ประชุมกนง.8 พ.ค.คาดคงอัตราดอกเบี้ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยน่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ในการประชุมครั้งที่ 3 ของปี 2562 เพื่อรอประเมินประเมินพัฒนาการเศรษฐกิจไทย
ผลของดำเนินนโยบายการเงินแบบเฉพาะเจาะจง ทั้ง Macro และ Micro Prudential อาทิ การกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio)ตลอดจน มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ (Credit underwriting standards) ต่อการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงกลางปีของรัฐบาล น่าจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยลงบางส่วน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมปัจจัยที่น่าสนใจที่คงจะมีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้ ดังนี้
พัฒนาการของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณการเติบโตที่ชะลอลง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่สูงขึ้นอาจจะหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงินจับตาพัฒนาการเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิดและสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดีอนแรกของปี 2562 ส่งสัญญาณถึงแรงขับเคลื่อนของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลของภาคเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ทั้งการส่งออกที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการเร่งส่งออกในช่วงก่อนหน้า ตลอดจน การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโตในระดับต่ำจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ตลอดจน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและยุโรปที่กระทบการขยายตัวของนักท่องเที่ยว ขณะที่ภาคในประเทศแม้ว่าจะยังคงรักษาการขยายตัวในระดับที่ดีอยู่ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวปรากฏให้เห็น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวอาจจะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ให้ขยายตัวประมาณ 3.3-3.4% อันเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. จำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนเพื่อประคองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้
แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจจะเคลื่อนไหวใกล้เคียงกรอบล่างของเงินเฟ้อเป้าหมายในปีนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าทิศทางของเงินเฟ้อจะขยับตัวขึ้นในช่วงปัจจุบัน จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี แต่ผลของการปรับขึ้นค่าจ้างคงมีการส่งผ่านไปที่ภาคเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด เนื่องจากคาดว่าการปรับขึ้นของค่าจ้างในจังหวะนี้คงเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้บริบทการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงสูง ซึ่งรัฐบาลใหม่ตัดสินใจถึงความเหมาะสมอีกครั้ง ขณะที่แม้ว่าราคาพลังงานในประเทศและค่าโดยสารรถประจำทางจะปรับขึ้นและผลของฐานราคาพลังงานที่สูงในปีก่อนหน้าทำให้การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจากปัจจัยดังกล่าวค่อนข้างจำกัด
นอกจากนี้ ขณะที่การเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเข้มข้นเพื่อแย่งกำลังซื้อที่เติบโตอย่างจำกัด คงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดทอนแรงกดดันเงินเฟ้อในปีนี้ ดังนั้น ภาพของเงินเฟ้อที่มีความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้เป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ คงจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในช่วงปลายไตรมาส 2/2562 อันจะส่งผลให้การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนส่วนใหญ่น่าจะได้รับการยกเว้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อันน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการค้าโลกรวมทั้ง ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยที่น่าจะสามารถกลับมาขยายตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัว 3.2%.