วัดใจรัฐบาลอัดงบฯช่วยธุรกิจท่องเที่ยว
รับเทรนด์เปิดประเทศ ฟื้นศก.ครึ่งปีหลัง
รายได้จากภาคการท่องเที่ยวถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศภายหลังจากที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี ปัจจุบันหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต่างเริ่มออกนโยบายและมาตรการในการเปิดประเทศ ควบคู่กับมาตรการกระตุ้นเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยคาดหวังว่าจะให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายช่วยฟื้นเศรษฐกิจ และเพิ่มการจ้างงานในประเทศให้เพิ่มขึ้นในช่วงที่สถานการณ์โควิด -19 เริ่มคลี่คลายลง
ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการติดตามสถานการณ์การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศมาโดยตลอด เมื่อเร็วๆนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบรายงานแนวโน้มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และแนวโน้มในระยะต่อไป โดยพบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน
คาดนักท่องเที่ยวเข้าไทย 10 ล้านคน สร้างรายได้ 1.5 ล้านล้าน
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้การคาดการณ์การจราจรทางอากาศและจำนวนผู้เดินทางจากต่างประเทศมายังประเทศไทยในปี 2565 จะเกินกว่า 10 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นของผู้เดินทางเป็นไปทิศทางเดียวกับทั่วโลก ที่ผ่อนคลายข้อจำกัดการเข้าประเทศ หลังคลายความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยได้มีการยกเลิกการลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass สำหรับชาวต่างชาติ ทำให้การเดินทางเข้าประเทศกลับสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นมาที่เป็นวันที่ยกเลิกไทยระบบ Thailand Pass มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 3 – 3.5 หมื่นคน
อย่างไรก็ตามการเปิดประเทศไทยเกิดขึ้นพร้อมๆกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวทั่วโลกหลายประเทศที่ต่างก็ทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเช่นกันหลังความรุนแรงของโควิด-19 คลี่คลาย และพลเมืองโลกได้รับวัคซีนมากขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลจากการวิเคราะห์ของ Statista Q บริษัทวิจัยตลาดในเยอรมนี ชี้ว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2565 จะฟื้นตัวกลับมามากถึง 80% ของการท่องเที่ยวก่อนเกิดโควิด-19 และประมาณการว่าในปี 2565 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 353 ล้านยูโร ซึ่งสูงกว่าปี 2564 ที่มีมูลค่า 260 ล้านยูโร และคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ในปี 2567 โดยหลายประเทศมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศตามความพร้อม และศักยภาพในการจัดการกับโควิด-19ภายในประเทศ เช่น รัฐบาลออสเตรเลียพยายามดึงนักท่องเที่ยวกลับมาด้วยการเปิดตัวแคมเปญโฆษณามูลค่า 28.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นานาชาติงัดมาตรการดึงนักท่องเที่ยว
ส่วนสิงคโปร์และมาเลเซียอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสเข้าประเทศได้แบบไม่ต้องกักตัวและไม่ต้องตรวจเชื้อ ส่วนข้อแตกต่างก็คือมาเลเซียกำหนดให้ผู้เดินทางจะต้องทำประกันภัยการเดินทางครอบคลุมการรักษาโควิด 19 ไม่ต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนสิงคโปร์ยังไม่อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบโดสเดินทางเข้าประเทศ
ส่วนเกาหลีใต้ประกาศเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 โดยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศที่ฉีดวัคซีนตามที่กำหนดแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้โดยไม่ต้องขอวีซาและไม่ต้องกักตัว เช่นเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกาศเพิ่มเพดานรับคนเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม 10,000 คนต่อวัน เป็น 20,000 คนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.และตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.เปิดรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสีน้ำเงินที่มาเป็นกลุ่มทัวร์และมีไกด์ เพื่อจะได้ทราบถึงเส้นทางและจำนวนนักท่องเที่ยวที่แน่นอน โดยจะต้องทำประกันให้ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลโควิด 19 และต้องฉีดวัคซีนครบ 3 โดสด้วย ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะรวมอยู่ในโควตาขาเข้า 20,000 คนต่อวันด้วย
ส่วนประเทศนิวซีแลนด์ก็ประกาศขยับเวลาเปิดประเทศให้เร็วขึ้น จากเดิมที่วางแผนไว้เดือนตุลาคม 2565 แต่เมื่อพิจารณาประเด็นการขาดแรงงานทักษะทั่วประเทศอย่างฉับพลัน รัฐบาลจึงตัดสินใจเลื่อนการเปิดประเทศเป็นเดือนก.ค. 2565 โดยเปิดรับคนที่มีวีซาทุกประเภทที่ได้รับวัคซีนแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว
อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศไทยภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ทำให้การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังสามารถฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่าภาคธุรกิจอื่นๆดังนั้นภาคเอกชนที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวจึงต้องการมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาลเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น และได้มีการหารือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อนำเสนอชุดมาตรการต่างๆที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเพิ่มเติม จากนั้นในวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา รมว.ท่องเที่ยวฯได้พากลุ่มนักธุรกิจภาคท่องเที่ยว 12 หน่วยงาน ได้เข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับผู้บริหารของกระทรวงท่องเที่ยวกีฬา รวมถึงสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ที่ได้เข้ามาร่วมรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชนเพื่อจัดทำมาตรการความช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป โดยบางมาตรการเป็นมาตรการที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่บางมาตรการต้องใช้งบประมาณสนับสนุนซึ่งก็ต้องดูว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณจากแหล่งเงินใดมาสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวของประเทศ
เอกชนชงแพคเกจ ABC บูมท่องเที่ยว – ฟื้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้มีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทยในปีนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ภายในปีนี้ สำหรับตลาดในประเทศ มุ่งกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่เน้นการเพิ่มวันพักค้างและความถี่ในการเดินทาง โดยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยว 160 ล้านคน/ครั้ง และอัตราการเข้าพักแรม (Occupancy Rate) เฉลี่ยทั่วประเทศของโรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการ อยู่ในระดับที่ไม่น้อยกว่า55% โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าและบริการ ท่องเที่ยวที่ต้องพักค้างกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้เสนอชุด “มาตรการ ABC” เพื่อฟื้นฟูประเทศและพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย เพื่อจะช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจ กระจายรายได้อย่างทั่วถึงตลอดห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ก่อให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งเป็นการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่
1.“มาตรการ A” หรือ “Accelerate Travel & Tourism Spending” เป็นการเร่งรัดให้เกิดการ ใช้จ่ายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักในไทยในระยะเวลาที่นานขึ้น โดยพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าเป็นการชั่งคราวจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2565 และขอขยายระยะเวลาพำนักของ Tourist Visa จาก 15 วันเป็น 45 วัน และ Visa on Arrival (VOA) จาก 30 วันเป็น 45 วัน
โดยการขยายระยะเวลาวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักนานขึ้น มีการใช้จ่ายมากขึ้น เป็นการเพิ่มเติมกำลังซื้อสำหรับเศรษฐกิจในประเทศ และยังสอดรับกับปีท่องเที่ยวไทย (Visit Thailand Year 2022-2023) ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย
2. “มาตรการ B” หรือ “Booster shot” เพื่อผลักดันการฟื้นการท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยมุ่งส่งเสริมให้สายการบินเพิ่มความถี่และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) ในการเดินทางในเส้นทางการบินเดิม การเปิดเส้นทางใหม่ หรือการเช่าเหมาลำ (Chartered Flights) ทำให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง ในราคาค่าโดยสารสมเหตุสมผล เพิ่มการเชื่อมโยงและยังช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองท่องเที่ยว หลักและเมืองรอง
ตั้งเป้าหมายในการนำความถี่และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) กลับมาไม่น้อยกว่า 50% ของความถี่และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) ที่เคยมีในปี 2562 ภายในสิ้นปี 2565 นอกจากนี้ยังจะนำผู้ประกอบการทำการตลาด เชิงรุกผ่านเทรดโชว์และ โรดโชว์อย่างเข้มข้นในต่างประเทศ พร้อม ๆ กับการทำงาน ร่วมกับพันธมิตร เพื่อส่งเสริมการขาย และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น มาตรการที่ให้ความสำคัญ กับภาคธุรกิจและโรงแรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่อยู่ในระบบฐานภาษี โดยจัดส่งเสริมการตลาดให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านห้อง/คืน การทำคูปองท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และการสนับสนุน รถทัวร์ เพื่อใช้ในการเดินทางศึกษาดูงานหรือการประชุมสัมมนาในต่างจังหวัด
ชงยืดจ่ายภาษีที่ดินช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
3. “มาตรการ C” หรือ “Cost-effective” เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ลดต้นทุน เพิ่มสภาพคล่อง ส่งเสริมขีดความสามารถในการ แข่งขันระยะยาว โดยการผ่อนผัน แก้ไขระเบียบ คำสั่ง และ/หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเหมาะสมและยืดหยุ่น ได้แก่
1. ปรับอัตราการเบิกจ่ายในการอบรม การจัดงาน และประชุมระหว่างประเทศ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศซึ่งอัตราเดิมต่ำมากและใช้มาเป็นเวลา 10 ปี ให้สอดคล้องกับระดับราคาที่เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านอาหารและวัตถุดิบที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
2)การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการกรณีเดินทางเป็นหมู่คณะผ่อนผันให้จ้างเหมาบริการผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้โดยตรง และอนุญาตให้ใช้ใบแจ้งหนี้ของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายและใช้ใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการจ่าย
3. ให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับการต่อเติมหรือปรับ ขยายกิจการ การปรับปรุงอาคารและเฟอร์นิเจอร์ (Build-in) และการลงทุนในเรื่องนวัตกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อลกต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน สามารถนำมาใช้เป็นรายจ่ายของกิจการได้ 2 เท่า (200%) ของรายจ่ายที่จ่ายจริงขยายเวลาอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิ (Tax Loss Carry Forward) จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 5 ปี เป็น 10 ปี
4. ขอผ่อนชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เรียกเก็บในปี พ.ศ. 2565 เป็นงวดโดยไม่คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม รวมถึงพิจารณาลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม โดยจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได ปี 2566 และลดหย่อนภาษี 75% ในปี 2567 ลดหย่อน 50% และปี 2568 ลดหย่อน 25% ตามลำดับ
เสนอแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคท่องเที่ยว
5. เพื่อลดภาวะแรงงานขาดแคลนในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม พิจารณาสนับสนุนและผ่อนผันกฎ ระเบียบ วิธีปฏิบัติ ตลอดจนลดขั้นตอนเพื่อรับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานจนถึงปี 2567 โดย ผ่อนผันให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการจดแจ้งกลุ่มแรงงานไม่มีทักษะ ได้แก่ แม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด พนักงานล้างจาน คนสวน ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องผ่านบริษัทนายหน้า หรือบริษัทตัวแทน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และอนุญาตให้จดแจ้งได้ตลอดระยะเวลาผ่อนผันให้ปรับลดเงินได้ท้ายคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวที่กำหนดคนต่างด้าวสัญชาติประเทศในทวีปเอเชีย (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นประเทศเกาหลีใต้ ประเทศสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ประเทศกัมพูชา ประเทศเมียนมา ประเทศลาว และประเทศเวียดนาม) และทวีปอเมริกาใต้ ประเทศในเขตยุโรปตะวันออก ประเทศในเขตอเมริกากลาง ประเทศเม็กซิโก ประเทศรัสเซีย และประเทศแอฟริกาใต้ มีรายได้ขั้นต่ำ 30,000 บาทต่อเดือนเป็น 20,000 บาทต่อเดือน
6. สนับสนุนให้มีการจัดฝึกอบรม พัฒนาทักษะการให้บริการ ทั้ง Upskill และ Reskill ให้กับบุคลากร เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการและความปลอดภัย โดยเร่งรัดจัดหา ผู้ทรงคุณวุฒิลงพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอนภายในโรงแรม หรือในกลุ่มโรงแรมที่รวมตัวกันได้ และมีการอบรมเพิ่มเติมสำหรับตำแหน่งขาดแคลน ได้แก่ ช่างซ่อมบำรุงประจำโรงแรม ช่างไฟฟ้า ช่างเทคนิค รวมทั้งจัดตลาดแรงงานในภูมิภาค เชื่อมโยงข้อมูลแรงงาน
และ7. สนับสนุนกลุ่มแรงงานหลังเกษียณที่ยังคงมีศักยภาพพร้อมเรียนรู้ กลับเข้าสู่การบริการ และนำผู้ประกอบการไปรับสมัครงานในแต่ละพื้นที่ในโอกาสแรก และประสานหน่วยงานพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะศึกษาและปริญญาตรี ในการพัฒนานักศึกษาจบใหม่ หรือบุคลากรฝีมือเพื่อตอบสนอง การขาดแคลนตำแหน่งงานฝีมือในโรงแรม เช่น งานช่าง และผู้ปรุงอาหารในครัว โดยเร่งด่วน