‘น้ำมันโลก’ ลด ยังไม่ช่วย ‘เงินเฟ้อ’ ไทย
พาณิชย์-กกร.หวั่นเฉลี่ยทั้งปีพุ่งแตะ 7%
นับตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมาที่เกิดการสู้รบกันระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาพลังงาน และก๊าซในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นโดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงระดับ 130 – 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค.ที่ผ่านมาส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวพุ่งสูงขึ้น เช่น ในสหรัฐฯอัตราเงินเฟ้อพุ่งไปถึง 9.1% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาก็พุ่งสูงขึ้นไปแตะระดับ 7.66% สูงสุดในรอบ 13 ปี
ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นแรงกดดันต่อการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% ติดกันสองครั้ง ขณะที่เป็นการคาดหมายว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ส.ค.นี้จะมีการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 0.5% ในปัจจุบัน หลังจากที่เงินเฟ้อฟื้นฐานของไทยเกินกว่ากรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐบาลได้กำหนดไว้ที่ 1 – 3%
ราคาน้ำมันปรับลด 18% ใน 1 เดือน
อย่างไรก็ตามในภาวะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงมานานหลายเดือน ในช่วงเวลาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลงโดยน้ำมันเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงจากระดับที่สูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือปรับลดลงประมาณ 18% ต่ำกว่าในช่วงก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน
โดยสาเหตุที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงเนื่องมาจากความกังวลในเรื่องของความถดถอยของเศรษฐกิจโลก ปัญหาเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ในจีน รวมทั้งนโนบายซีโร่โควิดของรัฐบาลจีนที่ยังปิดเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่บางเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก รวมทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) วันละ 1 แสนบาร์เรลต่อวันทำให้ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลดลง
เงินเฟ้อเดือน ก.ค.ลดลงครั้งแรกในรอบปี 2565
ทั้งนี้ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลงส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อได้เช่นกัน โดยอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการแถลงตัวเลขดัชนีผู้บริโภค (CPI) ในวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาพบว่าอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค.อยู่ที่ 7.61% เมื่อเทียบกับตัวเลขเงินเฟ้อของเดือน ก.ค.ปีก่อน
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่าตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาเป็นการลดลงจากเดือนก่อนหน้าครั้งแรกในรอบปี 2565 สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกในเดือนนี้อยู่ที่ 2.99% ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือน ก.ค.ลดลงมาจากการลดลงของราคาแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำมันพืช และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดบางชนิด (น้ำยารีดผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ) ที่ราคาลดลง
ส่วนที่โดยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.ที่อยู่ในระดับที่สูงเนื่องจากสินค้ากลุ่มพลังงานยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือน ก.ค.ที่เพิ่มขึ้น และน้ำมันถือเป็นเป็นต้นทุนในทุกขั้นตอนการผลิตและ โลจิสติกส์ของสินค้าและบริการ ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้า เกษตรสำคัญสูงขึ้น ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิง บางชนิด (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน) ในเดือนนี้จะปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ยังสูง เนื่องจากราคาก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ยังคงอยู่ในระดับสูง
เงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือนเพิ่มขึ้น 5.89%
สำหรับค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อไทยในระยะ 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 5.89% เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกรกฎาคม 2565 สูงขึ้น 12.2% ปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า ตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาพลังงานและวัตถุดิบ ต้นทุนการนำเข้าจากการอ่อนค่าของเงินบาท และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น6.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นตามราคา วัตถุดิบ ราคาพลังงาน และค่าเงินบาทอ่อนค่า ประกอบกับการใช้วัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นไปตามแผน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 45.5 จากระดับ 44.3 ในเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและใน 3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเปิดสถานบันเทิง ทั่วประเทศและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง ขณะที่ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน และมาตรการของภาครัฐ เป็นปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค
พาณิชย์ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้เฉลี่ย 6%
สำหรับสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงซึ่งหลายฝ่ายได้จับตามองว่าจะส่งผลต่อการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่นั้น ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ระบุว่าจะยังไม่ส่งผลให้กรอบคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีลดลง โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 เป็นระหว่าง 5.5 – 6.5% (ค่ากลาง 6.0%) จากเดิมที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในที่ประมาณ 4.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยที่คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับตัวเลขดังกล่าว
ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงตามการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบไปด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทยเปิดเผยในการแถลงข่าวประจำเดือน ส.ค.ว่า กกร.ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิมที่คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปีนี้อยู่ที่กรอบ 5 – 7% มาอยู่ที่ 5.5 – 7%
กกร.คาดเงินเฟ้อเฉลี่ยสูงสุดแตะ 7%
โดยการปรับเพิ่มกรอบเงินเฟ้อของ กกร.ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับเพิ่มครั้งที่ 3 ของปี จากครั้งแรกประมาณการในเดือน มิ.ย.2565 ที่คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับ 3.5 – 5.5% ต่อมาในเดือน ก.ค.2565 กกร.ปรับประมาณการเงินเฟ้ออยู่ที่ 5 – 7% และในครั้งล่าสุดในการประชุมและแถลงข่าวในเดือน ส.ค.ปรับกรอบเงินเฟ้อปีนี้เป็น 5.5 – 7% ดังกล่าว
ทั้งนี้การปรับขึ้นประมาณการเงินเฟ้อของ กกร.เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่
5.6% ซึ่งสูงกว่าภาวะปกติที่ 1-3% มาก และคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้าที่เริ่มกระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น นอกจากนั้นหากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในงวด ก.ย.-ธ.ค. ก็จะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อในปีนี้ปรับตัวเร่งขึ้นได้อีก ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะกระทบอำนาจซื้อภาคครัวเรือน และต้นทุนของภาคธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้นและกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้
โดย กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่ายังสามารถขยายตัวในกรอบ 2.7-3.5% ได้ โดยมาตรการที่ภาครัฐออกมาช่วยลดค่าครองชีพ และช่วยในเรื่องพยุงกำลังซื้อในรอบล่าสุดผ่านมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 และการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางทำให้สามารถช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ประมาณ 0.2%
กอบศักดิ์คาดน้ำมันโลกเคลื่อนไหว 90 – 100 ดอลลาร์
การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจในเรื่องการลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในส่วนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดที่เคยขึ้นไปถึง 130 – 140 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลมาอยู่ในระดับ 90 – 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากขณะนี้บางประเทศได้มีการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย
รวมทั้งมีความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลง การปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการเก็งกำไรลดลงไป ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลงก็ส่งผลดีต่อระดับเงินเฟ้อที่ลดลง และช่วยให้การต่อสู้กับเงินเฟ้อของเฟดและธนาคารกลางทั่วโลกง่ายขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้
“ตัวเลขเงินเฟ้อเป็นตัวเลขที่แบงก์ชาติต้องจับตาดูเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย โดยเงินเฟ้อในส่วนที่เป็นเงินเฟ้อรวมในเดือนที่ผ่านมาของไทยอยู่ที่ 7.66% แต่ในส่วนที่เป็นเงินเฟ้อทั่วไป ของไทยอยู่ที่ 2.58% ถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงนัก ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติอีก 0.75% เพื่อให้ดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 คาดว่าเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จากนั้นก็จะต้องดูปัจจัยอื่นๆทั้งในและต่างประเทศแต่คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะ”
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่ข้อมูลราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ก่อนหน้าแสดงให้เห็นถึงราคาที่ขึ้นลงผันผวนเป็นอย่างมาก โดยตลาดกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันเป็นอันดับสองของโลก มีแนวโน้มถดถอย โดยสำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาลดลง 1.2 จุด จากเดือนก่อน อยู่ที่ 49 จุด ทั้งนี้ PMI ต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะถดถอยของกำลังการผลิตภายในประทศส่งผลเชิงลบต่อราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ตามตลาดน้ำมันได้แรงหนุนจากปัจจัยเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) หลังเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า ทำให้นักลงทุนกลับมาเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ โดยดัชนีดอลลาร์ (DXY Index) ซึ่งเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลักของโลกปิดตลาดวันที่ 29 ก.ค. 2565 ลดลง 0.59% จากวันก่อนหน้า อยู่ที่ 105.90 จุด
โอเปกเพิ่มกำลังการผลิต 1 แสนบาร์เรลต่อวัน
ขณะที่การประชุมของกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมาประเทศในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันตกลงว่าเพิ่มการผลิตน้ำมันอีก 1 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยตลาดคาดว่า OPEC+ สวนทางกับที่ตลาดคาดว่ากลุ่ม OPEC+ จะคงโควตาการผลิตในเดือน ก.ย. 2565 ไว้ที่ระดับ 42.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากสมาชิกบางประเทศไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ แม้สหรัฐฯ เรียกร้องให้เพิ่มปริมาณการผลิตให้มากขึ้น
โดยราคาน้ำมันในช่วงนี้ได้รับปัจจัยบวก และปัจจัยลบที่มีผลต่อระดับราคาน้ำมัน แบ่งเป็นปัจจัยบวกได้แก่ การรายงานของ Interfax เรื่องปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ เดือน มิ.ย. 65 อยู่ที่ 37.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าโควตาใหม่ ซึ่งผ่อนคลายมาอยู่ที่ระดับ 42.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ทำให้อัตราความร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางเดิม คือลดการผลิต (Compliance Rate) สูงถึง 320%
ขณะที่กระทรวงการคลังของญี่ปุ่น (Ministry of Finance) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 2565 เพิ่มขึ้น 22.1% จากปีก่อน อยู่ที่ 2.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อน อยู่ที่ 5.8 ล้านตัน และนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 17.7% จากปีก่อน อยู่ที่ 8.76 ล้านตัน
ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลต่อระดับราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.75% มาอยู่ในช่วง 2.25%-2.5%
World Economic Outlook ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2565 จากปีก่อนอยู่ที่ 3.2% ลดลงจากคาดการณ์ในเดือน เม.ย. 65 ที่ +3.6% จากปีก่อน
ส่วนสหรัฐฯ ได้มีการประกาศขายน้ำมันจากคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณ 20 ล้านบาร์เรล ตามแผนการระบาย SPR ปริมาณรวม 180 ล้านบาร์เรล ภายใน 6 เดือน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้สหรัฐฯ ได้ดำเนินการขาย 125 ล้านบาร์เรล และส่งมอบให้ผู้ซื้อแล้วเกือบ 70 ล้านบาร์เรล
ส่วนบริษัท Rosstat Statistics Office ของรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ในเดือน มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 49,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งหมดทำให้เห็นว่าแม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเริ่มปรับลดลง แต่ยังไม่ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงในทันทีโดยหน่วยงานเศรษฐกิจอย่างกระทรวงพาณิชย์ และ กกร.ยังคาดการณ์ว่าในปีนี้อาจจะมีโอกาสเห็นเงินเฟ้อเฉลี่ยในระดับ 7% ได้หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง