“บิ๊กป้อม” รักษาการอำนาจแทน “บิ๊กตู่” ปรับครม.- โยกย้ายเหล่าทัพ
15 วันเป็นอย่างน้อยที่ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องพักงาน (ชั่วคราว) เหลือแต่เพียงหมวกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ฟ้าผ่า ด้วยมติเอกฉันทน์ 9 ต่อ 0 รับคำร้องวินิจฉัยสถานะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ พร้อมกับมติ 5 ต่อ 4 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีจึงต้อง กุมบังเหียน ประมุขตึกไทยคู่ฟ้าในช่วง สุญญากาศ
มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ส.ค. 2563 มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 237/2563 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีและมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีและปฏิบัติราขการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง
ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้
ลำดับที่ 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลำดับที่ 2 นายวิษณุ เครืองาม ลำดับที่ 3 นายอนุทิน ชาญวีรกูล ลำดับที่ 4 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ อันดับที่ 5 นายดอน ปรมัตถ์วินัย และลำดับสุดท้าย-ลำดับ 6 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน
ถึงแม้ว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 จะระบุว่าไว้ การบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ใรอำนาจของนายกรัฐมนตรี “ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน”
แต่ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ทั้งทางตรงและทางอ้อมจึงเข้าข่ายฝ่าฝืนคำสั่ง
ขณะที่ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 41 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ประกอบกับมาตรา 48 กำหนดให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราการแทนมีอำนาจหน้าที่เป็นกรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นด้วยกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในการรักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราชการแทนด้วย
นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้รักษาราชการแทนผู้ดำรงตำแหน่งนั้นมอบหมายหรือมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทน ให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งมอบหมายหรือมอบอำนาจ
บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร จึงมีหน้าที่และอำนาจเต็ม เทียบเท่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทุกประการ
ในช่วงสุญญากาศ 15 วันนับจากนี้ จึงต้องจับตาว่า บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร จะฉกฉวยจังหวะ รักษาการนายกรัฐมนตรี ปรับครม.ประวิตร 1 เฉพาะกาล
โดยเฉพาะเก้าอี้รัฐมนตรีโควตาของพรรคพลังประชารัฐที่ว่างเว้นมานาน 2 ตำแหน่ง
ภายหลัง ผู้กองธรรมนัส ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ อาจารย์แหม่ม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับรัฐมนตรรช่วยว่าการกระทรวงแรงงานตามลำดับถูกปรับออกจากตำแหน่ง
โดยมีตัวเร่งจากคำสั่งของศาลฎีกา มีคำสั่งให้ ครูโอ๊ะ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง คดีรุกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 5 ตุลาคม 2565
รวมถึงนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎรให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (8) หรือไม่ และให้ยื่นคำชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน
เช่นเดียวกับการแต่งตั้ง-โยกย้ายราชการในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงเส้นตาย วันที่ 30 ก.ย. 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพแห่งชาติ
ในวันที่ 29 ส.ค. 2565 บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 8/2565 และการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ครั้งที่ 1/2565 ที่ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
โดยมีวาระการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ บิ๊กสีกากี ซึ่งทุกสายตาจับจ้องไปที่ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แทน บิ๊กปั๊ด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.คนปัจจุบัน
แคนดิเดตบิ๊กปทุมวัน 1 คนที่ 13 ที่อยู่ตามโผหน้าสื่อขณะนี้ คือ บิ๊กเด่น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. บิ๊กรอย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผบ.ตร. และ บิ๊กหิน พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ
ขณะที่ตำแหน่งอื่น ประกอบด้วย เก้าอี้ รองผบ.ตร. 4 ตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. 6 ตำแหน่ง ผู้บัญชาการ (ผบช.) 13 ตำแหน่ง รองผบช. 36 ตำแหน่ง และ ผู้บังคับการ (ผบก.) 77 ตำแหน่ง
ส่วนตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชากาทหารบก (ผบ.ทบ.) ยังมีอายุราชการถึง 30 กันยายน 2566
อย่างไรก็ดียังมีตำแหน่ง บิ๊กเหล่าทัพ ให้ได้ลุ้น ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)
แต่การที่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร จะล้วง-รื้อ โผทหาร ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็น ก้างขวางคอ สวมหมวกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอยู่
และการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพล บิ๊กเหล่าทัพ ยังต้องผ่านที่ประชุมสภากลาโหม โดย 7 เสือกลาโหม คุมหางเสือ ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยตำแหน่ง เป็นประธานสภากลาโหม
2.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานสภากลาโหม 3.ปลัดกระทรวงกลาโหม 4.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 5.ผู้บัญชาการทหารบก 6.ผู้บัญชาการทหารเรือ และ 7.ผู้บัญชาการทหารอากาศ
ส่วนข้าราชการพลเรือนระดับสูง แม้กระทรวงมหาดไทย โดย บิ๊กป็อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะเป็นนกรู้ จมูกไว ชิงนำเข้าที่ประชุมครม.เห็นชอบผู้ว่าราชการจังหวัดและอธิบดี บิ๊กล็อต
แต่ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง-อธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการยังมีอีกหลายกระทรวงที่ต้องนำกลับมาสแกนคุณสมบัติกันใหม่ให้มีโปรไฟล์ต่อท้ายน้องรัก-น้องเลิฟ บิ๊กบราเธอร์ เช่น ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ในช่วงสุญญากาศของอำนาจพี่น้อง 3 ป. อาจไม่ราบรื่น มีรอยต่อ เพราะอำนาจเป็นของหอมหวาน ใครได้ลิ้มรส แม้เพียงวันเดียวย่อมนอนตายตาหลับ