“ไทย” ดันการค้าเสรี – บีซีจี ฟื้น “เศรษฐกิจเอเปค”
การประชุมความร่วมมือเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ “การประชุมเอเปค” ถือเป็นการประชุมเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค โดยในปี 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ และการประชุมที่เกี่ยวข้องตลอดปี 2565 รวมทั้งการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.ปีนี้ โดยก่อนหน้านี้ไทยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2535 และ 2546
ปัจจุบันเอเปคมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม
21 เขตเศรษฐกิจ คุมเศรษฐกิจโลก 60%
ปัจจุบันเอเปคมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างมาก ด้วยขนาดเศรษฐกิจ 60 % ของจีดีพีโลก และส่งออก 69 % ของการค้าโลก โดยจุดแข็งของเอเปคคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทางการเงิน ตลอดจนจุดแข็งด้านอาหาร และยังมีตลาดขนาดใหญ่ครอบคลุมประชากรกว่า 2,900 คน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก
ในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในช่วงปลายปีนี้ รัฐบาลได้มีการประชุมเตรียมความพร้อม โดยเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดประชุม คณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับทราบประเด็นหลักในการจัดประชุม และประเด็นเรื่องเศรษฐกิจที่จะใช้ในการประชุมเอเปคในปีนี้
โดยในส่วนชองหัวข้อหลักในการประชุมในปีนี้จะเป็นหัวข้อ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” ที่สะท้อนความตั้งใจของไทยในการส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลกหลังโควิด-19 ผ่านการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเพื่อสร้างสมดุล เปิดกว้าง ที่เป็นการส่งเสริมการเปิดรับมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อนำมาสร้างเสริมบรรยากาศการดำเนินธุรกิจและการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เชื่อมโยง การรื้อฟื้น การเดินทางเพื่อสร้างเสริมปฏิสัมพันธ์และการทำธุรกิจในภูมิภาคให้คืนกลับอย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ขณะที่การจัดประชุมของภาคธุรกิจ หรือ APEC CEO Summit 2022 ประเทศไทย ดำเนินการภายใต้ 3 แนวคิดหลัก นั่นคือ “EMBRACE ENGAGE ENABLE” โดย EMBRACE สื่อถึงการเปิดรับโอกาสที่กำลังเข้ามาใหม่ เปิดกว้างความเชื่อมโยงของเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ENGAGE สื่อถึงการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อสรรค์สร้างทิศทางเศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคตร่วมกัน และ ENABLE สื่อถึงการขยายข้อจำกัดความสามารถทางเศรษฐกิจ ให้การดำเนินการทางธุรกิจสามารถเป็นไปได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม
Bangkok Goal ดันความร่วมมือเศรษฐกิจภูมิภาค
ประเทศไทยได้เตรียมจัดทำร่างเอกสาร “Bangkok Goal” เพื่อเป็นเอกสารย้ำเจตนารมณ์ร่วมของเอเปคในการผลักดันการฟื้นตัวจากโควิด-19และขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาวที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม ประกอบด้วย
1.การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ความเป็นกลางทางคการปล่อยก็าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์
2.การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน
3.การบริหารจัดการทรัพยากร ที่ยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ
และ 4.การลดและบริหารจัดการของเสีย
ทั้งนี้เป้าหมายเหล่านี้สอดคล้องกับนโยบายของไทยและพันธกิจของหน่วยงาน ไทยที่เกี่ยวข้อง และสะท้อนความมุ่งมั่นของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ต่าง ๆ เช่น กรอบกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ (UNFCCC) และ ต่อยอดจากงานของเอเปคที่ทำอยู่แล้ว เช่น การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และพลังงานสีเขียว การส่งเสริมเกษตรกรรมและระบบอาหารที่ยั่งยืน การอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าและ บริการสิ่งแวดล้อม การจัดการกับ การทำประมงผิดกฎหมาย (UU fishing) ขยะทะเล การลักลอบตัดไม้และค้าไม้ผิดกฎหมาย การส่งเสริม ธุรกิจสีเขียวรวมถึง ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และราย ย่อย (MSMEs) เป็นต้น
โดยในส่วนของการดำเนินการ Bangkok Goals ต้องผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ระบบภายในกลไกเอเปค (whole-of-system approach) ผ่านปัจจัยขับเคลื่อน 4 ประการ ได้แก่ การมีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย การพัฒนาโครงการพื้นฐาน การเสริมสร้างขีดความสามารถ และการสร้างเครือข่ายกับภาคส่วนต่างๆ โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคมีหน้าที่ติดตาม ความคืบหน้าและผลลัพธ์ของการดำเนินการตาม Bangkok Goals และให้สำนักเลขาธิการเอเปคเป็นผู้รวบรวม โครงการและความร่วมมือที่เกี่ยวข้องเพื่อรายงานต่อเจ้าหน้าที่อาวุโสต่อไป
เขตการค้าเสรี FTAAP เพิ่มมูลค่าการค้าเพิ่ม 400%
ในส่วนของประเด็นเศรษฐกิจที่จะมีการนำเสนอและขับเคลื่อนในการประชุม ประเทศไทยได้นำเสนอหลักการสำคัญ 2 เรื่องได้แก่
1.การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน ไทยผลักดันการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หลังยุคโควิด-19 (a refreshed APEC conversation on post-COVID-19 FTAAP) โดยนำบทเรียนจากโควิด-19 มาส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค คำนึงถึงประเด็น ด้านดิจิทัล สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ จากบรรยากาศดำเนินธุรกิจที่ดีและมีคุณภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในอนาคตต่อไป
ล่าสุดในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (MRT) ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือน พ.ค. 2565 สมาชิกเอเปคสนับสนุนให้ จัดทำแผนงานระยะหลายปี (multi-year work plan) เพื่อสานต่อการหารือเรื่อง FTAAP อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้รับการระบุในถ้อยแถลงประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปคด้วย
โดย FTAAP เป็น FTA ของกลุ่มความร่วมมือกลุ่มเศรษฐกิจการค้าเอเปค mujมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการหรือนักธุรกิจ ประชาชนทั่วไป เพื่อให้ เกิดความเข้าใจและรวมพลังขับเคลื่อนจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก 21 เขตเศรษฐกิจไปเป็น FTAAP ในอนาคต ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2040 โดยไทยจะร่วมกับสมาชิกเอเปคในการเดินหน้าเรื่องนี้และจะบรรจุไว้ในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีการค้าเอเปค
ทั้งนี้หาก FTAAP สำเร็จ จะเป็นประโยชน์กับสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมาก เพราะจะช่วยขยายการค้า การลงทุน จากการที่ภาษีนำเข้าระหว่างกันจะลดเป็น 0% มีการเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการมากขึ้น ลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน
โดยหากไทยสามารถผลักดันการจัดทำได้สำเร็จ จะกลายเป็นเอฟทีเอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกัน 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรวมกัน 52 ล้านล้านดอลลาร์ (1,768 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 62% ของจีดีพีโลก และมูลค่าการค้าระหว่างกันจะเพิ่มขึ้น 200-400%
ทั้งนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา FTAAP หรือ เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)ของกลุ่ม 21 เขตเศรษฐกิจหรือกลุ่มเอเปค ยังไม่สามารถเดินหน้าเริ่มการเปิดเจรจาได้ เป็นเพียงแนวคิดริเริ่มของเอเปกที่จะขับเคลื่อน แม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพเอเปค ได้ประกาศวิสัยทัศน์ปุตราจายาว่า สมาชิกจะเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันหรือ FTAAP และตั้งเป้าหมายเจรจาให้สำเร็จในปี 2040 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มอย่างจริงจัง
จนกระทั่งปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 2022 (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022) ได้ประกาศขับเคลื่อน FTAAP อย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าจะบรรจุไว้ในการแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีการค้าเอเปคปีนี้
โดย FTAAP มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก โดยการลดอุปสรรคและส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างกัน โดยยึดแนวทางดำเนินงานที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก
ไทยดันบีซีจีสร้างความยั่งยืนเศรษฐกิจเอเปค
2.ประเทศไทยจะเสนอประเด็นการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม (BCG) ที่สะท้อนให้เห็นถึงการรวมตัวของทุกภาคส่วนทางธุรกิจในทุกระดับเพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจที่ยั่งยืน พร้อมการผลักดันแนวคิด BCG Economy Model ที่ประกอบไปด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งนับเป็นวาระแห่งชาติของไทยด้วย
โดยแนวคิด BCG ถูกส่งเสริมให้นำมาใช้เพื่อมาปรับแนวทางการทำธุรกิจ และการดำเนินชีวิต ในมิติต่าง ๆ เพื่อสร้างเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่ยั่งยืนและครอบคลุม กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะนำผลการดำเนินการไปประกาศในการประชุมระดับผู้นำในเดือน พ.ย.2565 ด้วย
ทั้งนี้ไทยในฐานะเจ้าภาพจะนำแนวคิด BCG ของไทยไปแลกเปลี่ยนในเอเปค เพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเติบโต อย่างแข็งแกร่ง ครอบคลุม ยั่งยืน และคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย ต่อภูมิภาค และต่อโลกในภาพรวม มาชิกเอเปคสนับสนุนข้อเสนอของไทย และจัดทำเอกสารระดับผู้นำ “Bangkok Goals on BCG Economy” และรับทราบความคืบหน้าของการจัดทำเอกสารดังกล่าวในถ้อยแถลงของผู้นำที่จะมาร่วมประชุม
โดยการดำเนินการต่อไป ไทยจะพัฒนาร่างเอกสารดังกล่าวร่วมกับสมาชิกเอเปค รวมถึงนำไปหารือในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสโดยมีแผนให้ได้ข้อสรุปและนำเสนอร่างสุดท้ายให้ผู้นำรับรอง ทั้งนี้ Bangkok Goas จะเป็นมรดก (legacy) ที่ไทยจะมอบให้เอเปคเพื่อเป็นแนวทางการผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในภูมิภาค ในอีกหลายปีข้างหน้าต่อไปหลังจากที่จบวาระการเป็นเจ้าภาพของไทย และหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ไทยทำงานใกล้ชิด คือ สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 โดยหนึ่งในประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการเติบโตสีเขียว
ทั้งนี้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทย เป็นความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจและ องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19 และการสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคให้มี ความเข้มแข็งเพื่อเดินหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืน มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (disruptions) ต่าง ๆซึ่งรวมถึงความท้าทายที่กำลังอุบัติขึ้นจากสถานการณ์รัสเซีย-เครน อย่างราคาอาหาร สินค้าเกษตร น้ำมันและ พลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ความผันผวนของอุปทานสินค้าที่จำเป็น และความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลก