SCB ปัญหาน้ำมัน เครื่องยนต์ และฝุ่น PM 2.5
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ น้ำมัน เครื่องยนต์ และฝุ่น PM 2.5 – ลดภาษีรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลแก้ปัญหาได้จริงหรือ
อีไอซีมองว่า ปัญหาฝุ่น PM ที่เกิดจากไอเสียรถยนต์ดีเซลอย่างมีนัยสำคัญ โดยภาครัฐควรคำนึงถึงมาตรการที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดจากรถยนต์เก่าเพื่อกำจัดรถที่ก่อมลพิษมากที่สุดออกจากท้องถนนควบคู่กับไปด้วยราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงขึ้น และจากส่วนต่างราคาน้ำมันดิบชนิดเบาและชนิดหนัก (light-heavy crude spread) ที่ลดลง
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2019 ครม. มีมติใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์กระบะเครื่องยนต์ดีเซลที่ได้มาตรฐานยูโร 5 ในอัตรา 0.5–2% เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์พัฒนาเครื่องยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าวได้เร็วขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาค่าฝุ่นละอองซึ่งเป็นวาระแห่งชาติอยู่ในขณะนี้ อีไอซีมองว่า การลดภาษีสรรพสามิตของรถยนต์กระบะเครื่องยนต์ดีเซลครั้งนี้จะไม่ส่งผลให้ฝุ่น PM ลดลงอย่างมีนัยสำคัญใน 1-3 ปี เนื่องจากไทม์ไลน์ในการลงทุนของกลุ่มโรงกลั่นเพื่อปรับการผลิตไปเป็นมาตรฐานยูโร 5 จะยังไม่แล้วเสร็จภายในปี 2021 จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น เครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5 นั้นต้องใช้น้ำมันที่มีคุณภาพในระดับที่จะสามารถรองรับหรือส่งเสริมให้เครื่องยนต์สามารถปล่อยมลภาวะไม่เกินมาตรฐาน
แต่การลงทุนปรับโรงกลั่นในประเทศทุกโรงให้ผลิตน้ำมันยูโร 5 จะต้องใช้เวลาราว 3-5 ปีตามแผนของโรงกลั่นรายใหญ่ในประเทศ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันโรงกลั่นบางส่วนได้ผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ออกมาแล้วแต่น้ำมันชนิดนี้ถูกทำการตลาดให้เป็นน้ำมันประเภทพรีเมี่ยมซึ่งมีราคาสูงกว่าน้ำมันดีเซลยูโร 4 ราว 3 บาทต่อลิตร และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือกลุ่มรถยนต์นั่ง เครื่องยนต์ดีเซลของยุโรปซึ่งเป็นเครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5 หรือยูโร 6 อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ทั้งประเทศผู้ประกอบการทุกรายจึงจำเป็นต้องต้องปรับมาตรฐานน้ำมันในช่วงเวลาเดียวกันเนื่องจากน้ำมันส่วนหนึ่งถูกส่งทางท่อที่โรงกลั่นต่างๆ ใช้ร่วมกัน ไม่เช่นนั้นน้ำมันที่ได้มาตรฐานสูงกว่าก็จะถูกผสมกับน้ำมันเกรดต่ำกว่าในท่อส่งน้ำมัน นอกจากนี้ การลดภาษีสรรพสามิตของรถยนต์กลุ่มกระบะไม่เพียงพอที่จะจูงใจให้ผู้ผลิตปรับแผนการผลิตรถเครื่องยนต์ยูโร 5 ให้เร็วขึ้น
เนื่องจากอัตราภาษีสรรพสามิตของรถยนต์กลุ่มนี้ต่ำมากอยู่แล้ว การปรับเครื่องยนต์จากยูโร 4 เป็นยูโร 5 นั้นจะส่งผลให้ต้นทุนรถยนต์สูงขึ้น จากการวิเคราะห์ของ พันธุ์สวัสดิ์ ไพฑูรย์พงษ์ จาก Headlight Magazine หากรถราคา 650,000 บาท ส่วนต่างจากการลดภาษีก็อาจทำให้ราคาลดลงได้ราว 5,000-20,000 บาทเป็นอย่างมากสำหรับรถกระบะตอนเดียว (no cab) และรถกระบะตอนครึ่ง (space cab) ซึ่งรถกระบะ 2 กลุ่มนี้ เป็นประเภทที่มีผู้คนซื้อใช้เยอะที่สุด เนื่องจากราคาและภาษีประจำปีต่ำ ดังนั้นเมื่อภาษีสรรพสามิตไม่ได้ลดลงมาก ทำให้ราคารถกระบะเครื่องยนต์ยูโร 5 ยังคงสูงกว่ายูโร 4 ผู้ผลิตรถยนต์อาจไม่สามารถดึงดูดกลุ่มผู้ซื้อรถกระบะที่ส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวต่อค่าใช้จ่ายสูงให้หันมาใช้รถกระบะเครื่องยนต์ยูโร 5 ได้ โดยเฉพาะในขณะที่ส่วนต่างราคาของน้ำมันดีเซลยูโร 4 และยูโร 5 สูงอย่างในปัจจุบัน