ผ่างบพันล้าน ททท.ขอปั๊มชีพจรท่องเที่ยวไทยปลายปี
สัปดาห์ก่อนน่าสนใจเกี่ยวกับนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลเกิดขึ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะกรณีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ใจกล้า! เตรียมชงของบก้อนใหม่อีกพันกว่าล้าน เอาไปกระตุ้นการท่องเที่ยวปลายปี มีชื่อน่าสนใจว่า “เราฟื้นด้วยกัน” คลับคล้ายคลับคลาโครงการแจกเงินก่อนหน้านี้ไม่น้อย
ด้วยเหตุผลความจำเป็นก็พอเข้าใจได้ว่าการฟื้นการท่องเที่ยวก็มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ แต่ด้วยจำนวนเงินที่สูงถึงหลักพันล้านนี่สิ จะสมเหตุสมผลพอหรือไม่ ในยามที่เงินในมือของรัฐบาลมีอยู่อย่างจำกัด และยังต้องสำรองไว้หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเหมือนในทุก ๆ ปีที่ผ่านมาจากพิษโควิด-19 สารพัดระลอก
สำหรับวงเงินที่ ททท. เตรียมเสนอขอจากรัฐบาลนั้น ตัวเลขชัด ๆ คือ 1,035.75 ล้านบาท มีรายละเอียดชัด ๆ ที่อยากเอามาเล่าให้ฟัง ดังนี้
รูปแบบการดำเนินการจะตั้งโครงการขึ้นมาคือ “บูสต์เตอร์ ช็อต” (Booster Shot) คล้าย ๆ กับการฉีดวัคซันเข็มกระตุ้นเข้าร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แต่บูสต์เตอร์ ช็อตในที่นี่หมายถึงการฉีดเงินลงไปปั๊มชีพจรการท่องเที่ยวของประเทศในช่วงต่อจากนี้ มีหมุดหมายสำคัญผ่านรูปแบบ “เราฟื้นด้วยกัน” ดันทั้งตลาดในและต่างประเทซ
เดิมพันด้วยตัวเลขรายได้ที่จะลงไปบังภาคการท่องเที่ยวของไทย ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท!!
ตามประมาณการ หากทำได้ตามแผนเงินจะลงไปสู่การท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้าน แบ่งออกเป็น 2 ก้อนใหญ่ ก้อนแรก ตลาดในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย ตั้งเป้าหมายกระตุ้นคนไทยเดินทางท่องเที่ยวจำนวน 67.8 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 6.56 แสนล้านบาท และเพิ่มอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในธุรกิจโรงแรมให้อยู่ที่ไม่น้อยกว่า 55%
ส่วนอีกก้อนคือ ตลาดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นรายได้หลักของการท่องเที่ยว ในส่วนนี้ตั้งเป้าหมายดึงต่างชาติเข้ามาจำนวน 7-10 ล้านคน หวังสร้างรายได้สะพัด 8 แสนล้านบาท
อัดเงินกระตุ้นตลาดในประเทศ
ไปเริ่มจากตลาดหลักกันก่อน นั่นคือ ตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ ในยามนี้น่าจะเป็นตลาดที่น่าจะกระตุ้นได้ง่ายที่สุด แม้จะมีความเสี่ยงเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และน้ำมันพุ่งสูง แต่อย่างไรก็ตามอุปสรรคต่าง ๆ อาจจะไม่ได้ส่งผลกับพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยมากนัด โดยเฉพาะกลุ่มที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึง ททท. เตรียมเสนอขอเงินในส่วนนี้ประมาณ 882 ล้านบาท
โดยแผน “บูสต์เตอร์ ช็อต” ในประเทศ แบ่งออกเป็นแผนย่อย 3 เรื่องหลักที่จำเป็นต้อง “ทำทันที ทำทันที ทำทันที” เริ่มจาก
1.ส่งเสริมให้สายการบินเพิ่มจำนวนที่นั่งขึ้นอีก 1 ล้านที่นั่ง สนับสนุนให้เกิดกระจายการเดินทางท่องเที่ยวในระยะทางที่เกิน 200-300 กิโลเมตร งานในส่วนนี้ ททท. รับหน้าที่เดินสายพูดคุยสมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย เพิ่มอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งททท.จะเข้าไปช่วยสนับสนุน การจัดทำโปรโมชั่น ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
2.ส่งเสริมโรงแรมที่พักที่อยู่ในระบบฐานภาษี เพิ่มจำนวนห้องพัก 1 ล้านห้องต่อคืน เพื่อช่วยเหลือโรงแรมกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง หลังจากบางแห่งต้องล้มหายตายจากขายกิจการไปหลายแห่งจากพิษของโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลางและขนาดย่อม รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมที่เสียภาษีถูกต้องแต่ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 ให้สามารถฟื้นตัวหรือประคองตัวจนรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้
3.ส่งเสริมผู้ประกอบการรถโดยสารนำเที่ยว (รถทัวร์) ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ธุรกิจนี้ในสาขาการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบไปหนักหนาไม่แพ้บรรดาผู้ประกอบการโรงแรม เพราะเมื่อไม่มีคนเที่ยวรถก็จอดแช่ไว้เฉย ๆ แต่ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต้องจ่ายอยู่ทุกวินาที ทั้งภาษี ค่าซ่อมบำรุง ค่าจ้างพนักงาน และจิปาถะอีกมาก โดยททท. จะหาทางสนับสนุน เพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวให้ได้ 1 ล้านคน พร้อมไกด์
โดยททท.จะเข้าไปสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าอาหาร โดยอาจไม่ให้ทั้งหมด เพราะอาจจองหารือโควต้าเป็นรายภูมิภาค เบื้องต้นผู้ประกอบการเสนอตัวเลขเป็นตุ๊กตามาที่ 10,000 บาทต่อวัน ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ อาจต้องทำเป็นแพคเกจออกมา และที่สำคัญคือ การดำเนินการทุกอย่างต้องโปร่งใส อย่าซ้ำรอยเราเที่ยวด้วยกันเดิมที่เกิดการทุจริตในโครงการขึ้น
ระดมแผนกระตุ้นตลาดต่างประเทศ
มาดูฝั่งตลาดต่างประเทศกันบ้าง ที่ผ่านมาประเทศไทยยินดีกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่โตแบบก้าวกระโดด สร้างรายได้เข้าประเทซกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน แต่พอมาเจอโควิด-19 สถานการณ์พลิกนักท่องเทียวหยุดการเดินทางทั้งโลก และการออกมาตรการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้การจพะผลักดันตัวเลขให้ได้สักแสนล้านบาทก็ยากเย็น
แต่อย่างไรก็ดี ด้วยสรรพกำลังที่ยังพอมี และยังไงก็แล้วแต่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังเป็นตลาดใหญ่ที่สร้างรายได้ ททท. ได้เตรียมเสนอขอเงินมา “บูสต์เตอร์ ช็อต” ต่างประเทศประมาณ 153 ล้านบาท ตามแผนได้ตั้งเหมายเอาไว้ค่อนข้างสูง นั่นคือ หวังว่าจะกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยให้ได้ 7-10 ล้านคน สร้างรายได้ 8 แสนล้านบาท และมีจำนวนที่นั่งบนเครื่องบิน (Seat Capacity) กลับมาไม่น้อยกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562
ตามแผนกำหนดเอาไว้ 5 เรื่องหลัก ที่จะต้องทำควบคู่กับตลาดในประเทศ “ทันที ทันที ทันที” เริ่มจาก
1.การสนับสนุนการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ผ่านการเสนอขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ทั้ง Tourist Visa และ Visa on Arrival (VOA) หรือการตรวจลงตรา ณ ท่าอากาศยาน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ครอบคลุมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 2565 ขยายเวลาระยะเวลาพำนักของ Tourist Visa จาก 30 วัน เป็น 45 วัน และ VOA จาก 15 วัน เป็น 45 วัน เช่นเดีวกับขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าด้วย
2.สนับสนุนสายการบินในการเพิ่มความถี่และเปิดเส้นทางใหม่ ซึ่งจะต้องหารือกับทางผู้ประกอบการสายการบินอีกครั้วว่าจะดำเนินการอย่างไรหรืออาจมีการส่งเสริมเรื่องอะไรอีกบ้าง
3.ทำงานร่วมกับเอเจนต์ในการเปิดเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มตลาดหลักที่นิยมเดินทางเข้ามาในไทยผ่าน Charter Flight โดยจำเป็นต้องผลักดันให้ครึ่งหลังของปีนี้มีจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินกลับเข้าไทยไม่น้อยกว่า 50%
4.การส่งเสริมการจัดโรดโชว์ในการกระตุ้นการท่องเที่ยว เจาะเป้าหมายกลุ่มตลาดสำคัญ หรือตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านตลาดต่างประเทศ
5.การจัดทำโครงการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว ผ่านการหารือกับ ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ (OTA) แต่ในส่วนนี้ยังต้องรอข้อสรุป และข้อเสนอจากจาก OTA เพิ่มเติมเข้ามาก่อน
ส่วนทั้งหมดนี้จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่คงต้องมาลุ้นกันอีกที