ทางสองแพร่งบิ๊กตู่ ลงหลังเสือ บิ๊กป้อม นายกฯ ขัดตาทัพ
ส.ค. 2565 เป็นทางสองแพร่งทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
10 ส.ค. 2565 รัฐสภามีวาระร้อนต้องรับผิดชอบประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
วาระการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 10 ส.ค.65 ถูกดึงด้วย “เรื่องด่วน” ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….. (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43) ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (เพิ่มมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48)
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง) ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272) ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 120)
ขณะที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถูกดีเลย์ไว้ใน “เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว” ต่อจากการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม
15 ส.ค. 2565 เป็นเดดไลน์ 180 วัน หากที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.วาระที่สามไม่เสร็จ จะต้องกลับไปใช้ร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
หากเทียบร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับครม.เป็นผู้เสนอ กับ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่คณะกรรมมาธิการพิจารณา-ลงมติรายมาตรา ทั้งหมด 32 มาตรา
มาตราสำคัญที่นักการเมืองปรับแต่ง เช่น มาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือ ผู้สูงอายุในการออกเสียงลงคะแนน โดยให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้ช่วนในการใส่บัตรเลือกตั้งลงหีบบัตรเลือกตั้งแทนคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการออกเสียงลงคะแนนก็ได้ แต่ต้องทำต่อหน้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น
มาตรา 18 ปรับปรุงแก้ไขโดยเพิ่มหลักการในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาสังเกตการณ์การนับคะแนน โดยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการนับคะแนนที่กกต.กำหนดนั้น จะต้องกำหนดให้มีการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาสังเกตการณ์การนับคะแนนสามารถเห็นบัตรเลือกตั้งและเครื่องหมายลงคะแนน และบันทึกภาพและเสียงการนับคะแนนได้ โดยไม่เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งด้วย
มาตรา 19 กำหนดหลักการใหม่ในเรื่องการบันทึกข้อมูลผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้ง จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือจากการออกเสียงคะแนนในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้กกต. ประจำเขตเลือกตั้งบันทึกข้อมูลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้ง จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือจากการออกเสียงลงคะแนนในแต่ละหน่วยเลือกตั้งเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านช่องทางที่กกต.กำหนดและเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยทั่วไปภายใน 72 ชั่วโมงหลังปิดการออกเสียงลงคะแนน
ขณะที่มาตราที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้การพิจารณาของรัฐสภาล่มทุกครั้ง จนไม่แนวโน้มว่าจะเสร็จไม่ทันกรอบระยะเวลา 180 วัน คือ มาตรา 23 เรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 หลังจากกมธ.เสียงข้างน้อยชนะเสียงข้างมาก
สำหรับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับครม. มาตรา 23 ให้ยกเลิกความในมาตรา 128 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 128 เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อจากผู้อำนวยการการเลือกคั้งประจำจังหวัดแล้ว ให้ดำเนินการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้
1 ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
2 ให้นำคะแนนรวมจาก (1) หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน
3 ในการคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (2) ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม คือ จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
4 ในกรณีที่จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็มและพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากคำนวณตาม (3) พรรคใดเป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 1 คน เรียงตามลำดับจนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจำนวน 100 คน
5 ในการดำเนินการตาม (4) ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากันและจะทำให้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกินจำนวน 100 คน ให้ตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเศษเท่ากันจับสลากให้ครบจำนวน
อาการกล้า ๆ กลัว ๆ ของพล.อ.ประยุทธ์ จะใช้สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 จะเข้าทางพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์
พลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็น หัวหน้าพรรค จึงต้องเดินสายโรดโชว์ 10 จังหวัด ตีปี๊บผลงานรัฐบาล เพื่อรองรับสูตรการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะออกมาหารด้วย 100 หรือ หารด้วย 500
24 ส.ค. 2565 เป็นอีกวันที่จะชี้ชะตาอนาคตของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะได้ไปต่อ หรือ ลงหลังเสือ คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยสถานะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พรรคร่วมฝ่ายค้าน เตรียมยื่นให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาและประธานรัฐสภาเพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 17 สิงหาคม 2565
รวมถึงก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ครบ 8 ปี
โดยศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาเป็น 3 แนวทาง
แนวทางแรก เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ทำให้จะครบ 8 ปี ในวันที่ 21 ส.ค. 2565
แนวทางที่สอง เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 พล.อ.ประยุทธ์จึงจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 6 เม.ย. 2568
แนวทางที่สาม เริ่มนับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2565 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 5 มิ.ย. 2570
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามแนวทางแรก จะส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี-ลงหลังเสือ รวมถึงครม.ต้องพ้นไปทั้งคณะ กลายสภาพเป็น “ครม.รักษาการ”
ระหว่างนี้ พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 หรือ “สร.2” จะนั่งเป็น “นายกรัฐมนตรีรักษาการ” ก่อนจะมีการเลือก “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” โดยที่มานายกรัฐมนตรีจะมาจาก 2 ทาง
ทางแรก “นายกรัฐมนตรีคนใน” (แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมือง) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบมาตรา 88 และทางที่สอง “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272
โดยไม่มีระยะเวลากำหนดว่า จะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนพล.อ.ประยุทธ์ภายในระยะเวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปี แต่ภารกิจเดียวของนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพคือมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งในอีก 8 เดือนข้างหน้า