เปิดวิ่งรถเมล์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 สาย คาดสิ้นปีเติมรถไฟฟ้าให้บริการได้ 1,250 คัน
เปิดวิ่งรถเมล์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 สาย สาย 17 และสาย 82 เชื่อมโยงการเดินทางระบบล้อ-ราง-เรือ ให้สะดวกไร้รอยต่อ “ไทยสมายล์บัส” ใจดีจัดโปรฯ ใช้บัตรคนจนจ่าย 10 บาทถึงสิ้นปี พร้อมเตรียมออกตั๋ววัน 40 บาท ช่วยลดภาระค่าครองชีพ
หลังจากที่ได้เปิดให้บริการ รถโดยสารประจำทางด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ รถ EV) สาย 8 (2-38) เส้นทางแฮปปี้แลนด์ – ท่าเรือสะพานพุทธ ไปเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีรถให้บริการ แล้ว 153 คัน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชน จากสถิติการเดินทางถึงปัจจุบันพบว่ามีผู้นิยมใช้บริการในแต่ละวันมีค่าเฉลี่ยมากกว่า 7,000 คน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานพิธีเปิดทดลองให้บริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า เพิ่มอีก 2 สาย คือ สาย 17 (4-3) เส้นทางพระประแดง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสาย 82 (4-15) ท่าน้ำพระประแดง-บางลำพู ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงทุกการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ
โดยในเบื้องต้น รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าทั้ง 2 สาย จะมีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริการรวม 20 คัน แบ่งเป็นสาย 17 จำนวน 5 คัน และสาย 82 จำนวน 15 คัน จากนั้นจะทยอยเพิ่มจำนวนรถให้มากขึ้น และในวันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้ก็จะเปิดให้บริการเป็นครั้งที่ 3 ด้วยไทยสมายล์บัส
สำหรับการทดลองให้บริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า สาย 17 และ สาย 82 ผู้ให้บริการ คือ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด จะต้องให้บริการบนพื้นฐานของนโยบายที่กระทรวงคมนาคมได้มอบให้ 5 ด้าน ได้แก่
ด้าน “ความสะดวก”
ในด้านความสะดวก คือ สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งโหมดอื่นๆ ได้ โดยสาย 17 เส้นทางพระประแดง – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งทางราง รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมต่อของกรุงเทพมหานคร
ส่วนสาย 82 เส้นทางท่าน้ำพระประแดง – บางลำพู จะเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำ ที่ท่าเรือสะพานพุทธ ซึ่งกรมเจ้าท่าได้พัฒนาท่าเรือสะพานพุทธ ให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) รองรับรูปแบบการเดินทางของคนรุ่นใหม่ไว้แล้ว
ด้าน “ความสบาย”
รถทุกคันที่ให้บริการเป็นรถปรับอากาศทำให้วิถีชีวิตของประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความสบายเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การเดินทางของพี่น้องประชาชนไม่น่าเบื่ออีกต่อไป และจะมีการติดตั้งโทรทัศน์ภายในรถโดยสารเะมเติม เพื่อผู้ใช้บริการได้ติดตามข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบเส้นทางในการเดินทาง
ด้าน “ความสะอาด”
รถที่นำมาวิ่งให้บริการทุกคัน ใช้พลังงานไฟฟ้าอันเป็นพลังงานสะอาด เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า รวมถึงจะมีการพัฒนาให้เป็นรถพลังงานไฮโดรเจนต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนและมลภาวะทางอากาศที่มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น
ด้าน “ความประหยัด”
สำหรัยคีาโดยสารนั้น ได้มีการกำหนดราคาค่าโดยสารตามระยะทางไว้ที่ 15 – 20 – 25 บาท แต่ในเบื้องต้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทางบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือโดยการจัดเก็บค่าโดยสารที่ราคา 10 บาท ตลอดสายจนถึงสิ้นปี 2565
และในระยะต่อไปจะมีการจัดทำตั๋วประเภทพิเศษ หรือตั๋ววัน สำหรับประชาชนที่เดินทางครบ 40 บาท ในหนึ่งวันแล้วจะไม่มีการเก็บค่าโดยสารเพิ่มสำหรับการใช้บริการหลังจากนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประจำวันให้กับพี่น้องประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม
ด้าน “ความปลอดภัย”
ด้านความปลอดภัย กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะผู้กำกับดูแลการประกอบการขนส่งทางถนนทั้งระบบเข้ามากำกับดูแลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งรถทุกคันในโครงการนี้จะมีเทคโนโลยีควบคุมความเร็ว และพฤติกรรมของคนขับรถ และพนักงานให้บริการประจำรถ รวมถึงมีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด หรือ CCTV ภายในรถเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้เดินทางอีกด้วย
ทั้งนี้ นโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพรถโดยสารสาธารณะในการให้บริการประชาชน เป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ได้มีข้อสั่งการติดตามให้มีการใช้รถเมล์ไฟฟ้า EV กระทรวงคมนาคมจึงได้ดำเนินการตามนโยบายสนับสนุนให้เกิดกระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยได้ดำเนินการจ้างเหมาบริการรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด (รถไฟฟ้า) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเดินรถและลดมลภาวะเป็นพิษในเขตเมือง เพื่อให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
และภายใต้การเร่งรัดการดำเนินการ จะทำให้ในปีนี้จะมีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเป็น 972 คัน ใน 77 เส้นทางจากการผลักดันนโยบายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 โดยปลายปีนี้ประชาชนจะสามารถใช้บริการเครือข่ายรถเมล์พลังงานสะอาดกว่า 1,250 คัน ใน 122 เส้นทางที่ปฏิรูปใหม่ ซึ่งได้มีการวางแผนเชื่อมต่อระบบ ล้อ – ราง – เรือ อย่างครบวงจร
นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของระบบการขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงทุกการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ ให้รถ – เรือ – ราง เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในชีวิตประชาชนที่สะดวก ปลอดภัย และเข้าถึงง่ายแก่คนทุกคน สร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจแก่ผู้เดินทาง
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า การพัฒนาศักยภาพการขนส่งสาธารณะ โดยการนำรถเมล์ EV มาวิ่งให้บริการ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเห็นอย่างเป็นรูปธรรมนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ
ขณะที่ฟากฝั่งของหน่วยงานรัฐ อย่าง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ยังคงวนเวียนอยู่กับการจัดทำและทบทวนแผนฟื้นฟู ขสมก. และมีท่าทีเงื้อง่าว่าจะลุยโครงการประกวดราคาจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 224 คัน วงเงินประมาณ 967 ล้านบาท แต่ในความคืบหน้าก็ยังคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่าจะต้องรอกันอีกนานไหมกว่าที่ ขสมก. จะสามารถยกระดับการให้บริการให้ประชาขนได้เห็นและสัมผัสได้อย่างแท้จริง