ผลงานโบแดง-โบดำ ประยุทธ์ 8 ปี เทียบชั้น ป๋าเปรม
30 ก.ย. 2565 เป็นวันชี้ชะตาของพล.อ.ประยุทธ์ กับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐครบ 8 ปี
ศาลรัฐธรรมนูญขึ้นบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ประกอบมาตรา 158 หรือไม่ ตามนัดในวันที่ 30 ก.ย.นี้
เป็นวันกำหนดอนาคตทางการเมืองครั้งสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ ว่า หยุดลงเพียงเท่านี้ หรือ ต่อวีซ่าออกไปอย่างน้อย 2 ปี
8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่นาทียึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีทั้งผลงานชิ้นโบแดง-โบดำ หลายเรื่องเป็นแต้มบวก แต่ขณะเดียวกันหลายเรื่องแต้มติดลบ
ผลงานชิ้นโบแดง ด้วยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 1 ในแม่น้ำ 5 สาย ออกกฎหมายกว่า 400 ฉบับ
โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญและยากเย็นที่จะสามารถจะออกมาได้ในรัฐบาลที่เป็นนักการเมือง เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558
ผู้ได้รับมรดกมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทในอัตราร้อยละ 10 แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพาการีหรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5
โดยมีบทลงโทษ ผู้ที่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายใน 150 วัน โดยไม่มีเหตุอันควรต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 โดยมีอัตราการจัดเก็บภาษี ดังนี้ เกษตรกรรม ไม่เกินื 0.15% ของฐานภาษี กรณีบุคคลธรรมดาใช้ประกอบเกษตรกรรมไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
ที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 0.3% ของฐานภาษี กรณีบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน หรือบ้านต่ำกว่า 10 ล้านบาท และกรณีบ้านพร้อมที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ “ตามควรแก่สภาพ” ไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี
กรณีที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ให้เรียกเก็บภาษีในปีที่ 4 เพิ่มขึ้น 0.3% และหากยังทิ้งไว้อีกเป็นเวลาติดต่อกันให้เพิ่มอีก 0.3% ในทุก 3 ปี แต่รวมทั้งหมดแล้วไม่เกินร้อยละ 3
ทั้งนี้ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่ต้องการเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
ภายใต้เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ได้แก่ 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแปรรูปอาหาร 6.หุ่นยนต์ 7.การบินและโลจิสติกส์ 8.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.ดิจิทัล และ 10.การแพทย์และสุขภาพครบวงจร
โดยให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการประกอบกิจการหรือห้องชุดเพื่อการประกอบกิจการหรือการอยู่อาศัย สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ราชอาณาจักร สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี
พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 โดยกำหนดสิทธิและประโยชน์ผู้ได้รับการส่งเสริม ดังนี้
1.สิทธิและประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน แต่ไม่รวมถึงสิทธิและประโยชน์ในการได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.สิทธิและประโยชน์ในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และ 3.สิทธิและประโยชน์ในการได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงินประเดิม 1 หมื่นล้านบาท
ควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ตามมาด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ ในพื้นที่ภาคตะวันออก 3 จังหวัด (EEC) ภายใต้นโยบาย “Thailand 4.0”
โครงการรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร 9 สถานี ได้แก่ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา รวมมูลค่าลงทุน 224,000 ล้านบาท
ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 บนเนื้อที่ 1,000 ไร่ มูลค่าการลงทุน 55,400 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถและความจุขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวปิโตรเคมีรองรับการขนส่งได้ 31 ล้านตันต่อปี
แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 งานโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ พื้นที่ถมทะเลเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่หลังท่าและหน้าท่า เนื้อที่ 550 ไร่ พื้นที่กักเก็บตะกอนดิน 450 ไร่ เขื่อนหินกันทรายและเขื่อนกันคลื่น ร่องน้ำเดินเรือ และแอ่งกลับเรือทุน เครื่องหมาย อุปกรณ์ช่วยเดือนเรือ ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวนความสะดวกพื้นฐาน
ส่วนที่ 2 ได้แก่ ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า เนื้อที่ 200ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่า เนื้อที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร ท่าเทียบเรือบริการ คลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ 150 ไร่
ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 บนเนื้อที่ 1,600 ไร่ มูลค่าการลงทุน 114,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือตู้สินค้า 7 ท่า รองรับตู้สินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตู้ต่อปี ท่าเทียบเรือรถยนต์ 1 ท่า รองรับรถยนต์ได้ 1 ล้านคันต่อปี
ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไปและตู้สินค้า 1 ท่า การอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการท่าเรือด้วยระบบ e-Port ผ่านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เน้นการขนส่งระบบราง เอื้อธุรกิจโลจิสติกส์
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ มูลค่าลงทุน 290,000 ล้านบาท ตั้งเป้ารองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี
โครงการประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเรื่อง (Cargo Village or Free Trade Zone) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ศูนย์ฝึกอบรมการบิน
พล.อ.ประยุทธ์หมายมั่นปั้นมือที่จะโมดิฟายสนามบินอู่ตะเภาให้เป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์ แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิกับดอนเมืองด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รองรับผู้โดยสารรวมกันถึง 200 ล้านคนต่อปี
คิดการใหญ่ไปถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก”
อีกผลงานชิ้นโบแดง คือ การจัดทำแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท. โทรคมนาคม จัดกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
โดยเฉพาะบริษัท การบินไทย ที่ตัดสินใจเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ภายใต้การกำกับของศาลล้มละลายกลาง ตามรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 คาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่ากำหนด หรือ ภายในปี 2567
ขณะเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ได้แก้ปัญหาที่หมักหมม ซุกอยู่ใต้พรมรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น การปลดธงแดงด้านความปลอดภัยทางการบินขององค์การการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
การล้างใบเหลืองจากการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) รวมถึงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยถอดออกจากบัญชีค้ามนุษย์ (TIP Report) จาก Tier 3 ก่อนจะไต่ระดับขึ้นเป็น Tier 2 Watch List และเหลือ Tier 2 ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามผลงานชิ้นโบดำของพล.อ.ประยุทธ์ เช่น เขตเศรษฐกิจชายแดน 10 แห่ง ยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี
จนต้องแก้เกมด้วยประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเป็น 4 ภาค ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC) ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC – Bioeconomy) ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง – ตะวันตก (Central – Western Economic Corridor : CWEC) ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช
รวมถึงโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่พล.อ.ประยุทธ์ยังขับเคลื่อนได้ไม่ไปถึงไหน มิหน้ำซ้ำยังปรับ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ตัวตั้งตัวตี ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เป็นผลงานชิ้นโบแดง-โบดำ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ หากผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 ก.ย. 2565 ไปได้จะเทียบชั้นโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เดินหน้าทุบสถิติ ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ตินสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี 8 ปี 154 วัน