ปฏิทินการเมืองครึ่งปีหลัง 2565 ร้อนแรง-ระทึก-ลุ้นยาว
เข้าสู่ช่วง 8 เดือนสุดท้าย ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระ 4 ปี หรือ ตรงกับวันที่ 24 มี.ค. 2566 ปฏิทินการเมืองครึ่งหลังของปี 2565 ร้อนแรง ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องฝ่าลูกระนาด-หลุมระเบิด
เปิดศึกซักฟอก-ชี้ชะตากฎหมายเลือกตั้ง
ทันทีที่เข้าสู่ครึ่งปีหลัง ในวันที่ 5-6 ก.ค. 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
1.พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ 2.พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ไฮไลต์อยู่ที่การดิ้นเฮือกสุดท้ายจากกติกาเลือกตั้งใหม่ ในเรื่องวิธีการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะหารด้วย 100 หรือ หารด้วย 500
โดย นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ตัวแทนพรรคเล็ก ได้ขอสงวนความเห็น ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 23 ใจความว่า
มาตรา 23 ให้ยกเลิกความในมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 128 เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อจากผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้ว ให้ดำเนินการคำนวณหาจำนวนสมาชิกสสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ และให้ดำเนินการคำนวณเพื่อหาผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตำแน่ง
1.ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
2. ให้นำคะแนนรวมจาก (1) หารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีหนึ่งคน
3. นำผลลัพธ์ตาม (2) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คำนวณตาม (6) (7) หรือ (8) ถ้ามีแล้วจึงให้ถือว่าเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองงนั้นจะพึงมีได้
4. นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการรเมืองจะพึงมาได้ ตาม (3) ลบด้วยจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์ที่ได้คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชี่อ ที่พรรคการเมือง นั้นจะได้รับ เบื้องต้น
5. ภายใต้บังคับ (6) ให้จัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ ตาม (4) เป็นจำนวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบหนึ่งร้อยคน ให้ พรรคการเมืองที่มีเศษ จากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยคน ในกรณีที่มีเศษเท่ากันให้ดำเนินการตาม (7)”
ข้อกล่าวหาไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ – 3 ป.
หลังจาการพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับ ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 แล้ว ในวันที้ 19-22 กรกฎาคม 2565 จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 3 ป. ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ข้อกล่าวหา
ตลอดระยะเวลาร่วมแปดปีที่บริหารประเทศมาในฐานะนายกรัฐมนตรีผิดพลาดล้มเหลว ไม่สามารถ แก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศ ไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนได้เลย ในทางตรงกันข้ามกลับกลายเป็นต้นตอที่ทำให้ปัญหาที่มีอยู่มีความซับซ้อน ขยายวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้นทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง อาชญากรรม ยาเสพติด การทุจริตคอรัปชั่น ประชาชนในชาติแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายขยายวงกว้างขึ้นมากกว่าเดิม โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับว่ามีสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยแพร่กระจายไปทุกอณูของสังคม เป็นยุคที่ทุจริตเฟื่องฟูความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรั้งท้ายของอาเซียน
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไร้ภูมิปัญญาไร้องค์ความรู้ไร้ความสามารถ ไร้ประสิทธิภาพ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ขาดภาวะความเป็นผู้นำที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้นำที่พิการทางความคิด ยึดติดแต่อำนาจ ไม่เคารพหลักนิติรัฐนิติธรรม ไร้คุณธรรมจริยธรรม ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องเสียหายอย่างร้ายแรงทุกด้าน ทั้งด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม มีพฤติกรรมปล่อยปละละเลยให้บุคคลแวดล้อมและพวกพ้องของตนแสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยละเว้นเพิกเฉยต่อการทุจริตในภาครัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องการใช้จ่ายงบประมาณมิได้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง มุ่งแต่ก่อหนี้เพื่อแสวงหาคะแนนนิยมทางการเมือง โดยไม่สนใจต่อภาระหนี้สาธารณะและหนี้สินต่อหัวของประชาชน
จนเรียกได้ว่า “เป็นยุคก่อหนี้มหาศาลเพื่อนำมาผลาญโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชน” ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ไม่ใส่ใจและไม่ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดินตามข้อกล่าวหาและคำแนะนำของสภา จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขาดจิตสำนึกในความเป็นประชาธิปไตย ไร้การเคารพซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน มุ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากประชาชนและปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน ละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้งบประมาณเพื่อการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่มีความจำเป็นต่อภารกิจของประเทศในภาวะที่ประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจที่รุนแรง ไม่กำกับดูแลการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล ไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ผลจากการบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชานับวันจะทำให้ประเทศถอยหลัง เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว ประชาชนที่ยากจนอยู่แล้วยิ่งยากจนลงเรื่อยๆ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยขยายวงกว้างมากขึ้น ผู้คนตกงานและบัณฑิตจบใหม่ไม่มีงานทำเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ธุรกิจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น นักลงทุนใหม่ก็เข้ามาลงทุนน้อยลง
ขณะที่ ปัญหาสังคมทั้งยาเสพติด อาชญากรรมโดยเฉพาะอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยที่ภาครัฐไม่สามารถป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้สถานการณ์ความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของประชาชนดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับปล่อยให้พวกพ้องและบุคคลแวดล้อมของตนเองกระทำการทุจริต และประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง ไม่ใส่ใจที่จะป้องกันและปราบปราม มีการใช้เงินและการต่อรอง ผลประโยชน์เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตนเอง อันเป็นการทำลายระบบรัฐสภาและหลักการ ประชาธิปไตย จนทำให้ระบบรัฐสภาตกต่ำสั่นคลอน และกลไกในระบบรัฐสภาเสียหาย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ข้อกล่าวหา จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มุ่งสร้างความมั่งคั่งในตำแหน่งหน้าที่ รู้เห็นเป็นใจหรือปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดกับประเทศ ไร้จิตสำนึกและไร้ความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่กลับทำตนเป็นแบบอย่างของการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อพบเห็นการทุจริตกลับปกป้องและไม่ดำเนินการแก้ไข
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดซึ่งธรรมาภิบาล บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรงใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตของ หน่วยงานในกำกับดูแลอย่างกว้างขวาง เมื่อรู้ว่ามีการทุจริตกลับไม่ระงับ ยับยั้ง แต่กลับรู้เห็นยินยอมให้มีการกระทำดังกล่าวจนทำให้การทุจริตเป็นเรื่องปกติของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทำให้ระบบราชการและประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
ถลกหนังรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล
ขระที่รัฐมนตรีพรรคแกนนำรัฐบาล-ร่วมรัฐบาล ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ข้อกล่าวหา มีพฤติกรรมฉ้อฉล ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ รู้เห็นเป็นใจหรือปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในองค์กรหรือหน่วยงานในกำกับดูแล สร้างความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้อง ไม่ระงับยับยั้ง ละเลยไม่ติดตามแก้ไขปัญหาการทุจริตเพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐ ล้มเหลวและไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงในกำกับดูแล ปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน จนส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกหย่อมหญ้า จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้จิตสำนึกของการเป็นนักการเมืองที่ดีมีพฤติกรรมทำลายระบบการเมืองด้วยการรู้เห็นเป็นใจ สนับสนุนการใช้เงินและผลประโยชน์เพื่อมุ่งดึง ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นเข้าสังกัดกลุ่มการเมืองของตนโดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยและคุณธรรมทางการเมือง ทำให้ระบบการเมืองถอยหลังไปสู่ยุคการใช้เงินและผลประโยชน์สร้างฐานอำนาจทางการเมือง อันถือเป็นธุรกิจการเมืองที่ทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตย เปลี่ยนจากระบบคุณธรรมนำการเมืองเป็นใช้เงินและผลประโยชน์นำการเมือง นายอนุทิน ชาญวีรกูล ยังล้มเหลวผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการของกระทรวงสาธารณสุข มีการใช้งบประมาณแผ่นดินเกินความจำเป็นและไม่เกิดประโยชน์เกิดความเสียหายแก่งบประมาณของประเทศมุ่งเอื้อประโยชน์ให้เพื่อนพ้องบริวาร แสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งและหน้าที่ของตน จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ บริหารราชการแผ่นดินโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติ มีพฤติกรรมใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ดำเนินนโยบายโดยไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าในด้านการใช้จ่ายงบประมาณ มีการใช้งบประมาณจำนวนมากโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและประโยชน์สาธารณะ ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสและงบประมาณจำนวนมหาศาลใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการโดยทางตรงและทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในกระทรวงคมนาคม เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง และพรรคการเมืองที่ตนสังกัด ละเว้นไม่ดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดจนเกิดความเสียหายต่อแผ่นดินไม่ดูแลให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีผลประโยชน์ทับซ้อนและกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ข้อกล่าวหา บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว บกพร่องอย่างร้ายแรง ปล่อยปละละเลยให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ทำลายระบบเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายต่อประชาชนอย่างกว้างขวางแพร่หลายและเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยไม่สนใจ และขาดความรู้ความสามารถที่จะป้องกันและปราบปราม สนใจเอาผิดแต่เฉพาะกับกลุ่มบุคคล นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง บริวาร และพวกพ้อง นอกจากนี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ยังมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย มีความประพฤติเสื่อมเสียทางศีลธรรมอันดีฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ล้มเหลว ไร้ความรู้ความสามารถในการดูแลงานด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปล่อยให้ประชาชนขาดไร้ซึ่งที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ขณะทีการใช้งบประมาณแผ่นดินกลับมุ่งเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้องทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์ในหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ไม่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ข้อกล่าวหา ไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปล่อยปละละเลย รู้เห็น สนับสนุนให้มีการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ภายในหน่วยงานในกำกับดูแล ไม่ดำเนินการตรวจสอบ ระงับ ยับยั้งและป้องกันการทุจริตจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์ส่อไปทางทุจริตและประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ปล่อยปะละเลยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากการนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใหญ่ในการใช้ประโยชน์จากแรงงานโดยผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ระทึกปมนายกฯ 8 ปี – งบปี 66 – เจ้าภาพเอเปกป่วน
คั่นเวลา-ขัดจังหวะด้วยใจระทึก เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ต้องลุ้นตัวโก่ง ปม การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
โดยมีอย่างน้อย 3 แนวทาง ดังนี้ แนวทางแรก เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2557 ดังนั้น จะครบกำหนด 8 ปี ในวันที่ 21 ส.ค.2565
แนวทางที่สอง เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 6 เม.ย. 2568
แนวทางที่สาม เริ่มนับตั้งแต่วันที่พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2565 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 5 มิถุนายน 2570
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และ วาระ 3 จะพิจารณาวันที่ 24-26 ส.ค. 2565 ต่อด้วยการพิจารณาของวุฒิสภา วันที่ 29-30 ส.ค. 2565
ระหว่างทาง-ต้นสายของวันที่ 22 ก.ค. – 18 ก.ย. 2565 จะมีการพิจารณาเรื่องด่วน-ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่
1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 และ 2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพิ่มมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 35 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48
3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง 4.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 และ 5.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 120
โฟกัสไปที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 ที่เสนอโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการรเลือกตั้ง (กกต.) กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 65,151 คน เพื่อปิดสวิตซ์ ส.ว. ตัดอำนาจ ส.ว.ลากตั้ง 250 คน ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ระหว่างทางรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเจ้าภาจัดงานสำคัญ-งานประวัติประศาสตร์ที่จะเป็นหน้า เป็นตา คือ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565
โดยรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมรักษาความมั่นคงขั้นสูงสุด เพื่อรักษาความสงบ-อารักขาผู้นำประเทศมหาอำนาจที่จะมาเข้าร่วมประชุมเป็นพิเศษ คาดว่า ในงานเอเปกจะเป็นสถานที่รวมพลของบรรดากลุ่มผู้ชุมนุมสารพัดข้อเรียกร้อง
เช็กลิสต์กฎหมายหาเสียง
นอกจากร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 5 ฉบับ และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง จำนวน 2 ฉบับ ที่จะกำเนิดหน้าตารัฐบาลใหม่หลัการเลือกตั้งแล้ว
ยังมีกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับที่รอพิจารณา โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.ที่พรรคการเมืองหาเสียง-เอาไปใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ค้างการพิจารณาของสภาในปีสุดท้ายก่อนปิดสมัยการประชุม-ครบวาระ
หากมีการยุบสภา-พิจารณากฎหมายไม่ทันครบวาระจะมีผลให้ร่างกฎหมายต้องตกไป เช่น ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ. …ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. … หรือ สมรสเท่าเท่าเทียม และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. … ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือ ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
การเมืองครึ่งปีหลัง 2565 ร้อนแรง ลุ้นกันยาว ๆ ถึงต้นปี 2566