เปิด 3 แหล่งท่องเที่ยวไทย ดีแค่ไหนถึงติด TOP 100 เมืองท่องเที่ยวยั่งยืนโลก

เป็นข่าวดีต้อนรับไฮซีซั่น หลัง Green Destinations Foundation หน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไรระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ประกาศให้แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย 3 แห่ง ติดอันดับ Top 100 Destination Sustainability Stories 2022 หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนใน 100 แห่งของโลก ประจำปี 2565
ถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วโลกจะได้รับการจัดให้ติดอันดับเรื่องความยั่งยืนครั้งนี้ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา

นั่งจึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีถึงที่สุดของประเทศไทย ที่กำลังหาทางฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้งในรอบกว่า 3 ปี หลังจากเจอมรสุมโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ฉุดการท่องเที่ยวให้ชะงักไปพักใหญ่ ซึ่ง 3 แหล่งท่องเที่ยวที่ติดอันดับนั้นก็กระจายอยู่ใน 3 ภาค นั่นคือ เกาะหมาก จังหวัดตราด, บ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสาปยา จังหวัดชัยนาท
เราไปทำความรู้จักกับ 3 แหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่ของ Top 100 โลกกันว่า แต่ละแห่งมีความน่าสนใจอย่างไร และจุดเด่น ไฮไลต์ที่น่าเดินทางไปเยือนสักครั้งนั้นมีอะไรกันบ้าง
เที่ยวแบบโลว์คาร์บอนที่ “เกาะหมาก”

เริ่มต้นกันที่ “เกาะหมาก” จังหวัดตราด ถือเป็นเกาะขนาดใหญ่ แห่งหนึ่งทางฝั่งบูรพา มีรูปร่างคล้ายดาวสี่แฉก อยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด ห่างจากฝั่งประมาณ 38 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,000 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสวนมะพร้าว โดยรอบมีอ่าว ชายหาดที่สวยงาม และน้ำใสสะอาดหลายแห่ง เช่น บริเวณอ่าวตานิด อ่าวไผ่ อ่าวโปร่ง อ่าวผาด อ่าวแดง อ่าวส่วนใหญ่ บริเวณชายฝั่งรอบเกาะและเกาะใกล้เคียงพบแนวปะการังที่สมบูรณ์ และสวยงาม
บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว โดยประวัติคร่าว ๆ ชุมชนดั้งเดิมบนเกาะหมากส่วนใหญ่เป็นเขมรเชื้อชาติไทยที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อครั้งเมืองประจันตคีรีเขตร หรือเกาะกงเป็นของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2447 โดยมีหลวงพรหมภักดี ต้นตระกูลตะเวทิกุล เป็นผู้ควบคุมคนจีนบนเกาะกง คนบนเกาะส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน มีอาชีพเกษตรกรรมทำสวนยางพารา และสวนมะพร้าว จนเกาะหมากได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญของจังหวัดตราด

อย่างที่หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าบริเวณโดยรอบเกาะหมากจะมีหาดทรายขาวสะอาด โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นอ่าว 3-4 อ่าว คือ อ่าวสวนใหญ่ อ่าวพระ อ่าวขาว อ่าวนิด และที่หมู่เกาะใกล้ๆมี แหล่ง ปะการังที่สวยงาม ดังนั้น เกาะหมากจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทางธรรมชาติที่สวยงามอีก แห่งหนึ่งของ หมู่เกาะในจังหวัดตราด ซึ่งใน2-3 ปีที่ผ่านมาเกาะหมากได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อนอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้พยายามผลักดันเกาะหมาก จังหวัดตราด ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Destination แห่งแรกของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการประสานความร่วมมือและการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน นำไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการวิจัยเรื่องการเพิ่มศักยภาพในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนผ่านธรรมชาติ
พร้อมทั้งผลักดันเกาะหมาก จังหวัดตราด ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีการคัดแยกและแปรรูปขยะจากการท่องเที่ยว ผ่านการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ ก่อนจะยกระดับ เกาะหมาก เป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยว รองรับการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ และใครไปที่นี่แล้วจะได้รับความสงบ และชื่นชมสิ่งแวดล้อมสวย ๆ ได้อีกด้วย
ชื่นชมวิถีชาวกะเหรี่ยง บ้านห้วยปูแกง
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับสมญานามว่าเป็น “เมืองสามหมอก” เนื่องจากมีภูมิประเทศที่รายล้อมด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน จึงมีอากาศเย็นสบายและมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี และนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิต ซึ่งเป็นที่นิยมทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ คือ อำเภอปาย ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและธรรมชาติที่สวยงามแล้ว แม่ฮ่องสอน ยังมีหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า “บ้านห้วยปูแกง” ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ชายแดนไทย-เมียนมา

หมู่บ้านแห่งนี้อาจจะไกลจากคำว่าทันสมัย แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ ความทันสมัยเอาชนะความเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวชุมชนแห่งนี้ไม่ได้ และสร้างมนต์สะกดกับนักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสไปเยือน สัมผัสกับความสวยงามทั้งต้นไม้ ป่าเขา บรรยากาศ อากาศหนาว และวัฒนธรรมของชาวกะยัน (กะเหรี่ยงคอยาว) ชาวกะยอ (กะเหรี่ยงหูใหญ่) กะแย (ชาวกะเหรี่ยงแดง) และชาวไต (ไทใหญ่) ซึ่งมีวิถีแตกต่างจากคนในเมือง รอคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าไปชมความเรียบง่าย และธรรมชาติ รวมถึงสายน้ำอันบริสุทธิ์
ประวัติของ “ห้วยปูแกง” เป็นคำเพี้ยนที่มาจากคำว่า “เฮกุเกแล” เป็นภาษากะเหรี่ยงแดง ตามความเป็นมากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดงที่อาศัยอยู่มาก่อน ได้เข้าไปทำไร่หมุนเวียนบริเวณหัวลำห้วย มีการเรียกกันติดปากว่า “เฮกุเกแล” แปลว่า “ไร่ในห้วย” ต่อมาจึงมีการตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ โดยให้ใกล้เคียงกับคำว่า เฮกุเกแล เป็น “ห้วยปูแกง” จึงใช้ชื่อหมู่บ้านนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนรายได้ของคนในหมู่บ้านห้วยปูแกง ส่วนใหญ่มีรายได้จากการขายของที่ระลึก ซึ่งมาจากการเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รับจ้างทั่วไป ล่าสัตว์ หาของป่า และการเกษตร ด้านของพิธีกรรมและความเชื่อชาวบ้านหมู่บ้านห้วยปูแกง ส่วนมากนับถือศาสนาคริสต์ทั้งนิกายคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ ยังมีความเชื่อเรื่องผี บรรพบุรุษ ผีธรรมชาติ และคติดั้งเดิมของชนเผ่า เช่น การนับถือต้นธี ซึ่งเป็นเสาหลักของขวัญกำลังใจหมู่บ้าน การขอพรจากผีเพื่อให้ผลผลิตจากไร่ได้ผลงอกงามดี
สำหรับหมู่บ้านห้วยปูแกงตั้งอยู่ริมน้ำปาย การไปชมกระเหรี่ยงคอยาวที่นี่จำเป็นจะต้องล่องเรือตามแม่น้ำปายเข้าไปตลอด สองฝั่งน้ำที่ ล่องไปงดงามด้วยวิวทิวทัศน์ของธรรมชาติทุ่งนาและป่าเขา เรือจะพาไปจอดเที่ยวภายในหมู่บ้าน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมภายในหมู่บ้านได้ สามารถพูดคุยและถ่ายรูปกับกะเหรี่ยงคอยาว นอกจากนี้ภายใน หมู่บ้านยังมีของฝากของที่ระลึกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเข้าไปชมการทอผ้าพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยงอย่างใกล้ชิด ซึ่งทุกขั้นตอนทำด้วยความประณีต เพราะทุกชิ้นผลิตจากมือล้วน ๆ
ชิม ช้อป ชิล ชุมชนท่องเที่ยวสาปยา

ส่งท้ายด้วย แหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งในภาคกลาง คือ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว เมืองสาปยา ชัยนาท ชุมชนย่านตลาดโรงพักเก่าสรรพยา ตั้งอยู่ในตำบลสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ในอดีตความเจริญรุ่งเรือง วิถีชีวิตชุมชนมีความสัมพันธ์กับสายน้ำเจ้าพระยา เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมีทุนทางวัฒนธรรมหลากหลาย ปัจจุบันพัฒนา เป็นแหล่งทองเที่ยวโดยชุมชน ที่มีการบริหารจัดการโดย “ชมรมฟื้นฟูตลาดเก่าสรรรพยา” ที่มีสมาชิกประกอบด้วยบุคลากรที่มาจากหลายภาคส่วนทั้งคนในชุมชน ภาครัฐ และเอกชน ในกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางการจัดการท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม
จุดเริ่มต้นชุมชนท่องเที่ยวสรรพยา ต้องย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 แหล่งท่องเที่ยวในย่านชุมชนนี้ รวมทั้งบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และประชาชนในชุมชน ได้รับการพัฒนาจากหลายหน่วยงานให้มีความพร้อมด้านการรองรับการท่องเที่ยว จึงได้ร่วมกันจัดงานถนนคนเดิน โดยใช้แนวคิด “ตลาดกรีนดี” (Green Market) งดใช้โฟม และพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง หันมาใช้วัสดุ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในชื่องานว่า “เที่ยววิถีชุมชนคนสาปยา” ตอน ย้อนรอยโรงพักบอกรักสรรพยา ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

ทำให้ต่อจากนั้นในช่วงเดือนส.ค.– ก.ย. 2561 ก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดชัยนาท ให้จัดกิจกรรมNight Market สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ สัปดาห์แรกของทุกเดือน โดยใช้แนวคิดตลาดกรีนดีเช่นเดิม และในปีงบประมาณ 2562 เทศบาลได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมหลักหมุนเวียนตามเทศกาลต่าง ๆ ในแต่ละเดือนตามที่กำหนดไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยว โดยไม่ซ้ำกันจนครบ 12 เดือน
ใครได้ลองไปที่นี่จะได้เดินชมตลาด ดูผู้คน ชาวบ้าน วิถีดั้งเดิม และจะได้เห็นกับของกินของอร่อยขึ้นชื่อหลายอย่าง ทั้งอาหาร ขนม ของฝาก จากวัตถุดิบในพื้นที่ ในอนาคตชาวบ้าน ได้ร่วมกันเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และชาวบ้านได้ศึกษาเรียนรู้ สร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์รากเง้าของชุมชน ก่อนหาทางดึงดูดนักท่องเที่ยวและยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในอนาคต
เอาเป็นว่าใครอยากลองไปเที่ยวที่ไหนก็ลองไปเที่ยวกันดู เพราะแต่ละที่มีความพิเศษ และไม่ธรรมดา เพราะปัจจุบันถือเป้นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนติดอันดับโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว