ท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว เดิมพันมาตรการรัฐหนุนโตทั้งปี

การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ครั้งล่าสุด มีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเสนอเข้าไปหลายเรื่อง และน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการฟื้นการท่องเที่ยวของไทยในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น หรือฤดูกาลท่องเที่ยว นับเป็นโกลเด้นไทม์ของเหล่าธุรกิจท่องเที่ยว ที่เฝ้ารอคอยเวลานี้ให้เวียนมาบรรจบทุก ๆ ปี

ความน่าสนใจของเรื่องที่บอกไปว่ามีความสำคัญ นั่นก็คือ การประชุม ศบค. ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เห็นถึงตัวเลขการท่องเที่ยวของไทยแล้ว ก็คงเข้าใจได้ดีว่าอานิสงส์ของมาตรการรัฐ กับการคลายล็อกหลายเรื่อง เริ่มจะผลิดอกออกผลมาให้เห็นแล้ว
เล่าให้ฟังแบบกระชับ ลองไปดูกร๊าฟล่าสุดที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) เสนอเข้ามา ภาพมันฟ้องเลยว่า มาตรการรัฐที่ออกมาผ่อนปรน ผ่อนคลาย ทำให้จพนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจนเห็นได้ชัด ตั้งแต่เดือนมกราคม เรื่อยมาจนถึงกรกฎาคม 2565 มีสิ่งที่น่าสนใจ คือ
เดือนม.ค. – ก.พ เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
เดือนมี.ค. ปรับการตรวจครั้งที่ 2 เป็น Self ATK
เดือนเม.ย. ยกเลิกแสดงผลตรวจก่อนเดินทาง 72 ชม.
เดือนพ.ค. Test & Go และ Sandbox
เดือนมิ.ย. ยกเลิกการกักตัว และปรับเป็นตรวจ ATK
เดือนก.ค. ยกเลิก Thailand Pass

ไทม์ไลน์ข้างต้น ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยไต่ระดับตั้งแต่ 1-2 แสนคนต่อเดือนในช่วงต้นปี กลายมาเป็น 3 แสนคน 5 แสนคน 7 แสนคน และล่าสุด 1 ล้านคน ไปเป็นที่เรียบร้อย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานที่ประชุมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยล่าสุดเกือบ ๆ จะเต็ม 8 เดือน มีเข้ามาแล้ว 3.1 ล้านคน สร้างรายได้สะสม 1.76 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยตลอดทั้งปี 2564

สำหรับชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 5 อันดับแรก ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากระยะใกล้เสียเป็นส่วนใหญ่ อันดับที่หนึ่ง คือ มาเลเซีย 5.35 แสนคน รองลงมาคือ อินเดีย 3.91 แสนคน สิงคโปร์ 2.14 แสนคน สหราชอาณาจักร 1.85 แสนคน และเวียดนาม 1.7 แสนคน
ด้วยตัวเลขออกมามีแนวโน้มสดใสอย่างนี้ แน่นอนว่า บรรดาธุรกิจท่องเที่ยวน่าจะค่อยหายใจโล่งขึ้นบ้าง เพราะว่าจะได้วางทิศทางการฟื้นธุรกิจกันถูก ตอนนี้ทุกคนหันไปมองข้ามช็อตไปปีข้างหน้าเรียบร้อยว่า วางแผนการตลาดทำอย่างไรต่อไป และโฟกัสตลาดไหน เพื่อเติมเต็มรายได้ที่หายไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าในอนาคตข้างหน้าอย่าเกิดอะไรระบาดขึ้นมาอีก

นอกจากขาต่างประเทศแล้ว มาดูทางฝั่งในประเทศกันบ้าง แน่นอนว่า ในประเทศนั้นฟื้นตัวนำตลาดต่างประเทศไปก่อนหนเนี้นานแล้ว โดยยอด 7 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ค่อย ๆดีขึ้นมาเป็นลำดับ ทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว เราเที่ยวด้วยกัน รวมไปถึงวันหยุดยาวหลายวัน ที่สำคัญคือ “ความอยาก” หลังจากอัดอั้นไม่ได้เที่ยวกันมานาน
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญให้หลายคนถวิลหาแหล่งท่องเที่ยวทั้งเก่า และใหม่หลายแห่งทั่วประเทศไทย ทำให้ทุกวันหยุดยาว หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ห้องพักในจังหวัดท่องเที่ยวใกล้ กรุงเทพฯ แน่นขนัด และน่าจะเป็นไปแบบนี้จนถึงช่วงปลายปี

ททท. ระบุข้อมูลตัวเลขไทยเที่ยวไทย ล่าสุด 1 ม.ค. – 17 ส.ค. 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยสะสม 86 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 235% ทำให้ตอนนี้มีรายได้สะสมอยู่ในกระเป๋าแล้ว 3.77 แสนล้านบาท โดยจังหวัดยอดนิยมที่คนไทยนิยมเดินทางไปเที่ยว คือ กรุงเทพฯ มากที่สุด รองลงมาก็แน่นอนว่าต้องเป็น ชลบุรี โดยเฉพาะพัทยา บางแสน ที่เหลือคือ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี
ดังนั้นเมื่อรวมตัวเลขการท่องเที่ยวทั้งหมด ทั้งขาต่างประเทศ และขาไทยเที่ยวไทย จะพบว่า ประเทศไทยมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 5.54 แสนล้านบาท ใกล้เคียงเป้าหมายเข้าไปอีกนิด

โดยตามนโยบายของ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งว่า เป้าหมายการท่องเที่ยวของไทยในปี 2565 กำหนดเป้าหมายสร้างรายได้รวม 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการฟื้นตัว 50% ของรายได้รวมปี 2562 ซึ่งเคยพุ่งไปอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน สร้างรายได้ 8 แสนล้านบาท และตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 6.56 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกันการที่จะไปให้ถึงฝั่งฝัน ในการประชุม ศบค. ครั้งนี้ ยังคลอดแนวทางการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยเห็นชอบการขยายระยะเวลาการพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 ช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง และเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว แบ่งเป็น

1.ขยายระยะเวลาพำนักสำหรับผู้ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราในการเข้าประเทศ (ผ.30) ทั้งที่ไทยให้แต่ฝ่ายเดียว และที่มีความตกลงระหว่างกัน จากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน (ผ.45)
2.ขยายระยะเวลาพำนักสำหรับผู้ได้รับ Visa on Arrival หรือ วีซ่าหน้าด่าน จากไม่เกิน 15 วันเป็นไม่เกิน 30 วัน
ทั้งนี้ในการขยายระยะเวลาพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้ง 2 กรณีข้างต้นให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 – 31 มี.ค. 2566 และ ที่ประชุมเองยังสั่งให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเร่งขับเคลื่อนการทำงานให้ตรงเป้าเพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้ตามแผน
ฟัง ๆ ดูแล้วก็น่าจะเป็นข่าวดีอีกข่าวหนึ่งในช่วงที่การเมืองกำลังร้อน ๆ อยู่ในขณะนี้