หยุดเวลาไว้ที่ “บางกะเจ้า” พื้นที่สีเขียว-เซฟโซนธรรมชาติ
ประเทศไทยของเรามีเรื่องให้ตื่นตะลึงอยู่เสมอ ๆ วันก่อนมีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมชม “คุ้งบางกะเจ้า” ไม่น่าเชื่อว่า พื้นที่สีเขียวที่งดงาม น้ำใส จะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ขับรถเลยเข้าไปพระประแดงดงโรงงานแป๊บเดียวก็เหมือนหลุดไปอีกโลก ที่มีบรรยากาศคล้ายกับย้อนเวลาไปในอดีต
พื้นที่ปอดแห่งใหญ่ใกล้กรุงแห่งนี้ ไม่ได้มีดีแค่การเป็นพื้นที่ร่มรื่น ผ่อนคลายเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ทุกตารางนิ้ว โดยเฉพาะวิถีชีวิต วัฒนธรรม ที่ยังไม่ได้ถูกสังคมสมัยใหม่กลืนไปเสียหมด เพราะยังคงเหลือร่องรอย และรูปแบบให้ผู้มาเยือนไปสัมผัสได้ และหอบเอาความประทับใจกลับออกมาจากพื้นที่ กระเพาะหมู 16 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้
“คุ้งบางกะเจ้า” เป็นส่วนหนึ่งของ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้กรุงเทพมหานคร หรือประมาณ 12,000 ไร่ เป็นที่ตั้งของ 6 ตำบล ได้แก่ บางกะเจ้า บางน้ำผึ้ง บางกอบัว บางกระสอบ บางยอ และทรงคะนอง การเป็นพื้นที่สีเขียวที่ผลิตออกซิเจน จึงเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ที่ล้อมรอบด้วยลำน้ำเจ้าพระยาอย่างลงตัว
ที่สำคัญวิถีถิ่นความเป็นอยู่ของคน และชุมชนในพื้นที่ยังพรั่งพร้อมด้วยประเพณีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาวไทย จีน และมอญ ผสมกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตเกิดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีอัตลักษณ์ที่ทรงคุณค่า และไม่มีที่ไหนเลียนแบบได้ง่าย ๆ
ด้วยศักยภาพของทุนวัฒนธรรมและทุนทางธรรมชาติของคุ้งบางกะเจ้า จึงตอบโจทย์การเป็นพื้นที่ที่นำมาต่อยอดให้ดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยยังรักษาความเป็นวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และพัฒนาการสร้างรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน เพราะด้วยที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพ จึงมีศักยภาพด้านการตลาดสูง ที่จะเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศ ให้เข้ามาเยือนคุ้งบางกระเจ้าแห่งนี้ เดือนละกว่า 1 แสนคน สร้างรายได้กระจายลงไปยังชาวชุมชนกว่า 10 ล้านบาท
ความพิเศษของพื้นที่แห่งนี้ อยุ่ภายใต้การดูแลของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งล่าสุดได้ดึง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. เข้ามาร่วมมือทำโครงการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล ดึงนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักลงไปเที่ยวเพิ่มขึ้น สร้างการใช้จ่าย และวันพักให้มากขึ้น
ปั้น 6 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน
ที่น่าสนใจคือ อพท. เข้าไปส่งเสริมแล้วไม่ใช่แค่ชี้ว่า ต้องทำนั่นทำนี้ แต่เข้าไปสร้างองค์ความรู้ เอาตัวชี้วัดเข้าไปจับ จนปั้นออกมาเป็นเส้นทางนำร่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวม 6 เส้นทาง ใน 6 ตำบล ด้วยการสร้างจุดเด่น ดึงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนมาต่อยอดให้เป็นการพัฒนาตลาดท่องเที่ยวคุณภาพสูง โดยเส้นทางท่องเที่ยวทั้งหมด ได้ผ่านการวิจัยในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยการสำรวจกลุ่มนักท่องเที่ยวมาใช้บริการทั้ง ศึกษาพฤติกรรม และความต้องการของนักท่องเที่ยว จนสะเด็ดน้ำ ทำให้เข้าใจความต้องการของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันมากขึ้น
สำหรับ 6 เส้นทาง ที่ได้รับการพัฒนา ได้แก่ 1.เส้นทางสาย Cool ไปกับพื้นที่สีเขียวเที่ยวคุ้งบางกระเจ้า 2.เส้นทางสายชิมลิ้มรสหลากหลาย สไตล์คุ้งบางกระเจ้า 3.เส้นทางสายธรรมะศรัทธาที่คุ้งบางกระเจ้า 4.เส้นทางสาย Learn&Play สัมผัสเสน่ห์คุ้งบางกระเจ้า 5.เส้นทางสายสุขภาพดีที่คุ้งบางกระเจ้า 6. เส้นทางสายตามรอยศาสตร์พระราชาแห่งคุ้งบางกระเจ้า นอกจากนี้ยังได้กำหนดเทศกาลที่คงอัตลักษณ์และวิถีของชุมชนบางกระเจ้าใน 2 เทศกาล ประจำปี ได้แก่ เทศกาลพิธีแห่หงส์-ธงตะขาบ และ พิธีตักบาตรน้ำผึ้ง ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปีด้วย
ล่องเรือชมอุโมงค์ต้นจาก
มาดูเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญกันที่ชุมชนตำบลบางกอบัว เป็นหนึ่งใน 6 ชุมชน ที่ร่วมกันคิดและพัฒนากันในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อเฟ้นหาจุดเด่น มาพัฒนาให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน มีกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะปั่นจักรยานไปตามเส้นทางสีเขียว พายเรือไปตามคลองที่มีการขุดลอกรื้อฟื้นคืนชีวิตในอดีตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เกิดเป็นกิจกรรมแนววิถีชุมชน เชิญชวนนักท่องเที่ยวได้สัมผัสบางกะเจ้าในมุมที่แตกต่างออกไป
เมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือน ชุมชนมีการต้อนรับด้วยอาหารว่างแบบไทยๆ ด้วย“เมี่ยงคำกลีบบัวพริกเกลือ” ไฮไลท์เด็ดของชุมชนบางกอบัว เมี่ยงที่นี่ใช้มะพร้าวที่ขูดแล้วนำไปคั่วจนกลิ่นหอม นำมาตำรวมกับเกลือและน้ำตาลให้กลมกล่อม ซึ่งจะให้รสชาติที่หวานๆ เค็มๆ ติดเผ็ดนิดๆ อร่อยลงตัว ส่วนกลีบบัวมาจากบัวหลวงที่ชุมชนปลูกไว้เองเพื่อให้มั่นใจได้ว่าปราศจากสารเคมีอย่างแน่นอน
จากนั้นไปลงเรือที่ท่าเรือเล็ก ๆ หลังบ้านของ “พี่อเนก” สิทธิพงษ์ ภูถาวร ประธานชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางกอบัว ถูกนำมาปรับปรุงเป็นฐานกิจกรรมล่องเรือผ่านเส้นทางสายน้ำคลองแพ ระหว่างล่องเรือนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของชาวบางกอบัวที่ผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่อดีต ซึ่งเมื่อก่อนคลองแพ คือ เส้นทางค้าขายทางน้ำที่สำคัญของชาวบ้านที่จะไปยังท่าเรือคลองเตย แ
ต่อเมื่อมีถนนตัดผ่านความสำคัญของคลองจึงลดน้อยลง ชาวบางกอบัวจึงเกิดความคิดที่จะรักษาวิถีแห่งคลองแพเพื่ออนุรักษ์รวมถึงฟื้นฟูเส้นทางเดินเรือให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของชุมชน ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันกับสายน้ำมาแต่ในอดีต
การได้มานั่งเรือพายผ่านอุโมงค์ต้นจากท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆ สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้น้อย-ใหญ่ บรรยากาศที่ร่มรื่น ซึมซับวิถีชีวิตริมฝั่งคลอง โดยการล่องเรือไป- กลับจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ปล่อยใจกายผ่อนคลายไปกับสายน้ำ มุ่งตรงไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะท้อนความแตกต่าง จุดตัดของยุคสมัย ระหว่างโลกชุมชนสีเขียว กับโลกของท่าเรืออุตสาหกรรม และการพัฒนาเมืองที่ทันสมัยที่มีตึกขนาดใหญ่บนฝั่งกรุงเทพมหานคร
สปาเท้าน้ำสมุนไพรผ่อนคลาย
กลุ่มชาวบ้านแห่งนี้ รวมตัวกันคิดค้นนำสมุนไพรที่ปลูกในรั้วบ้านของชาวชุมชน มาทำสปาเท้าน้ำสมุนไพร ที่มีการนำพืชสมุนไพรกว่า 7 ชนิด ได้แก่ ชุมเห็ด ส้มป่อย ไพล ขมิ้น ตะไคร้ มะกรุด เหงือกปลาหมอมาต้มรวมกัน แล้วนำมาผสมเป็นน้ำอุ่นสมุนไพรสำหรับใช้แช่เท้า ช่วยคลายเมื่อย ยังช่วยลดอาการชาของเท้าและมือ หลังจากนั้นก็จะนวดเท้าต่อด้วยน้ำมันมะพร้าว เพื่อให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นผ่อนคลาย ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตของเราดีขึ้น หากใครติดอกติดใจ อยากกลับไปทำให้คนรู้ใจที่บ้าน ก็สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ในรูปแบบแพคเกจพร้อมใช้ กลับไปทำต่อที่บ้าน ทางชุมชนก็มีไว้บริการ
ทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ
อีกไฮไลท์ คือ การทำผ้ามัดย้อมเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สุดสนุก โดยชุมชนได้หยิบเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นถิ่นจำนวนมาก เช่น เปลือกลูกจาก ขมิ้น ใบหูกวาง และดาวเรืองจะให้สีย้อมสีเหลือง ไม้ฝางให้สีย้อมสีแดงหรือชมพู กาบมะพร้าว ตะบูน จะให้สีย้อมสีน้ำตาล และใช้วัสดุใกล้ ๆ ตัวมาลองมัดลองพัน และย้อมลงไปในสีธรรมชาติ หากใครที่ต้องการทำให้ตัวสีเข้มขึ้นกว่าปกติสามารถใช้น้ำปูนขาว เกลือเติมลงไปในน้ำได้ ก็จะได้ผ้ามัดย้อมสีเอิร์ธโทนสวย ๆ เป็นของตัวเองมาไว้ครอบครอง
ก่อนกลับจากชุมชนแห่งนี้ ยังมีของฝากของขวัญ ติดไม้ติดมือกลับไปฝากญาติมิตรได้อีกด้วย ถือว่าเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ในการเดินทางท่องเที่ยว แบบง่าย ๆ ใกล้กรุง
ขอขอบคุณภาพประกอบเนื้อข่าวจาก : อพท.