ประชาธิปัตย์ เตะตัดขา ภูมิใจไทย พรรคสมคิด ตีท้ายครัว ปักษ์ใต้
สงครามน้ำลายระหว่าง ภูมิใจไทย – ประชาธิปัตย์ – สร้างอนาคตไทย กลายเป็น ศึกสามเส้า อุณภูมิการเมือง-การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงร้อนระอุ
ภูมิใจไทย ที่มี เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค กับ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี อู๊ดดา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นหัวขบวน เปิดศึก กัญชาเสรี-กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มันส์หยด
โดยมี พรรคสมคิด สร้างอนาคตไทย ผสมโรง ตีท้ายครัว นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร
นโยบายกัญชาเสรี ของพรรคภูมิใจไทย อยู่ในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม เมื่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่สาม เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565
ทว่า ที่ประชุมสภากลับมีมติให้ถอนร่างพ.ร.บ.กัญชา ออกจากระเบียบวาระการประชุม โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กังขา กัญชาเพื่อการแพทย์ หรือ นันทนาการ
ส่งผลให้นโยบายกัญชาเสรี ตกอยู่ในสถานะลูกผีลูกคน
ร่างพ.ร.บ.กัญชา จึงตกขบวน ก่อนสภาจะปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ.2565 เพียงไม่กี่วัน (ปิดประชุมฯ 18 ก.ย.65) ต้องรออีกในช่วงเปิดประชุม ฯ
สำหรับมติในที่ประชุมสภาที่ “เห็นด้วย” ให้ถอนร่างพ.ร.บ.กัญชา ออกไปก่อน จำนวน 198 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 93 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 29 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 46 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 9 เสียง
พรรคเศรษฐกิจไทย 7 เสียง พรรคประชาชาติ 6 เสียง พรรคเพื่อชาติ 2 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 เสียง พรรครวมพลัง 1 เสียง พรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง
ขณะที่มติ “ไม่เห็นด้วย” และ ให้เดินหน้าพิจารณาต่อไปในวาระที่สาม จำนวน 136 เสียง ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 58 เสียง พรรคก้าวไกล 40 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 8 เสียง พรรคเศรษฐกิจไทย 3 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 เสียง
พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรคเพื่อชาติ 2 เสียง พรรคชาติพัฒนา 1 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง พรรคประชาภิวัฒน์ 1 เสียง พรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง
ร่างกฎหมายอีก 1 ฉบับที่พรรคร่วมรัฐบาลวัดพลังกัน คือ ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วาระที่สาม มีประเด็นที่งัดข้อ คือ เก็บดอกเบี้ย-เสียค่าปรับค้างชำระ หรือ ปลอดดอกเบี้ย-ไม่เสียค่าปรับค้างชำระ
โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 314 เสียง มีเพียง 3 เสียง “ไม่เห็นด้วย” มาจากพรรครวมพลัง ทั้ง 3 เสียง ได้แก่ 1.น.ส.จุฑาทัตต เหล่าธรรมทัศน์ 2.นางสุเนตตา แซ่โก๊ะ และ 3.น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ
ประเด็นที่ขับเคี่ยว ชิงไหวชิงพริบกันมากที่สุด คือ มาตรา 17 แก้ไขมาตรา 44 มีกรรมาธิการขอสงวนความเห็นและผู้แปรญญัติติขอสงวนคำแปรญัตติกันอย่างกว้างขวาง
กลุ่มของนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม จากพรรคเพื่อไทย ขอสงวนความเห็น โดยขอให้แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 44 วรรคหนึ่ง ใจความสำคัญ ว่า
“เมื่อสำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นสภาพการศึกษาแล้ว ให้ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน ‘โดยไม่มีดอกเบี้ย’ ซึ่งจะชำระคืนกองทุนทั้งจำนวนหรือผ่อนชำระก็ได้”
ขณะที่กลุ่มของ นายประกอบ รัตนพันธ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ขอสงวนความเห็น โดยขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44 วรรคสอง ใจความสำคัญ ว่า
“อัตราดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดที่คิด ณ วันทำสัญญา ต้อง ‘ไม่เกินอัตราร้อยละหนึ่งต่อปี’ และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น”
ส่วนกลุ่มของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอสงวนความเห็น ขอให้คงมาตรา 44 วรรคสอง ไว้ตามร่างเดิม “อัตราดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดที่คิด ณ วันทำสัญญา ต้อง ‘ไม่เกินอัตราร้อยละสองต่อปี’ และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น”
ด้านกลุ่มนายวิรัช พันธุมะผล จากพรรคภูมิใจไทย ขอสงวนความเห็น โดยขอให้แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 44 ใจความสำคัญ ว่า
ผู้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นจากการศึกษาแล้ว ผู้กู้ยืมมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมตามสัญญา ดังนี้
เมื่อผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษาหรือพ้นการศึกษาแล้วสองปี และมีรายได้ตามสัญญาเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาต้อง
“ไม่มีดอกเบี้ยในเงินกู้ยืม ไม่มีเบี้ยปรับ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันหรือเงินเพิ่มอื่นใดทุกกรณี ในกรณีที่กองทุนไม่สามารถรับชำระเงินกู้ยืมจากผู้กู้ยืม ให้รัฐบาลจัดงบประมาณให้ตามความเหมาะสม”
สุดท้ายที่ประชุมมีมติ “เห็นด้วย” 218 เสียง แก้ไขตามผู้สงวนความเห็นกลุ่มของนายอุบลศักดิ์ พรรคเพื่อไทย โดยเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยมาจากพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจไทย
ตรงข้ามกับพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ที่ลงมติ “ไม่เห็นด้วย” ส่วนพรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนาส่วนใหญ่ “งดออกเสียง”
ถึงแม้จะเป็นอีกผลงานชิ้นโบแดงของเสี่ยหนู อนุทิน เนื่องจากเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาของพรรคภูมิใจไทย แต่กลายเป็นว่า พรรคเพื่อไทยได้ไฮแจ็ค-เคลมผลงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เป็น “สองครั้งติดกัน” ที่ลงมติ-เตะตัดขา พรรคภูมิใจไทย ไม่ให้นำผลงานไปหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าได้ จนเกิดเป็นรอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาลระหว่างหัวหน้าพรรค เสี่ยหนู อนุทิน จึงควันออกหู ประกาศ “เลิกเกรงใจ”
แม้ประชาธิปัตย์จะออกตัวว่า ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่ปรากฎการณ์หักมติวิปรัฐบาลถึงสองครั้งสองครา ทำให้เสี่ยหนู อนุทิน ปักใจเชื่อว่า เป็นเรื่องการเมือง เพราะใกล้เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีจำนวนมากถึง 58 ที่นั่ง
เสี่ยหนู อนุทิน จึงรุกตอกเสาเข็ม-ไล่รื้อถอนเสาไฟฟ้า ในพื้นที่ภาคใต้ ฐานที่มั่นของประชาธิปัตย์ ขณะที่ อู๊ดด้า จุรินทร์ หัวหอกพรรคเก่าแก่ ก็หมายมั่นปั้นมือว่า จะทวงคืนภาคใต้-คัมแบ็กกลับมาครองใจคนปักษ์ใต้ให้ได้อีกครั้ง
หลังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ ถูกพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยเจาะยาง รุมกินโต๊ะ จนได้เก้าอี้ในพื้นที่ภาคใต้มาได้เพียง 22 ที่นั่ง ไม่ถึงครึ่งจากทั้งหมด 50 ที่นั่ง (กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ปัจจุบันมี 58 เขต)
มิหน้ำซ้ำยังมีศิษย์เก่าของพรรคประชาธิปัตย์อย่างนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรครับผิดชอบภาคใต้ ยังไปร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทยกับอดีตกลุ่ม 4 กุมาร ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานพรรค
การลงพื้นที่ภาคใต้ครั้งแรกของนายสมคิดในฐานะประธานพรรคสร้างอนาคตไทย-ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดภูเก็ตจึงไม่พลาดที่จะกระแทกไปยังกล่องดวงใจของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร
“รถไฟไทยจีนกว่าจะคืบได้แต่ละเมตร ลาวเสร็จไปถึงคุนหมิงแล้ว มัวแต่ทะเลาะกัน ต้องมีวิศวกรไทย ต้องใช้แรงงานไทย วันนี้เราได้แต่นั่งมองลาวตาปริบ ๆ อิจฉาด้วย การเชื่อมโยงรถไฟและถนนต้องทำให้ได้ จากสงขลามาภูเก็ต 7 ชั่วโมง ใครจะมาภาคใต้มี ส.ส.มาตลอด ส.ส.ภาคใต้ทำอะไร ผมนั่งอยู่ใน ครม.ไม่ได้ยินสักแอะเลย มีแต่ประกันรายได้ ประกันทั้งปี ของหมู ๆ อย่างนั้น ใคร ๆ ก็ทำได้”
รวมถึงนายนิพิฏฐ์ยังทิ้งบอมบ์บ้านหลังเก่า-คู่อริเก่าอย่างพรรคพลังประชารัฐและภูมิใจไทย
“ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ใครคือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ ต้องนอนคืนนี้ เช้าถึงเที่ยงท่านถึงจะนึกออกว่าใคร ใครคือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ ท่านต้องใช่เวลา 3 วันอาจจะนึกออก ใครคือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคภูมิใจไทย อันนี้นานหน่อย อาจต้องใช้เวลาครึ่งเดือนถึงจะนึกออกว่าใคร ท่านคงต้องใช้เวลาคิด”
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ผูกขาด-ผูกปีชนะเลือกตั้งอีกต่อไป ทุกพรรคการเมืองจึงมีโอกาสช่วงชิงพื้น-จับจองเก้าอี้ ส.ส.เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้ามีให้แข่งขันกันถึง 58 ที่นั่ง