นายกฯเตรียม 2 หมื่นล้านเยียวยาน้ำท่วม เล็งกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปี 65
ปี 2565 เป็นอีกปีที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในวงกว้างจากอิทธิพลของภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “ภาวะโลกร้อน” นักวิชาการด้านการสิ่งแวดล้อมต่างลงความเห็นว่าเป็นภาะ “ลานีญา” ที่ทำให้ฤดูฝนที่ตกตั้งแต่เดือน มิ.ย. – ต.ค.มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในวงกว้าง
จากข้อมูลของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าอิทธิพลของพายุ ผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย รวมถึงพายุโนรู ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง
โดย ปภ.ระบุว่าในช่วงที่มีพายุโนรู และหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมในหลายจังหวัดทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่องจนทำให้เกิดน้ำท่วมระหว่างช่วงปลายเดือน ก.ย.ถึงวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมาจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง รวม 33 จังหวัด 157 อำเภอ 881 ตำบล 5,409 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 224,774 ครัวเรือน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางบางจังหวัดมีแนวโน้มระดับน้ำจากการระบายน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ รวมทั้งอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงทำให้สถานการณ์น้ำท่วมจะยังไม่คลี่คลายในเวลารวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ในภาพรวมแม้รัฐบาลจะยืนยันว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ความเสียหายน้อยกว่าในปี 2554 ที่เรียกว่า “มหาอุทกภัย” ที่ธนาคารโลก (world bank) ได้ประเมินความเสียหายเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยเมื่อ 11 ปีที่แล้วว่ามีความเสียหายถึง 1.1 ล้านล้านบาท โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่าสูงมากเนื่องจากเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีพื้นที่เศรษฐกิจจำนวนมาก
กกร.ประเมินน้ำท่วมปี 65 เสียหายหมื่นล้าน
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบไปด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย แถลงล่าสุดถึงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 ว่าภาคเอกชนคาดการณ์ความเสียหายของเหตุการณ์น้ำท่วมรวมทั้งประเทศ ประมาณ 5,000 – 10,000 ล้านบาท
ภาคเอกชนมีความห่วงใยในพื้นที่โซนเมืองในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจกระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชน ขณะที่ภาคการเกษตรได้ผลกระทบบ้างในพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่ไม่กระทบข้าวนาปี ส่วนภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการ ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยได้จึงยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถรับมือสถานการณ์ได้ไม่กระทบรุนแรงเท่ากับปี 2554 จากการที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขนาดนี้เขื่อนหลัก ๆ ยังมีความสามารถที่จะรองรับน้ำได้อีก 20% ของความจุโดยผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมก็มีประสบการณ์และมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้น้ำลดลงโดยเร็วที่สุดซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย
หอการค้าคาดการณ์น้ำท่วมเสียหาย 2 หมื่นล้าน
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจหอการค้าไทยมีการปรับการประเมินตัวเลขความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2565 จากเดิมที่คาดว่าจะมีความเสียหายประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 12,000-20,000 ล้านบาท
โดยจากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้มีจังหวัดที่น้ำท่วมมีทั้งหมด 52 จังหวัด เฉลี่ยความเสียหายเบื้องต้นจังหวัดละ 100 ล้านบาท ซึ่งยังถือว่ากระทบเศรษฐกิจไม่มาก และกระทบต่อจีดีพีประเทศ 0.1-0.5%
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่น้ำท่วมผ่านพ้นไปแล้วจะมีกลไกเข้าไปเยียวยาฟื้นฟู ม.หอการค้าไทย จึงมองว่าน้ำท่วมครั้งนี้ผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่มากนัก แต่จะกระทบหนักในบางจังหวัดและบางพื้นที่เท่านั้น และยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังขยายตัวได้ 3.3-3.5%
อุบลฯวิกฤติน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ
นอกจากนี้การประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมของ ม.หอการค้าเป็นการประเมินในภาพรวม และเบื้องต้นยังไม่รวมความเสียหายในบางจังหวัดที่มีน้ำท่วมยาวนานความเสียหายทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่น้ำท่วมขังเช่นจังหวัดที่มีน้ำท่วมหนักและเป็นระยะเวลานาน เช่น ที่จ.อุบลราชธานีที่มีการประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมในครั้งนี้ถึง 10,000 ล้านบาท ซึ่งสูงจากน้ำท่วมเมื่อปี 2562 ที่เสียหายประมาณ 5,800 ล้านบาท
ทั้งนี้การประเมินความเสียหายในจ.อุบลราชธานีมาจากหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้มีการรวมเอา การเสียโอกาสทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ห้างสรรพสินค้าในตัวเมืองที่ต้องถูกปิดจากน้ำท่วม ธุรกิจหลายแห่งหยุดชะงักไป เพราะกระแสน้ำตัดเส้นทางขนส่ง ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยจังหวัดได้มีประเมินผู้ที่ได้รับผลกระทบว่าจะมีประมาณ 46,000 คน รวม 17 อำเภอ
จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่น้ำสูงกว่าตลิ่งกว่า 4.5 เมตร คาดการณ์ว่ากว่าที่จะเข้าสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลาอีกกว่า 40 วัน หรือราวกลางเดือน พ.ย. และต้องใช้ระยะเวลาการฟื้นฟูอีก 2 เดือน สำหรับธุรกิจในอุบลราชธานีที่จะดำเนินการได้เต็มรูปแบบหรือต้องข้ามไปจนถึงต้นปี 2566 สถานการณ์จึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ถือว่าเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของจังหวัดในรอบหลายสิบปี
“ประยุทธ์”สั่งเตรียมงบฯ 2.3 หมื่นล้าน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดที่เกิดขึ้นรัฐบาลได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รวมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายคนได้เดินทางลงไปในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเพื่อเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยและสั่งการให้มีการช่วยเหลือในเบื้องต้น
ทั้งนี้ในการประชุม ครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวในที่ประชุม ครม.ว่าได้กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ว่าขอให้หน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทั่วถึง
โดยเบื้องต้นรัฐบาลได้เตรียมวงเงินไว้ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท จากงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปี 2566 ซึ่งมีวงเงินในส่วนนี้รวมกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งย้ำว่าการประเมินวงเงินในการช่วยเหลือน้ำท่วมในวงเงินดังกล่าวเป็นการประเมินเบื้องต้น ส่วนเมื่อน้ำลดลงแล้วจะมีการประเมินความเสียหายเพิ่มเติมว่าจะต้องมีการเยียวยาเพิ่มเติมหรือไม่
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมเรื่องวงเงินที่จะใช้ให้พร้อมและพอเพียง โดยนอกจากงบกลางฯแล้วให้หน่วยงานราชการต่างๆที่มีวงเงินงบประมาณสามารถขอปรับเปลี่ยนรายการงบประมาณมาใช้ในการเยียวยาอุทกภัยเพื่อปรับเปลี่ยนโครงการเข้ามาได้
เยียวยา 2 ล้านครัวเรือน 6 พันล้าน
ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในปี 2565 สำนักงบประมาณ เปิดเผยเพิ่มเติมว่านายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดทำประมาณการเบื้องต้นของวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการเยียวยาประชาชนจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด รวมทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะดำเนินการในช่วงปลายปี และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในช่วงปลายปี ที่มีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
ในส่วนของการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมจะใช้ระเบียบการเยียวยาผู้ประสบอุกภัยตามมติ ครม. 8 ส.ค.2560 โดยประมาณการเบื้องต้นว่ามีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2565 ประมาณ 2 ล้านครัวเรือน ซึ่งตามหลักเกณฑ์รัฐบาลจะจ่ายเยียวยาครัวเรือนละ 3,000 บาท รวมวงเงินประมาณ 6 พันล้านบาท
สำหรับความเสียหายเพิ่มเติมในพื้นที่ต่างๆที่อาจมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่รัฐบาลประเมินหรือไม่ ต้องรอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการสำรวจความเสียหาย อีกทั้งการสำรวจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับการสำรวจพื้นที่เสียหายภาคเกษตร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รัฐต้องจ่ายชดเชยเกษตรกรที่พืชผลและปศุสัตว์เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้
ในส่วนของความเสียหายจากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน สะพาน ที่ได้รับความเสียหาย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการใน ครม.ว่าเนื่องจากเพิ่งเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ ให้หน่วยงานต่างๆที่มีงบประมาณรองรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ใช้งบประมาณในส่วนที่มีอยู่ไปใช้ในการซ่อมแซมสิ่งที่เสียหายจากน้ำท่วมเป็นลำดับแรกก่อน หากงบประมาณไม่พอเพียงจึงให้ของบประมาณเพิ่มเติมจากงบกลางฯเพื่อสนับสนุนในส่วนดังกล่าว
เล็งต่ออายุคนละครึ่ง–เราเที่ยวด้วยกัน
นอกจากนั้นวงเงินในส่วนที่เหลือจากการจ่ายเยียวยาน้ำท่วม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงงานเศรษฐกิจเตรียมคิดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2565 เพื่อให้ในช่วงเวลาที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐออกมาอย่างทันท่วงที โดยอาจะใช้เป็นโครงการที่เคยใช้แล้วได้ผลมาแล้วในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง เป็นต้น
ทั้งนี้ทั้งโครงการช่วยเหลือน้ำท่วม โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้จะต้องขอใช้งบกลางฯเนื่องจากในปี 2566 ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ นอกจากนี้วงเงินกู้สำหรับโควิด-19 จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อรับมือและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ.2565 วงเงิน 5 แสนล้านบาท นั้นหน่วยงานราชการไม่สามารถที่จะขอใช้ได้แล้วเนื่องจากตามกฎหมายตาม พ.ร.ก.ได้ระบุว่าเงื่อนไขของการใช้เงินกู้โควิด-19 ไว้ถึงแค่วันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาเท่านั้นจึงต้องใช้งบกลางฯในการดำเนินการทั้งในส่วนของการเยียวยาน้ำท่วมและการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แม้ว่าวงเงินที่รัฐบาลได้เตรียมไว้ 2.3 หมื่นล้านบาทในการรองรับการเยียวยาน้ำท่วม และการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นวงเงินที่รัฐบาลสามารถอนุมัติได้เนื่องจากเป็นอำนาจจองนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่วงเงินดังกล่าวถือว่าเป็นวงเงินที่สูงเทียบเท่าการดูแลสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละปีงบประมาณที่ผ่านๆมา ซึ่งต้องจับตาดูว่าในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2566 หากมีรายการความต้องการใช้งบกลางฯเพิ่มเติมรัฐบาลจะมีวิธีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้อย่างไรให้พอสำหรับการใช้ทั้งปีงบประมาณนี้