“เงินบาทอ่อนค่า” รัฐส่งสัญญาณแทรกแซงธปท.
‘เงินบาท’อ่อนค่าต่ำสุดรอบ16 ปี ‘ประวิตร’สั่งคลังคุยแบงก์ชาติแก้ปัญหา
อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงสู่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และมีบางช่วงที่อ่อนค่าลงไปที่ระดับ 37.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำสถิติอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี
การอ่อนค่าของเงินบาทไทยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สกุลเงินต่างๆในหลายประเทศทั้งเงินเยน เงินปอนด์อังกฤษ และเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่วันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.75% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่สามทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.00-3.25%
เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงกดค่าเงินทั่วโลกอ่อนค่า
นอกจากนั้นเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed บอกว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงโดยภายในปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 4% และในปีหน้าดอกเบี้ยก็จะยังปรับเพิ่มขึ้นและยังต้องคงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปเพื่อจัดการเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นให้กลับลงมาในระดับปกติ แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆนั้นจะทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ก็ตาม
การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของประเทศสหรัฐฯซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน ทำให้เงินไหลออกจากประเทศต่างๆกลับไปยังสหรัฐฯตามหลักการของฟันด์โฟลว์ โดยเฉพาะในตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) รวมถึงประเทศไทยที่ยังมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับต่ำส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐฯทำให้เงินทุนไหลออกเพื่อไปหาผลตอบแทนที่ดีกว่าซึ่งเมื่อเงินทุนไหลออกมากขึ้นส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาตามที่ได้เห็น
ทั้งนี้การอ่อนค่าของเงินบาท แม่ว่าจะส่งผลดีต่อบางธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก ที่ได้รับเงินตราต่างประเทศเข้ามาแลกเป็นเงินบาทได้รายได้มากขึ้น แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนมากเกินไปและเร็วเกินไป ก็ไม่ดีต่อเสียรภาพของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในระดับราคาที่สูงซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซียที่ยังยืดเยื้อ
“ประวิตร”สั่งคลังคุยแบงก์ชาติหาทางพยุงค่าบาท
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาก ถึงกับสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าไปเรื่อยๆแบบนี้ไม่ดี ควรที่จะอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯถึงจะเหมาะสม อย่าให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากเกินไป หรืออ่อนค่าไปเรื่อยๆจนไปซ้ำรอยสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งในสมัย พล.อ.ชวลิตร ยงใจยุทธ์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ค่าเงินบาทหลุดลงไปถึง 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯถ้าเป็นแบบนั้นเศรษฐกิจไทยแย่แน่ๆ
พร้อมกับสั่งให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรับไปดูว่าสาเหตุของค่าเงินบาทอ่อนค่ามาจากอะไร โดยจัดเวทีหารือกับภาคเอกชน และรวบรวมข้อมูลไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วนำกลับมารายงานแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามกับพล.อ.ประวิตรเกี่ยวกับประเด็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนว่ามีความเป็นห่วงอย่างไรถึงได้มีการสั่งการในเรื่องค่าเงินบทาทใน ครม. พล.อ.ประวิตรระบุว่าไม่อยากให้ค่าเงินบาทอ่อนไปมาก ผันผวนขึ้นลง ทั้งนี้แม้มองว่าค่าเงินบาทควรจะอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแต่ตนไม่ได้เข้าไปแทรกแซงเรื่องนี้เพียงแต่สั่งการให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไปดูในเรื่องนี้และหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น
ทั้งนี้ตั้งแต่พล.อ.ประวิตรได้มีการพูดถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลงเรื่อยๆจากระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับ 37.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งเท่ากับว่าค่าเงินบาทนั้นอ่อนค่าสวนทางกับความต้องการของรัฐบาลโดยเฉพาะรักษาการนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าในระดับปัจจุบัน
หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากพล.อ.ประวิตรให้ไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องของค่าเงินบาทนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้โดยยอมรับว่าค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทรวงการคลังก็มีความเป็นห่วงในเรื่องต้นทุนการผลิตที่จะกระทบต่อเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเร็วไปนั้น ต้องดูว่าค่าเงินบาทของเราอ่อนค่าด้วยตัวเราเองหรือไม่ หรือมาจากปัจจัยภายนอก เพราะถ้าเราอ่อนค่าโดยที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเร็ว เงินบาทเราก็อ่อนค่าลงเร็วได้เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เกิดขึ้นกับสกุลเงินหลายสกุลเงินทั่วโลก โดยเรื่องของระยะเวลาในการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นหากไปย้อยดูสถิติต่างๆจะพบว่าค่าเงินบาทนั้นมีช่วงที่อ่อนค่าลงไปมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับระยะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ด้วย เมื่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับสูงสุดแล้วก็จะปรับตัวลดลงแต่ระยะเวลาจะนานเท่าไหร่ขึ้นกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯว่าจะปรับตัวลดลงเร็วหรือช้าอย่างไร ทั้งนี้ การที่ดอกเบี้ยในสหรัฐกับไทยมีความต่างมาก จะมีผลกระทบแค่ไหนนั้น เท่าที่ฟังรายงานจาก ธปท.ในเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย ก็ไม่มากเท่าไร แต่ก็ต้องถาม ธปท.อีกครั้ง
คลังรับห่วงบาทอ่อนกระทบเงินเฟ้อ
สำหรับประเด็นที่ต้องมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นกระทรวงการคลังจะต้องหารือกันกับธนาคารแห่งประเทศไทยในหลายประเด็น เช่น ปัจจัยอะไรมากระทบบ้าง จะมีการกำหนดแนวทางในการดูแลหรือไม่ จะดูแลอย่างไร เพราะที่จริงแล้วค่าเงิน นั้นธนาคารแห่งประเทศไทยเขาก็ดูแลอยู่แล้ว กระทรวงการคลังคงจะไปกำหนดในเรื่องพวกนี้ไม่ได้ เพียงแต่บอกว่ารัฐบาลมีความเป็นห่วงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังกล่าวถึงประเด็นของค่าเงินบาทที่กระทบต่อเงินเฟ้อด้วยว่าแน่นอนว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้นจะกระทบกับเงินเฟ้อ เพราะการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปก็จะกระทบกับหลายด้านโดยเฉพาะด้านการผลิตที่ต้องนำเข้าสินค้าทุนก็จะกระทบกลับมายังเรื่องของเงินเฟ้อได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามที่จะดูแลในเรื่องของราคาสินค้า และการใช้นโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพของกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อย
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง เฝ้าระวังเงินบาทอ่อนค่า ไม่ให้กระทบเศรษฐกิจไทยโดยมีใจความสำคัญว่า “เงินบาท” คือสินค้าอย่างหนึ่งที่ราคาสามารถปรับขึ้นลงได้ ตามความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่หากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ จะเข้ามาดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวน เกิดอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ และการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
โดยสถานการณ์การอ่อนค่าของเงินสกุลต่างๆไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ค่าเงินสกุลต่างๆ ในเอเชียยังอ่อนค่าลง เช่น ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงที่ระดับ 146 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นต้องเข้าแทรกแซงตลาดโดยการซื้อเงินเยน, ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้อ่อนค่าลงกว่า 1,400 วอนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ, ค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์อ่อนค่าลงสูงกว่า 58 เปโซต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และพิจารณาการเข้าแทรกแซงตลาดแบบเชิงรุก
แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยืนยันว่าได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจ โดย ณ วันที่ 9 กันยายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย มีเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ 241,763.88 ล้านบาท แม้จะลดลงจากต้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 277,310.30 ล้านบาท แต่ก็เป็นเพราะเนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น การตีมูลค่าเงินสำรองฯ ที่อยู่ในสินทรัพย์หลายสกุลเงินให้เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯลดลง
แบงก์ชาติยันไม่พบสัญญาณเคลื่อนย้ายเงินทุนผิดปกติ
ทั้งนี้ธนาคาแห่งประเทศไทยยังไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2565 นักลงทุนต่างชาติยังมีฐานะซื้อสุทธิในสินทรัพย์ไทยประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งไทยยังมีฐานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งจากระดับเงินสำรองระหว่างประเทศ สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก คิดเป็น 48% ของ GDP สูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ และยังสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยถึงเกือบ 3 เท่า
ส่วนการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ได้ให้น้ำหนักผลต่อ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. อัตราเงินเฟ้อ จะต้องดูว่า จะมีผลต่อเงินเฟ้อและมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
2. การขยายตัวของเศรษฐกิจ จะต้องมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้แบบปกติหรือไม่
และ 3. การเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่พบว่าช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกบ้าง แต่ยังไม่ถือว่าผิดปกติ ส่วนจะให้น้ำหนักในเรื่องใด เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และแบงก์ชาติเป็นผู้พิจารณา
โดยสิ่งที่ต้องจับตานับจากนี้ คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 28 ก.ย. 2565 ที่จะถึงนี้ จะมีการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอีกครั้งหรือไม่ หลังปรับขึ้นจากเดิม 0.25% เป็น 0.75% ไปเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงต้องเฝ้าระวังค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และได้แนะนำให้ภาคเอกชน ควรบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงิน ในสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงเป็นสำคัญ
เหรียญสองด้านค่าเงินบาทผลดี–เสีย เศรษฐกิจ
ขณะที่รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติได้ จึงทำได้แค่ดำเนินมาตรการเพื่อพยุงต้นทุนราคาวัตถุดิบต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่าลง ไม่ให้กระทบกับประชาชนเพราะฉะนั้น ค่าเงินบาทจึงเปรียบเสมือน “เหรียญสองด้าน” มีทั้งด้านที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวทางดูแลค่าเงินบาทด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น จะเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และขายเงินบาทในอัตราแลกเปลี่ยน ก่อนจะนำเข้ามาเป็น “เงินสำรองระหว่างประเทศ” และใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยลดแรงกดดันเงินบาทที่แข็งค่าด้วย เมื่อยามเงินบาทอ่อนค่าลง ก็จะแทรกแซงค่าเงิน โดยการซื้อเงินบาทและขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อยู่ในเงินสำรองระหว่างประเทศออกมา
อย่างไรก็ตามการแทรกแซงค่าเงินบาท ย่อมมีความเสี่ยงตรงที่ การนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากเงินสำรองระหว่างประเทศมาขายในราคาที่สูงกว่าตลาด จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่เงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งมีไว้เพื่อเป็น “กันชน” รองรับความเสี่ยงด้านต่างประเทศนั้นลดลง นอกจากนี้ เมื่อกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในฐานะที่อาจแทรกแซงค่าเงินมาตั้งแต่ปลายปี 2563 อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกระหว่างไทยกับสหรัฐฯ อีกด้วย
ความหวังอีกด้านหนึ่งของเศรษฐกิจไทยและการทำให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมาได้ก็คือภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้นหลังจากการเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการโควิดซึ่งในปี 2566 มีการคาดหมายว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาประเทศไทยประมาณ 20 ล้านคน และหากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการแทรกแซงและควบคุมค่าเงินแต่อย่างใด