้จากฐานของจีดีพีที่ขยายตัวต่ำในปีที่ผ่านมา บวกกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจในประเทศตามการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนในปี 2565 ช่วยหนุนเสริมให้จีดีพีในปีนี้กลับมาขยายตัวได้ในระดับ 3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขนี้เป็นการคาดการณ์จากหน่วยงานเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 3.3% สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าจีดีพีไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.7 – 3.2% โดยมีค่ากลางที่ 3% ส่วนกระทรวงการคลังนั้น พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่ากระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3 – 3.5% และในปีหน้าจะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ระดับ 4% ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้ว่าหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ในระดับ 3% หรือสูงกว่า 3% แต่แนวคิดของรัฐบาลต้องการที่จะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่ออัดเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจช่วงท้ายของปี 2565 มีการขยายตัวได้ตามเป้าและเป็นแรงส่งไปยังปี 2566 ที่จะมาถึง โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.แล้วว่าให้มีการเตรียมวงเงินทั้งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาน้ำท่วม โดยใช้จากงบกลางรายการเพื่อสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนวงเงินเบื้องต้น 2.3 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้จะใช้เฉพาะกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 6 พันล้านบาทเป็นอย่างน้อย
ครม.ถกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมาได้มีการหารือกันถึงมาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะใส่เม็ดเงินลงไปเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในช่วงปลายปีซึ่งนอกจากการเยียวยาน้ำท่วมที่ผู้ประสบภัยจะได้รับการเยียวยาไม่ต่ำกว่าครัวเรือนละ 3,000 บาท ตามหลักเกณฑ์การเยียวยาน้ำท่วมที่มีมติ ครม.ในปี 2560 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ซึ่งเหลือเวลาอยู่ประมาณ 2 เดือนในช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค.ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเหมือนกับในปีก่อนๆ
สุพัฒนพงษ์ระบุว่าในส่วนของมาตรกากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี กระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างการรวบรวม เบื้องต้นคาดว่าจะมีมาตรการที่คล้ายๆกับในปีที่ผ่านมา เช่น การต่ออายุมาตรการคนละครึ่ง มาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เงินงบประมาณบางส่วนและเงินที่เหลือจากโครงการครั้งก่อนที่ยังมีเงินเหลืออยู่ ซึ่งจะมีความชัดเจนในช่วงประมาณกลางเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ ธปท.ระบุว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.3% ซึ่ง ธปท.ประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับที่รัฐบาลประเมินไว้
นอกจากนั้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายจะเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 10 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
จ่อคลอดคนละครึ่งเฟส 6 – ช้อปดีมีคืน
สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานระบุว่าลักษณะของโครงการจะไม่ใช่โครงการใหม่แต่จะเป็นโครงการเดิมที่รัฐบาลเคยทำแล้วประสบผลสำเร็จมาแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่งที่จะต่ออายุออกไปเป็นเฟสที่ 6 และโครงการช้อปช่วยชาติหรือโครงการช้อปดีมีคืนที่กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาโครงการทั้งหมด และอยู่ในลิสต์ที่มีความพร้อมในระดับหนึ่งที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้โดยแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินการมาจากเงินงบกลางฯ และอีกส่วนคือเงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ที่ยังเหลืออยู่จากการอนุมัติโครงการเดิมแล้วประชาชนใช้จ่ายไม่หมดตามวงเงินที่กำหนดไว้ในโครงการ โดยโครงการในลักษณะนี้จะช่วยเรื่องการอุปโภคบริโภคที่เป็นปัจจัยสำคัญ โดยจะนำแพ็กเกจเข้า ครม.เห็นชอบให้ได้เร็วที่สุด คาดว่าราวกลาง พ.ย.พร้อมกับแพคเกจของขวัญปีใหม่จากกระทรวงอื่นๆเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล
ทั้งนี้ในส่วนของการใช้เงินกู้ฯที่ยังเหลืออยู่ต้องมีการเสนอแก้ไขระเบียบการใช้เงินกู้ที่เดิมครบกำหนดการอนุมัติโครงการตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา โดยการปรับเงื่อนไขให้ใช้วงเงินจากส่วนนี้ได้ต้องเป็นการใช้เงินจากโครงการลักษณะเดียวกันที่เหลืออยู่โดยไม่ต้องเพิ่มวงเงินแต่อย่างใด
คลังคาดท่องเที่ยว – ค้าชายแดนหนุนจีดีพี
ด้านอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะออกมาในช่วงปลายปีนี้ว่ากระทรวงการคลังกำลังพิจารณาอยู่ โดยส่วนหนึ่งมาตรการที่จะออกมาต้องเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปีนี้และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตหรือเป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การช่วยเหลือค่าไฟฟ้า โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการดำเนินการการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะมีผลในต้นปีหน้า ซึ่งโครงการลักษณะนี้เป็นโครงการดูแลกำลังซื้อในประเทศ ช่วยให้การบริโภคในประเทศฟื้นตัว
ก่อนหน้านี้รมว.คลังกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3-3.5% ได้อย่างไม่มีปัญหา เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดี โดยในปีนี้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน ทำให้เป้าหมายนักท่องเที่ยวทั้งปีที่ 8-10 ล้านคนน่าจะเป็นไปได้ นอกจากนี้การส่งออกในปีนี้หากสามารถขยายตัวได้ถึง 10% ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าจะช่วยภาคการส่งออกและช่วยให้เม็ดเงินไหลเข้าประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ ธุรกิจที่ได้ประโยชน์คือธุรกิจท่องเที่ยวและการส่งออกที่จะได้กำไรเพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3 – 4% เนื่องจากการท่องเที่ยวและส่งออกจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาครัฐก็จะเพิ่มขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่กระทรวงการคลังใช้ทำงบประมาณในปี 2566 จึงมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในกรอบดังกล่าว
ทั้งนี้ในปี 2566 นอกจากภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจแล้วยังมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการลงทุนของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินจากงบประมาณ รัฐวิสาหกิจ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มกลับมาหลังจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารวมถึงการค้าชายแดนก็เป็นอีกปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ซึ่งหากมีการเปิดชายแดนเพื่อทำการค้าและการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจมากขึ้น ให้เพื่อนบ้านเข้าประเทศมาซื้อสินค้า จับจ่าย และรักษาพยาบาล ก็จะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าประเทศเพิ่มขึ้น
สำหรับคำถามว่ากระทรวงการคลังจะออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคในอนาคต รวมถึงโครงการคนละครึ่ง เฟส 6 หรือไม่ รัฐมนตรีคลังชี้แจงว่า ทั้งมาตรการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน เป็นมาตรการที่มาจากเงินกู้ไม่ใช่เงินจากงบประมาณ เนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจมักจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ก็ออกมาเพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อและเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งหมายความว่า ยิ่งกู้มากเท่าไรก็ยิ่งสร้างต้นทุนทางการคลังเพิ่มขึ้นเท่านั้น
เข็นช้อปดีมีคืนพ่วงท่องเที่ยวกระตุ้นใช้จ่าย
ในส่วนของโครงการ “ช้อปดีมีคืน” นั้นรัฐบาลเตรียมนำมาตรการช้อปดีมีคืน กลับมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2565 อีกครั้งหลังจากหลายปีก่อนมีมาตรการช้อปช่วยชาติกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีมาตลอด แต่ในปี 2565 นั้นได้มีการทำมาตรการนี้ไปแล้วช่วงต้นปี หากมีการออกมาตรการช้อปดีมีคืนช่วงปลายปีนี้อีกก็จะเท่ากับว่ามาตรการนี้มีการถูกใช้ 2 ครั้งในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตามหากคิดในเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับปีภาษีนั้นต้องถือว่าเป็นคนละปีงบประมาณกันจึงเป็นทางเลือกที่รัฐบาลสามารถทำได้หากจะนำมาตรการช้อปดีมีคืนมากระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ โดยจะมีการเสนอมาตรการนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.อย่างเร็วที่สุดคือในวันอังคารหน้า (25 ต.ค.) หรือหากไม่ทันก็อาจจะต้องรอไปจนถึงเดือน พ.ย.ที่จะเสนอเข้า ครม.เป็นแพคเกจเดียวกับของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลในส่วนของชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยมีความเป็นไปได้ว่ามาตรการช้อปช่วยชาติในปีนี้จะรวมเอามาตรการเราเที่ยวด้วยกันไปรวมกับมาตรการช้อปดีมีคืนด้วยโดยให้จองห้องพักและสายการบินแล้วนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ โดยที่ภาครัฐจะไม่มีการต่ออายุมาตรการเราเทียวด้วยกันออกไปอีกเนื่องจากมาตรการส่งเสริมภาคท่องเที่ยวเมื่อครั้งที่ผ่านๆมาทั้งเราเที่ยวด้วยกัน และทัวร์เที่ยวไทยนั้นเป็นการใช้เงินจากแหล่งเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯซึ่งเงินกู้หมดลงแล้วและวงเงินในโครงการเราเที่ยวด้วยกันนั้นมีผู้ใช้สิทธิ์เต็มจำนวนแล้วทำให้ไม่มีวงเงินในการดำเนินโครงการต่อจึงอาจใช้วิธีการให้ประชาชนใช้จ่ายในกรอบวงเงินนี้แล้วนำมาลดหย่อยภาษีได้ ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรม และรีสอร์ตหากเป็นกิจการที่มีการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน
ช้อปดีมีคืนดันจีดีพี 0.3%
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้มีการประเมินผลต่อเศรษฐกิจจากการใช้มาตรการช้อปดีมีคืนว่าจะส่งผลให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3% โดยหากประเมินจากฐานข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ 3.7 ล้านคน ซึ่งจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1.4 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศช่วงปลายปีซึ่งจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สูงสุด 1.11 แสนล้านบาท
ในขณะเดียวกันจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาส่วนหนึ่งจากการหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการของผู้มีเงินได้ แต่จะกระตุ้นการบริโภคในประเทศที่จะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม และเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาวด้วย
ต้องจับตาว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลมีความคึกคักมากแค่ไหน และจะเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งได้มากน้อยเพียงใด