ปัดฝุ่น แตกแบงก์พัน พรรคพี่-พรรคน้อง ชิงเหลี่ยม สูตรหาร 500
ใบสั่งจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ทำเนียบรัฐบาลถึงรัฐสภา บ่ายวันที่ 5 ก.ค. 2565 เพื่อสกัดแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย ลับ-ลวง-พราง
คืนวันที่ 6 ก.ค. 2565 รัฐสภาโหวต หักดิบ กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่ .. พ.ศ. …. เสียงข้างมาก แก้ไขมาตรา 23 วิธีการคิดคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์) จากหารด้วย 100 กลับหลัง 360 องศา เป็นหารด้วย 500
สำหรับมติโหวตเห็นด้วยกับสูตรหารด้วย 500 พรรคเพื่อไทยมีเสียงงูเห่าออกมา 7 เสียง ได้แก่ 1.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น 2.นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ 3.นายธีระ ไตรสรณกุล 4.นายนิยม ช่างพินิจ 5.นางผ่องศรี แซ่จึง 6.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร และ 7.นายสุชาติ ภิญโญ
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐมีเพียง 2 เสียงที่ยืนอยู่ในหลักการเดิม ได้แก่ 1.นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ 2.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ไม่ลงคะแนน 1 เสียง คือ นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์
ส่วนงดออกเสียง 5 คน ได้แก่1.น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย 2.นายวันชัย ปริญญาสฃศิริ 3.นายสุรสิทธิ์ วงศ์วิทยานันท์ 4.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร และ 5.นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งปล่อยฟรีโหวต และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับสูตรหาร 500 มีเพียง 11 เสียงที่เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ได้แก่ 1.นายกนก วงษ์ตระหง่าน 2.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค 3.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ
4.นายเทิดพงษ์ ไชยนันทน์ 5.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน 6.นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ 7.นายสมชาติ ประดิษฐพร 8.นายสาธิต ปิตุเตชะ ประธานกมธ.วิสามัญร่างฯ 9.นายสินิตย์ เลิศไกร 10.นายสุทัศน์ เงินหมื่น 11.นายอันวาร์ สาและ
ส่วนพรรคภูมิใจไทย ประสานเสียง เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ทั้งหมด เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ที่สบช่องกลับไปใช้การเลือกตั้งสูตร MMP ที่เคยเสนอ แต่แพ้โหวตไปในการพิจารณาวาระแรก
รวมถึงพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนใหญ่ก็เทเสียงไปทางเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครวมพลังประชาชาติไทย
พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังเมืองไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคเพื่อชาติไทย
ขนาดพรรคเต้ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์ยัง งดออกเสียง มีแต่พรรคพีระวิทย์ เรืองลือดลภาค พรรคไทรักธรรม เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ทำให้นับวันจะมีราคา-ดูแพงขึ้นทุกวัน
แม้กติกาการเลือกตั้งใหญ่ เปลี่ยนจากการเลือกตั้งบัตรใบเดียวเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ เข้าทาง เพื่อไทย หลังจากพรรคไทยรักไทย เคยสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมือง เป็นพรรครัฐบาลเสียงข้างมาก พรรคเดียว เลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ
ทว่ากติกาย่อย การคิดคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หารด้วย 500 (จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมด) 7-8 หมื่นคะแนน สามารถมี ส.ส.ได้ 1 คน จากเดิมหากใช้สูตรหารด้วย 500 (จำนวนส.ส.ทั้งหมดของสภา) ต้องใช้คะแนนกว่า 3 แสนคะแนน
แคมเปญแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย พาทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านอย่างเท่ ๆ จึงต้องฝันสลาย
เป็นการย้อนกลับไปเป็นกติกาที่พรรคพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์ได้เปรียบ เหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ “ถูกออกแบบมาเพื่อพวกเรา”
พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี ส.ว. (คสช.) สรรหา 250 คน ยกมือสนับสนุน
ขณะที่พรรคเพื่อไทย แม้จะได้ ส.ส.มากที่สุด 134 เสียง (เป็น ส.ส.เขตทั้งหมด) แต่ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แม้แต่ที่นั่งเดียว จนต้องตกไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน
เมื่อกติกาการเลือกตั้งกลับไปเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม ส.ส.พึงมี พรรคเพื่อไทยจึง แก้เกม ด้วยการ ปัดฝุ่น กลยุทธ์ แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย หลังจากเคยสร้างปรากฎการณ์ แผ่นดินไหวทางการเมืองมาแล้ว
คราวนี้ การตั้งพรรคสาขา “ครอบครัวเพื่อไทย” อาจจะได้เห็น พรรคไทยรักษาชาติภาคสอง อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย – ลูกสาวคนเล็ก ทักษิณ ชินวัตร ลงมาเป็นหัวหน้าพรรค-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเต็มตัว
นอกจากนี้ยังมีพรรคเส้นทางใหม่ ของ เดอะอ๋อย จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ย้ายกลับมาพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่เมื่อเกมเปลี่ยน อาจจะได้เห็น จาตุรนต์ กลับมา ฉายแสง บน เส้นทางใหม่ (อีกครั้ง)
ฟากขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ – 3 ป. ก่อนหน้านี้แยกย้ายไปตั้งพรรคพี่-พรรคน้องไว้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ก่อนโหวตพลิกสูตรจากหาร 100 เป็น หาร 500 เกือบจะเรียกได้ว่า เป็นพรรคที่ไม่ได้แจ้งเกิด
หลังจากนี้จึงต้องจับตาว่า คนที่จะมาเห็นหัวหน้าพรรคตัวจริง คือ ใคร ภายหลังมีโหมโรงมาก่อนหน้านี้ ว่า จะมี “บิ๊กเซอร์ไพรส์” นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จะมาเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างจริงจริง หรือ มั่ว
รวมไทยสร้างชาติ ที่มี ปองพล อดิเรกสาร ทายาทราชครู รุ่นที่ 4 – กรรมการบริหารพรรค ประกาศเป็น พรรคพี่-พรรคน้อง กับพรรคพลังประชารัฐ เช็ดถู-จัดบ้านรอไว้ให้หัวหน้าพรรคคนใหม่และสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีพรรค “ 3 ทหารเสือ กปปส.” ตั้น-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ บี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และ จั้ม-สกลธี ภัททิยกุล อดีตแกนนำกปปส.ที่รอจังหวะตั้งพรรคใหม่
นับรวมถึงพรรรคเศรษฐกิจไทย ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค แม้จะผีไม่เผาเงาไม่เหยียบกับพล.อ.ประยุทธ์ แต่กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แทบจะจูบปากกัน
มิหน้ำซ้ำ ส.ส.เศรษฐกิจไทยเกือบทั้งหมดก็เป็นอดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จึงต้องนับรวมพรรคเศรษฐกิจไทย เป็นพรรคพี่-พรรคน้องกับพรรคพลังประชารัฐอีก 1 พรรค
นอกจากการช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 ที่นั่ง ของ 2 พรรคการเมืองใหญ่แล้ว ยังมีพรรคเอสเอ็มอี พรรคเกิดใหม่ ที่มี บิ๊กเนม เป็น ตัวชูโรง ไว้คอยแชร์ส่วนแบ่งเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ทั้ง พรรคกล้า ของนายกรณ์ จาติกวาณิช พรรคสร้างอนาคตไทย ของแกนนำกลุ่ม 4 กุมาร ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึง พรรคโอกาสไทย ของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์
ส่วนพรรคก้าวไกล กลายเป็นพรรคตาอยู่ เพราะได้อานิสงส์ จากสูตรคำนวณหารด้วย 500 มากที่สุด รวมถึงพรรคเสรีรวมไทย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์-พรรคภูมิใจไทย อย่างน้อยคงจะได้ที่นั่งเก้าอี้ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่าการเลือกตั้งปี 2562
อย่างไรก็ตาม กติการเลือกตั้ง หาร 500 เป็นเพียงด่านแรกเท่านั้น เพราะหลังจากรัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในวาระที่สาม วันที่ 26-27 ก.ค.65 แล้ว (ภายใน 180 วัน)
ต้องผ่านอีก 3 ด่าน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 และ มาตรา 148 กำหนด
ด่านแรก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รัฐธรรมนูญมาตรา 132 (2) กำหนดไว้ว่า ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.ป.ให้รัฐสภาส่งร่างพ.ร.ป.นั้นไปยังศาลฏีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง (ในกรณีร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คือ กกต.) เพื่อให้ความเห็น ในกรณีไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป
ด่านที่สอง รัฐสภา (กรณีกกต.ทักท้วง) รัฐธรรมนูญมาตรา 132 (3) กำหนดไว้ว่า ในกรณี กกต.เห็นว่าร่างพ.ร.ป.ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภาและให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ในการนี้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามจ้อเสนอของกกต.ตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว ให้รัฐสภาดำเนินกาต่อไป
ด่านที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญมาตรา 148 (1) กำหนดว่า หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
เมื่อด่านสุดท้ายจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ชี้ขาด เกมอาจจะพลิกอีกตลบ หันกลับไปใช้สูตรหาร 500 ก็เป็นได้