เปิดนโยบาย ‘เศรษฐกิจ 3 แกน’ พล.อ.ประยุทธ์ ขอ 2 ปี เดินหน้าประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ไม่นานนักก็เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้า ราคาพลังงาน ปรับตัวสูงขึ้นมากกระทบต่อปากท้องของประชาชน แม้รัฐบาลจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาออกมาเป็นระยะๆแต่ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถตอบโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชนได้ทั้งหมด
ขณะเดียวกันระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินมาสู้กับวิกฤติโควิด-19 และการสูญเสียรายได้ไปจากภาคการท่องเที่ยวที่ลดลง ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 2 ปีที่ผ่านมาลดลงไปประมาณ 2 ล้านล้านบาท เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องตอบคำถามประชาชนและสังคมให้ได้ว่าจะมีวิธีการหรือโมเดลเศรษฐกิจอย่างไรในการหารายได้เพิ่มเติมเข้าประเทศในอนาคตเพื่อชดเชยรายได้ที่เสียไป และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ความจำเป็นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้น และการวางแผนการสร้างรายได้ให้กับประเทศในระยะต่อไปจึงเป็นที่มาที่พรรคการเมืองต่างๆไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองเก่า หรือพรรคการเมืองใหม่ต้องพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจที่จะทำหากได้รับเลือกเข้ามาบริหารประเทศ ขณะเดียวกันผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมาพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจที่ตนเองจะขับเคลื่อนต่อในระยะเวลาอีก 2 ปีข้างหน้าผ่านกลยุทธ์ภาพใหญ่ที่มี 3 แกนหลัก ซึ่งนอกจากจะเป็นการบอกถึงนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญในระยะต่อไป ยังบอกถึงย่างก้าวทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ที่ยังต้องการไปต่อทางการเมือง แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่าในครั้งนี้จะยังเป็นแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่
ฉายภาพ 3 แกนเศรษฐกิจแย้มขอ 2 ปีบริหารงานต่อ
ทั้งนี้แถลงการณ์ของพล.อ.ประยุทธ์เรื่อง “กลยุทธ์ 3 แกนสร้างอนาคต” ได้เผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา และนายกรัฐมนตรีได้มีการบันทึกเทปเพื่อเผยแพร่ซ้ำในเรื่องนี้ในวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าในเรื่อง 3 แกนนี้เป็นเรื่องที่ตนเองและรัฐบาลทำมานานแล้ว และที่ผ่านมายังไม่มีใครคิดในเรื่องนี้แต่ตนเป็นคนคิดคนทำ และทั้ง 3 เรื่องที่เป็นแกนจะสร้างอนาคตประเทศให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น
สำหรับกลยุทธ์ 3 แกนสร้างอนาคตของพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าจะประกอบไปด้วย 3 เรื่องคือ โครงสร้างพื้นฐานที่มีการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ การเดินหน้าภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง และแกนสุดท้ายคือเรื่องของการปฏิรูปภาคธนาคารที่ต้องทำให้ประชาชน และธุรกิจรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายที่สุด
ทั้งนี้กลยุทธ์ทั้ง 3 แกน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าได้พูดคุยกับ ครม.แล้วว่าทุกคนต้องช่วยกันเร่งเครื่องตามกลยุทธ์ภาพใหญ่ มองไปข้างหน้าและคว้าอนาคตที่ดีให้ได้ เพื่อที่คนไทยจะมีความเจริญรุ่งเรืองได้มากกว่าเดิม และเป็นหนทางเดียวที่เราจะปกป้องตัวเองได้จากราคาข้าวของที่แพงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากต่างประเทศที่เข้ามาส่งผลกระทบกับเราทุกปี พร้อมทั้งระบุว่าจะได้เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรม ในเวลาไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้กลยุทธ์ 3 แกนมีที่พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศไว้ทั้งสองครั้ง มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
1.แกนเรื่อง โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ที่ใหญ่ที่สุด และบูรณาการมากที่สุด โครงการสร้างทางรถไฟ ถนน สนามบิน หรือท่าเรือ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อยกระดับความรุ่งเรืองมั่งคั่งของทุกคน โครงการที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างยาวนานหลายปี และตอนนี้ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ถือเป็นการขับเคลื่อนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย ตอนนี้ใกล้จะเสร็จแล้ว และเมื่อเสร็จก็จะเหมือนต่อจิกซอว์ภาพใหญ่เสร็จ จะส่งพลังสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นยุคทองการเจริญรุ่งเรื่องของประเทศไทย
เมื่อโครงการทางรถไฟ โครงการรถไฟความเร็วสูง ถนน ท่าเรือ และสนามบินต่างๆ เกิดขึ้นจริง โครงการเหล่านั้นจะเชื่อมต่อกัน เหมือนต่อจิ๊กซอว์ภาพใหญ่ได้สำเร็จ และนั่นคือเวลาที่เราจะคาดหวังถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างก้าวกระโดดของประเทศเราได้ และเมื่อโครงการต่างๆ เหล่านั้นเชื่อมต่อกัน จะเป็นเหมือนสะพานเชื่อม เป็นเครื่องมือให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง และประเทศได้
ทั้งนี้ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆจะช่วยให้เกิดความมั่งคั่งได้เนื่องจาก ถนน ราง สนามบิน ท่าเรือ คือหนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยสร้างโอกาสให้ทุกคน ให้เราซื้อของได้ถูกลง ทำสิ่งต่างๆ ให้เร็วขึ้น หาลูกค้าได้มากขึ้น หาที่ทางทำมาหากิน หาที่ค้าขายผลผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้น มีนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงๆเข้ามามากขึ้น นี่เป็นวิธีที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น
เร่งเครื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
2.แกนเรื่องภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงต่างๆ เป็นภาคอุตสาหกรรมที่หล่อเลี้ยงเชื่อมต่อไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดเล็กอีกมากมาย ตลอดจนดึงเงินมหาศาลให้ไหลเข้าประเทศไทย ผ่านการส่งออกต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อนความมั่งคั่งรุ่งเรืองของไทยแต่วันนี้ อุตสาหกรรมนี้ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงครั้งใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นประเทศไทยต้องเดินหน้าให้เร็ว และเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่กำลังพยายามจะใช้โอกาสนี้ดึงเอาอุตสาหกรรมยานยนต์ออกไปจากประเทศไทย
ทั้งนี้รัฐบาลได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่สำคัญของโลก เราต้องพยายามให้ผู้ผลิตยานยนต์ทั่วโลกให้อยู่ในประเทศไทย และต้องช่วยให้เรื่องต่างๆ ง่ายขึ้นในการที่ผู้ผลิตจะลงทุนเพิ่ม และขยายธุรกิจในประเทศไทยหากทำสำเร็จ เส้นทางนี้จะเป็นรากฐานที่สำคัญที่เกื้อหนุนหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมต่างๆ และประเทศไทยให้มั่งคั่งต่อไปได้ อีกเป็น 20-30 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้จะต้องทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า มีราคาที่ถูกลง สำหรับคนไทยทุกคน โดยจะมีการให้รายละเอียดเพิ่มเติม และความคืบหน้า เกี่ยวกับกลยุทธ์แกนที่ 2 นี้ประมาณช่วงเดือนหน้า และตั้งเป้าที่จะเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ให้จบภายในไม่เกิน 12 เดือนข้างหน้า ถ้าทำได้ประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลกได้เลยโดยอุตสาหกรรมต่างๆ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของโลกในอนาคต ช่วยสร้างงานมากมาย สร้างโอกาสใหม่ๆมหาศาล และสร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวยให้คนนับล้านๆ ตอนนี้ประเทศไทยต้องคว้าพื้นที่ของตัวเองในโลกนี้ให้ได้ เราจะต้องจับจองพื้นที่ของตัวเองก่อนประเทศอื่น เพราะนี่จะสร้างความมั่งคั่งได้มหาศาลที่สุดอย่างหนึ่งของโลกในช่วงสิบๆ ปีข้างหน้า
“วันนี้ผมเหยียบมิดคันเร่งและเราต้องทำให้ได้ ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลกมาตั้งโรงงานในประเทศไทยให้ได้ และถ้าได้เรายังจะได้ผู้ผลิต บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ๆ ของโลกตามมาอีกด้วย บริษัทซอฟต์แวร์ และบริษัทอุตสาหกรรม จะตามมา กลายเป็นว่าประเทศไทยจะไม่ใช่มีความสำคัญแค่เป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แต่ไทยจะเป็นประเทศที่สำคัญเชิงเทคโนโลยีอีกด้วย ตอนนี้พวกเราวิ่งมาได้ไกลมาก บริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นหนึ่งผู้ผลิตไอโฟนที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งยืนยันกับผมว่าจะตั้งศูนย์ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งที่ 2 ในโลกของเขา ไม่ใช่แค่นั้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็ยืนยันกับเราแล้วว่าเอาด้วย นั่นคือโตโยต้า และยังมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ รถกระบะ และรถ SUV ที่ใหญ่ที่สุดของจีนก็ยืนยันกับเราแล้วเหมือนกัน และยังมีอีกหลายรายที่ปัจจุบันเรากำลังพูดคุยอยู่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ตั้งเป้าปฎิรูปภาคการเงินธนาคารปล่อยกู้รายย่อยมากขึ้น
3.แกนเรื่องเกี่ยวกับภาคการธนาคาร และวิธีการทำงานของธนาคาร ที่ต้องหาทางที่จะทำให้เงินทุนที่จำเป็น ไปถึงมือเจ้าของกิจการเล็กๆ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นพลังที่สำคัญมากต่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเราควรต้องส่งเสริมโดยการเปลี่ยนแปลงนี้ คือหนทางสำคัญที่จะกระจายความมั่งคั่งร่ำรวย จากคนที่รวยอยู่แล้วที่สามารถกู้เงินได้ และทำให้รวยยิ่งขึ้น กระจายออกไปสู่คนที่เพิ่งเริ่มต้นทำมาค้าขายหรือทำธุรกิจ และคนที่ไม่มีทรัพย์สินค้ำประกันเงินกู้ ให้สามารถกู้เงินเพื่อธุรกิจค้าขายได้ และเดินหน้าไปสู่ความร่ำรวยได้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการผลักดันให้ภาคการเงินของประเทศไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และทำให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ ได้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้นการพลิกโฉมภาคธนาคาร เงินกู้จากธนาคารเป็นเครื่องมือที่สำคัญสุดที่จะช่วยทุกคนให้สร้างตัวเองได้ สร้างธุรกิจ สร้างรายได้ และสำหรับคนทั่วไปเงินกู้จากธนาคารยังช่วยให้รอดพ้นจากอุปสรรคชั่วครั้งชั่วคราวที่ต้องเจอเป็นปกติโดยไม่ล้ม ไม่ต้องหมดเนื้อหมดตัว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่าเงินกู้จากธนาคารยังช่วยเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่ฉลาดให้เริ่มต้นธุรกิจของตนเอง (stat up) ได้แต่ตอนนี้คนไทยเกือบครึ่งหนึ่งกู้เงินจากธนาคารไม่ได้ ทั้งผู้ประกอบการเล็กๆ เจ้าของร้านค้าขาย หรือวัยรุ่นคนรุ่นใหม่เขาติดและยากมากที่จะกู้ได้ หรือเขาอาจกู้ไม่ได้เลยเพราะเขาไม่มีเอกสารหรือไม่ได้ร่ำรวย ไม่มีหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินค้ำประกันสำหรับการประเมินเงินกู้ตามวิธีการแบบเดิมๆของธนาคาร ประเทศไทยต้องแก้จุดนี้ให้ได้ ถ้าเราแก้ได้ก็จะส่งพลังให้กับคนนับล้านๆ สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและขับเคลื่อนประเทศได้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ และ AI ที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้ช่วยธนาคารประเมินความสามารถในการจ่ายคืนเงินกู้และประเมินความตั้งใจในการคืนเงินกู้ได้โดยไม่ต้องใช้เอกสารหรือทรัพย์สินค้ำประกันแบบเดิม
โดยรูปแบบนี้เขาทำกันแล้วในยุโรป อเมริกา ธนาคารที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่นั่นวันนี้ปล่อยเงินกู้ช่วยคนเป็นสิบๆล้านคนเรียบร้อย พวกที่ไม่เคยได้เงินกู้จากธนาคารแบบเดิมๆ วันนี้ช่วยสร้างชีวิตเขาให้ดีขึ้น ขอชวนทุกธนาคารให้รีบนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพื่อให้ธนาคารของเราเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ และขอให้ทำตัวเองเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ส่งเสริมให้คนไทยสามารถยกระดับชีวิตตัวเองไปสู่อนาคตที่ดีกว่าที่เขาควรจะมีได้
“ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่แย่ลงทุกวัน จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน บอกเราว่า เราต้องเดินหน้าให้เร็วยิ่งขึ้น ผมต้องการเห็นธนาคารต่างๆ ในประเทศไทย และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เร่งเครื่อง กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ เพื่อทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงให้ได้ และเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนทุกคน ผมรู้ว่า มีหลายๆ ธนาคารกำลังมองและทำเรื่องที่ผมกล่าวอยู่นี้ ผมขอให้ธนาคารเหล่านั้น เดินหน้าให้เร็วขึ้น และขอให้เป็นพลังที่สำคัญมากยิ่งขึ้น สำหรับสิ่งดีๆ ของประเทศ และช่วยยกระดับประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดี ที่เราสมควรจะมี”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
โครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีแล้วเสร็จปี 2568 – 2569
ความคืบหน้าที่สุดในส่วนของกลยุทธ์ 3 แกนที่มีแผนงานชัดเจนมากที่สุดคือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะความคืบหน้าของโครงการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยในการประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานครั้งล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซีเปิดเผยว่าที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั้ง 4 โครงการในพื้นที่อีอีซี
โดยในส่วนของ 2 โครงการสำคัญมีกำหนดที่จะออกหนังสือส่งมอบที่ดินให้กับเอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการ (NTP) เพื่อเริ่มก่อสร้างในเดือน ต.ค.นี้ ได้แก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งได้ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา งานสาธารณูปโภครื้อเสร็จและรฟท. ได้พื้นที่ครบ 100% เอกชนเข้าพื้นที่เตรียมก่อสร้าง เช่น งานสร้างถนน งานก่อสร้างโรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง ดำเนินการแล้วเสร็จ และเริ่มก่อสร้างต่อเนื่อง โดยส่วนเชื่อมสุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา โครงการจะสามารถเปิดบริการปี 2569
และ 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ส่วนภาครัฐ กองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่งที่ 2 เสร็จเรียบร้อย งานปรับถมดินลานจอดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแล้วเสร็จ 100% และงานปรับถมดินทางวิ่งที่ 2 ก้าวหน้าเกิน 80% และเอกชนคู่สัญญาเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจและเตรียมก่อสร้างแล้วตามแผนงาน ในส่วนของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ EHIA ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำประชาพิจารณ์
โดยในเดือนส.ค. และการปรับปรุงรายงานเพื่อนำเสนอ ครม. เดือนก.ย. 2565 โดยการก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งจะสอดคล้องกับฟื้นตัวการเดินทางทางอากาศเพื่อท่องเที่ยวทั่วโลก ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องหลังจากนี้ ภายหลังสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย
สำหรับความคืบหน้าของโครงการท่าเรือสองโครงการในพื้นที่อีอีซีได้แก่ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีความคืบหน้าคือจะ เริ่มงานออกแบบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และงานออกแบบท่าเรือก๊าซแล้ว และขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และช่วงงานถมทะเล โดยได้จัดตั้งมูลนิธิกองทุนฯ ชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ตามข้อกำหนด EHIA เรียบร้อย โดยคาดว่าท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ 1 ท่าเรือสินค้าเหลวและพื้นที่คลังสินค้า คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 เช่นกัน
ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เริ่มต้นการก่อสร้างงานทางทะเล และการจัดทำ EHIA สำหรับท่าเทียบเรือ F จะอนุมัติภายในเดือนส.ค. 2566 โดยงานสาธารณูปโภคและท่าเทียบเรือ F1 คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2568