ชัชชาติ ตีเส้น ม็อบมีเส้น 7 เซฟโซน
จาก ม็อบทะลุฟ้า ลานราชดำเนิน สู่ ม็อบทะลุแก๊ส กลางสมรภูมิสามเหลี่ยมดินแดง
14 เดือน 404 วัน ของการชุมนุมกลุ่ม “คณะราษฎร 2563” ภายใต้ยุทธวิธี “แฟลชม็อบ” ผลุบ ๆ โผล่ ๆ สลับ “คาร์ม็อบ” ตะขิดตะขวง-กวนใจ ผู้นำทหาร ไม่ให้หายใจได้ทั่วท้อง
นับตั้งแต่ 14 ต.ค. 2563 จนถึงปัจจุบัน ม็อบคณะราษฎร 2563 ล้อมรั้วทำเนียบรัฐบาล-หายใจรดต้นคอ นายพล 3 ป. ไม่ให้บริหารราชการแผ่นดินราบรื่น วันดี-คืนดี ประชิด-ติดขอบสนามหญ้าหน้าบ้านพักกรมทหารราบที่ 1
เว็บไซต์ www.mobdatathailand.org ประมวลการสถิติ-ข้อมูลการชุมนุมปี 2564 มีการชุมนุมไม่น้อยกว่า 1,516 ครั้ง ใน 70 จังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร 767 ครั้ง เชียงใหม่ 212 ครั้ง และขอนแก่น 64 ครั้ง
ทว่าปฏิบัติการโต้กลับของ พี่-น้อง บูรพาพยัคฆ์ รุก-รับ จับ-ปล่อย แกนนำหัวขบวน-หัวรุนแรง เด็ดปีก-ริบอิสรภาพ จนกระทั่งแกนตามอ่อนแรง
“ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนักและมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้น ในการปฏิบัติ”
“โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่สอดคล้องกับหลักการสากลจึงขอแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563
นอกจากนี้เว็บไซต์ www.mobdatathailand.org ยังสังเกตการณ์-รวบรวมข้อมูลผู้ได้รับบาดเจ็บ-เสียชีวิตในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง จากเครือข่ายพันธมิตร เช่น โครงการ Child in Mob ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
รวมถึงข้อมูลจากแหล่งที่ได้รับรายงานสถานการณ์ทางตรง-ทางหลัก เช่น ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร หรือ ศูนย์เอราวัณ และจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนทั้งออนไลน์-ออฟไลน์
เป็นการเก็บสถิติผู้ถูกจับกุม-ดำเนินคดีและได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองต่างกรรม-ต่างวาระ
ไล่ตั้งแต่การชุมนุม คาร์ม็อบนนทบุรี หน้าสโมสรตำรวจ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค 1) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง (สาดสี) แยกนางเลิ้ง-แยกสามเหลี่ยมดินแดง
ปี 2564 พบว่า ได้รับรายงานผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 528 คน แบ่งออกเป็น ผู้ชุมนุมและประชาชน 348 คน (เด็กและเยาวชนอย่างน้อย 88 คน) นักข่าว 29 คน อาสาแพทย์-พยาบาล 3 คน ผู้สังเกตการณ์ 2 คน ตำรวจ 146 นาย ทหาร 1 นาย
นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดี-ตั้งข้อกล่าวหากระทำความผิดตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
แม้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะให้เหตุผล-ข้ออ้างการคงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ก็ตาม
นับตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยทุธ์ ประกาศพ.ร.บ.ฉุกเฉิน โดยคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 30 เมษายน 2563
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ขยายการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้วถึง 18 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563
ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 ก.ค. 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 ก.ค. 2563
ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 ส.ค. 2563
ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 1 ก.ย. 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563
ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 ต.ค. 2563
ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 30 พ.ย. 2563
ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 15 ม.ค. 2564
ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 15 ม.ค. 2564 จนกระทั่งถึงวันที่ 28 ก.พ. 2564
ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 2564 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 มี.ค. 2564
ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2564 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564
ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2564 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 ก.ค. 2564
ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 2564 จนกระทั่งถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564
ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2564 จนกระทั่งถึงวันที่ 30 พ.ย. 2564
ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 2564 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 ม.ค. 2565
ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2565 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 มี.ค. 2565
ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2565 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 พ.ค. 2565
ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2565 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 ก.ค. 2565
ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปสถิติผู้ถูกดำเนินคดีข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 24 มิ.ย. 2565 อย่างน้อย 202 ราย ในจำนวน 217 คดี
การออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 แห่ง ได้แก่
1.ลานคนเมือง ฝั่งทิศใต้ (ด้านวัดสุทัศน์) เขตพระนคร ขนาดพื้นที่ 3,762 ตารางเมตร การรองรับผู้ชุมนุม ประมาณ 1,000 คน
2.ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ขนาดพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร รองรับผู้ชุมนุม ประมาณ 800 คน
3.ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา (ใกล้ซอยวิภาวดี 36) เขตจตุจักร ขนาดพื้นที่ 4,800 ตารางเมตร รองรับผู้ชุมนุม ประมาณ 300 คน
4.ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง ขนาดพื้นที่ 400 ตารางเมตร รองรับการชุมชุม ประมาณ 150 คน
5.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี ขนาดพื้นที่ 290 ตารางเมตร รองรับการชุมนุม 100 คน
6.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ ขนาดพื้นที่ 900 ตารางเมตร รองรับการชุมนุม 300 คน
7.สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน ขนาดพื้นที่ 800 ตารางเมตร รองรับการชุมนุม 200 คน
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ผู้จัดการชุมนุมที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะในสถานที่ 7 แห่ง ต้องแจ้งการใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ก่อนการจัดชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
“เพื่อที่สำนักงานเขตพื้นที่จะได้แจ้งให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะทราบ และมีเวลาเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้พื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมตามความเหมาะสม”
เสมือนประหนึ่ง ม็อบมีเส้น ในยุคหนึ่งเมื่อครั้งการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มีผู้ว่าฯกทม.สังกัดพรรคเดียวกัน
สำหรับช่องทางในการแจ้งใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตมี 3 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางที่ 1 แจ้งโดยตรงต่อสำนักงานเขต ช่องทางที่ 2 แจ้งทางโทรสาร และให้โทรศัพท์ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่โดยทันที และช่องทางที่ 3 แจ้งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หมวด 1 บททั่วไป หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม หมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งกฎหมาย กฎ ระเบียบ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
การ ตีเส้น พื้นที่ 7 เซฟโซน นายชัชชาติ มุ่งหวังว่า จะทำให้การชุมนุมของม็อบทะลุฟ้า-ทะลุแก๊ส ลดความแข็งกร้าวลง กลับกันค่อย ๆ กัดเซาะ-บั่นทอนศรัทธาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ให้เข้าถึงกระดูกดำ-ซึมลึกมากยิ่งขึ้น จากวิกฤตเศรษฐกิจ
ขณะนี้เดียวกันจะเป็นการสร้าง ความชอบธรรมทางการเมือง ให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมในแนวทางสันติ-อหิงสาไปโดยปริยาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้ชุมนุมมุทะลุจน เสียรังวัด จากการ รบนอกแบบ ของกลุ่มทะลุแก๊ส จนเกิดการ เผา-ทุบ ฉีด-พ่นสี ทรัพย์สินทางราชการให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งก็คือ เงินภาษีของประชาชน – ก่อความเดือดร้อนให้คนโดยทั่วไป
เพราะคนส่วนใหญ่-คนตรงกลาง ที่ไม่ชอบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และไม่ได้คลั่งไคล้พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง
ชัชชาติ อาจเป็นผู้กลัด กระดุมเม็ดแรก ของเสื้อที่ปักหน้าอกด้วยคำว่า เห็นต่างแต่ไม่แตกแยกก็เป็นได้ หลังจากกลัดกระดุมผิดมาแล้ว 8 ปี