ดีเดย์ขึ้น ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ 1 ต.ค.
ผลกระทบต่อธุรกิจ และแรงงานไทย
ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็มีมติรับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศโดยจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค.2565 นี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงหรือค่าจ้างขั้นต่ำมานานกว่า 2 ปีตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดทำให้ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการลดภาระค่าใช้จ่ายและมุ่งหวังให้มีการรักษาการจ้างงานเอาไว้มากที่สุด
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป การแพร่ระบาดของโควิดลดลง เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่โหมดฟื้นตัว ความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงที่ทำให้แรงงานมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อแรงงาน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญในระยะต่อไป คือ ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อต่อแรงงาน จากภาวะค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 6.5% ในไตรมาส 2 ปี 2565 ประกอบกับเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้างแรงงานทักษะต่ำซึ่งรายได้ยังไม่ฟื้นตัว โดยค่าจ้าง ที่แท้จริงของแรงงานทักษะต่ำในภาคเอกชน ปรับตัวลดลงซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสามารถบรรเทาปัญหาของแรงงานในส่วนนี้ได้บ้าง
1 ต.ค.ดีเดย์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ประเด็นการขยับปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงมีการพูดกันมาตลอด และมีการพิจารณาจากคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนของลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐในที่สุดก็ได้ตัวเลขที่เห็นร่วมกันในการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ตามสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพของแต่ละจังหวัดในอัตรา 5 – 8% จากค่าจ้างขั้นต่ำเดิมซึ่งกระทรวงแรงงานได้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบเป็นมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมาเพื่อให้ทันใช้บังคับในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ครม.ได้พิจารณาประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 1 ก.ย. 2565 โดยกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328 – 354 บาท/วัน เพิ่มขึ้นระหว่าง 8 – 22 บาทต่อวัน โดยในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการ ฯ ได้คำนึงถึง ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณท์มวลรวมของประเทศ (GDP) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ ค่าแรงขั้นต่ำจึงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเท่ากันในทุกพื้นที่
นอกจากนี้การพิจารณายังอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งผลการพิจารณา เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุก เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป
แบ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 9 อัตรา
โดยอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำปี 2565 แบ่งเป็น 9 อัตรา ได้แก่ 1.ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 354 บาท/วัน จำนวน 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง
2.ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 353 บาท/วัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
3.ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ345 บาท/วัน จำนวน 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา
4.ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 343 บาท/วัน จำนวน 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา
5.ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 340 บาท/วัน จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
6.ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 338 บาท/วัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม
7.ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 335 บาท/วัน จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์
8.ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 332 บาท/วัน จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญและอุทัยธานี
และ 9.ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 328 บาท/วัน จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี
ม.หอการค้าฯชี้ธุรกิจมองได้รับกระทบจากการปรับค่าแรง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ เช่น ขึ้นค่าแรง ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อธุรกิจไทยในปัจจุบันจากภาคธุรกิจว่า ภาคธุรกิจมองว่า การปรับขึ้นค่าแรงแรงในเดือน ต.ค. ส่วนใหญ่ 55.4% มองว่า มีผลกระทบมาก โดยเฉพาะธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ค้าส่ง ร้านอาหาร ท่องเที่ยว และภาคการเกษตร เนื่องจากกระทบต่อต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงกระทบต่อกำไร ขณะที่ 34.3% มองว่า ได้รับผลกระทบปานกลาง 7.4% มองว่า น้อย และ 2.9% มองว่า ไม่กระทบเลย
“ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ คือ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบด้านกำไร ยอดขาย และจำนวนลูกค้าที่จับจ่ายน้อยลดลง ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเพิ่ม 5% ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เช่น ภาคการท่องเที่ยว ค้าส่ง และภาคการเกษตร อีกทั้งปัจจุบันไทยยังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่คาดว่าส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจประมาณ 5,000 ล้านบาท”
อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า โอกาสในการเลิกจ้าง หรือปลดคนงาน ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งภาคเกษตร บริการ ภาคการค้า อุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ มองว่า ยังไม่มี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในภาคบริการ แม้ส่วนใหญ่ระบุว่า ยังไม่มีโอกาสปลดแรงงาน แต่มีจำนวนหนึ่ง เช่น ธุรกิจพัฒนาอสังหา ร้านอาหาร ธุรกิจความงาม เกสต์เฮาส์ ที่พัก ระบุว่า มีโอกาสปลดแรงงานบ้าง ขณะที่แนวทางการปรับขึ้นราคาสินค้า บริการ 24.2% มองว่า ปรับขึ้นน้อยกว่า 1% รองลงมาปรับขึ้น 1-2% ถัดมาปรับขึ้น 5% ขึ้นไป ส่วนปัจจัยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนใหญ่มองว่า กระทบปานกลาง แต่ที่ระบุว่า กระทบมาก เป็นธุรกิจเช่าซื้อ, ก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์, ค้าส่ง, เครื่องประดับ, ภาคเกษตร และมองว่า มีโอกาสเกิดส่งผลให้เกิดหนี้เอ็นพีแอล ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การค้า บริการ เกษตร ในระดับมาก
ค่าแรงปรับขึ้นน้อยกว่าเงินเฟ้อ
สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า EIC ระบุว่าประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8% เบื้องต้นจากการศึกษาผลกระทบของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีต่อประมาณการกำไรปี2566 ของบริษัทจดทะเบียนพบว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-10% จะกระทบต่อกำไรสุทธิของตลาดลดลงราว 2-5%
ทั้งนี้แม้ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานจะเพิ่มขึ้นแต่ยังมีแรงกดดันจากค่าครองชีพที่ยังสูงอยู่ โดยการที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยราว 5% ในปลายปีนี้ ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อสะสมนับตั้งแต่มีการปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำครั้งสุดท้ายในปี 63 ทำให้แรงงานที่พึ่งพา ค่าจ้าง ขั้นต่ำมีรายได้ที่แท้จริงลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการมีต้นทุน ค่าจ้าง แรงงานสูงขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากแรงงานต่างชาติออกจากประเทศแล้วยังกลับเข้ามาไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง ทั้งในไทยและประเทศเศรษฐกิจหลัก ยิ่งซ้ำเติมแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ที่มีอยู่ก่อนแล้ว
โดย EIC ปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อไทยในปี 65 เป็น 6.1% (เดิม 5.9%) และคาดว่าเงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลงอย่างช้า ๆ อยู่ที่ 3.2 % ในปี 66 สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปยังราคาสินค้าในกลุ่มอื่นที่มีมากขึ้น ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ด้านฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5 – 8% อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต เนื่องจากเมื่อไปดูข้อมูลในอดีตในช่วง 12 – 13 ปีที่ผ่านมา พบว่า กระทรวงแรงงานมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 6 ครั้ง หากไม่นับปี 2554 มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ในช่วง 3 – 15 บาทต่อวัน หรือมีการปรับขึ้น 1% – 5% เป็นต้น
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดจะได้รับผลกระทบเชิงลบมากสุด นำโดย กลุ่มขนส่งพัสดุ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่กระทบกำไรลดลงตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำราว 6-12% และกลุ่มอาหารจะกระทบกำไรลงราว 10%
เอกชนขอเยียวยาผลกระทบขึ้นค่าแรง
แม้ว่าประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในแง่ของการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในระดับฐานรากแต่อีกมุมหนึ่งก็จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโดยในเรื่องนี้ คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในส่วนของค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ได้แก่ ควรมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เพื่อลดต้นทุนค่ไฟฟ้า เช่น การยกเว้น/ลดหย่อน
ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือกองทุนเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการเพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลาง ควรปรับราคากลางงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับราคาวัสดุก่อสร้างและอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นด้วย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. 2565 ที่ผ่านมาซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยระบุว่า ความเชื่อมั่นภาคเอกชนอยู่ที่ระดับ 90.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.0 ในเดือนก.ค. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยในประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้นและภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากความต้องสินค้าภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบยังมีความกังวลเกี่ยวกับตันทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบ อาทิ อาหารสัตว์ เหล็กและอลูมิเนียม ค่าไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ทรงตัวในระดับสูง แม้ว่าในเดือนสิงหาคมต้นทุนด้านราคาน้ำมันจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 98.7 ในเดือนก.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวแบบช้าๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราจ้างขั้นต่ำ ในวันที่ 1 ต.ค.65 รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารอบใหม่ในช่วงเดือนก.ย. – ธ.ค. 65 จะส่งผลให้ต้นทุนประกอบการ โดยการปรับ ค่าจ้าง ขั้นต่ำเฉลี่ย 5.02% นั้น อาจเกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยซึ่งภาครัฐต้องมีการเตรียมมาตรการรองรับในส่วนนี้ด้วย