ท่องเที่ยวไทยครึ่งปีแรกกระอัก ลุ้นหนักครึ่งปีหลัง หลังรัฐปลดล็อก
สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยลุ่ม ๆ ดอน ๆ มา 2 ปีเต็ม หลังผจญทุกข์ระทมจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจมากมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องล้มหายไปจำนวนไม่น้อย และบางรายถึงขั้นกับเปลี่ยนอาชีพ เพราะประเมินว่า ถึงแม้การท่องเที่ยวจะกลับมาแต่ก็คงไม่เปรี้ยงเหมือนในอดีต
ตัวเลขล่าสุดที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เอามาแสดงให้กับที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ครั้งล่าสุด พบข้อมูลที่น่าพอจะใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง เพราะจากจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 มิ.ย. 2565 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตุนเอาไว้แล้ว 1,615,913 คน เพิ่มขึ้นถึง 3,895% ฟังไม่ผิด ตัวเลขเพิ่มขึ้นถึงพันเปอร์เซ็นต์!!!
มาดูทางขาของสร้างรายได้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่สลากกระเป๋าเข้าไทยหว่า 1.65 ล้านคนในช่วงเกือบครึ่งปีแรก สร้างเงินเข้าประเทศแล้ว 99,707 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 303%
แต่ตัวเลขนี้ยังไกลจากเป้าหมายที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งใจเอาไว้ว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 7.5 ล้านคน
ไปดูจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีแรกกันว่าเป็นยังไง… จากข้อมูลระบุชัดเจน โดยเมื่อเทียบกับตัวเลขตลอดทั้งปี 2564 ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยรวม 427,869 คน ถัดมาแค่เดือนแรกมกราคม 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสูงถึง 133,903 คน จากนั้นก็เพิ่มมาเรื่อย ๆ ดังนี้
เดือนกุ.พ. 152,954 คน
เดือนมี.ค. 210,836 คน
เดือนเม.ย. 293,350 คน
เดือนพ.ค. 476,171 คน
ล่าสุดวันที่ 1-15 มิ.ย. 348,699 คน
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นชาติไหนบ้างนั้น ต้องบอกได้เลยว่า อันดับแรกกลับเซอร์ไพรส์สุด ๆ เพราะกลายเป็นนักท่องเที่ยวจากอินเดียที่เดินทางเข้ามาไทยมากกว่าเพื่อน 169,131 คน ซึ่งถ้าใครจำได้ เมื่อไม่นานมานี้นักท่องเที่ยวอินเดียนับเป็นหนึ่งในประเทศที่เฝ้าระวังสูงสุดที่เดินทางเข้าได้ยากประเทศหนึ่ง หลังจากเจอการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในซีซั่นแรกกับสายพันธุ์ “เดลต้า” ซึ่งเป็นภาพฝั่งใจที่ทุกคนจำได้ไม่ลืมว่ารุนแรงมากแค่ไหน แต่ปัจจุบันอินเดียได้ระดมฉีดวัคซีน และจัดการกับโควิดอยู่ จนสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกได้แบบไร้ปัญหา
ต่อมาคือมาเลเซีย ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ส่วนใหญ่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจพนวนมากทุกปีอยู่แล้ว ยิ่งรัฐบาลคลายล็อกเปิดด่านพรมแดนทางบก ก็ทำให้นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางเข้ามายังประเทศไทยหนาตาขึ้น รายต่อมาคือสหราชอาณาจักร (UK) เข้ามารวม 107,438 คน ตามมาด้วยสิงคโปร์ 98,701 คน และส่งท้ายอันดับที่ 5 คือ เยอรมัน ขาประจำ 86,480 คน
ด้วยสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกที่พยามยามกันเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังไกลกว่าเป้าอีกมาก ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังเอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมไปถึงฝ่ายนโยบายภาครัฐ ก็ระดมสรรพกำลังปั๊มชีพจรการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาฟื้นได้ให้เร็วที่สุด โดยเตรียมแผนเอาไว้หลายอย่าง ดังต่อไปนี้
ปลดล็อกข้อจำกัดควบคุมโควิด
กรณีแรกที่น่าจะเห็นผลเป็นรุปธรรม และน่าจะกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวของไทยในช่วงที่เหลือของปีได้ นั่นคือ การปลดล็อกมาตรการกีดกันต่าง ๆ จากทางภาครัฐ ซึ่งล่าสุดในการประชุมศบค. ได้เห้นชอบมาตรการคลายล็อกดหลายอย่าง โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งปลดล็อกการถอดหน้ากากอนามัยได้ในบางสถานที่อยู่ที่ความสมัครใจ และการปลดล็อกการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉพาะในพื้นที่โรงแรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในช่วงเวลาตั้งแต่ 14.00 – 17.00 น.
เช่นเดียวกับยกเลิกการลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass ซึ่งกำหนดให้แจ้งข้อมูลหนังสือเดินทาง และการทำประกันสุขภาพ และยกเว้นการกรอกรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้าในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ต.ม.6) ที่เดินทางมาทางอากาศ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เหลือเพียงแค่มาตรการทางนโยบาย คือ การเสนอขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าเป็นระยะเวลา 6 เดือน (1 ก.ค-31 ธ.ค. 65) และขยายเวลาระยะเวลาพำนักของ Tourist Visa จาก 30 วัน เป็น 45 วัน รวมทั้ง ผ.30 เป็น ผ.45 และ Visa on Arrival (VOA) จาก 15 วัน เป็น 45 วัน ตามข้อเสนอของเอกชน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเพิ่มวันพำนักในไทยนานขึ้นนั้น ซึ่งจะหยิบยกมาหารือกันใน ที่ประชุม ศบค. ในครั้งต่อ ๆ ไป
ด้วยสารพักมาตรการที่ออกมา “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แสดงความมั่นใจว่าจะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวของไทยในช่วงที่เหลือของปีได้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไปน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย วันละ 2.5 – 3 หมื่นคน คาดว่า หากเป็นไปตามเป้าหมายก็น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทั้งปีได้ไม่น้อย 7.5 ล้านคน แต่ในใจก็อยากจะเร่งผลักดันให้ได้ถึง 10 ล้านคน ซึ่งจะต้องพยายามต่อไป
เร่งปั๊มชีพจรท่องเที่ยวให้โตก้าวกระโดด
“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า การพลิกโฉมภาคท่องเที่ยวไทยจากนี้ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแบบ “ก้าวกระโดด” เพื่อฟื้นฟูรายได้ภาคท่องเที่ยวไทยกลับคืนสู่จุดที่เคยครองสัดส่วน 18% ของจีดีพีประเทศให้ได้อีกครั้ง นั่นคือ เทียบเคียงกับตัวเลขฐานปี 2562 ซึ่งเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน
สำหรับการผลักดันให้สินค้าท่องเที่ยวและบริการของไทยสามารถสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าและเปี่ยมความหมาย และสามารถปลดเปลื้องพันธนาการได้นั้น ต้องนำความคิดสร้างสรรค์มาสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าด้วยการใช้ซอฟต์เพาเวอร์มาเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งที่ผ่านมาการผลักดันแนวทางในลักษณะนี้ ถือว่าสร้างอิมแพ็คแรกต่อการท่องเที่ยวของไทย และแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลยด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกับการผลักดันแนวทางสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สอดรับกับนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล ททท.สนับสนุนแนวทาง “5 ลด” นั่นคือ 1.ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 2.ลดของเสียให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) 3.ลดการใช้สิ่งของหรือไอเทมที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 4.ลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 5.ลดการใช้พลังงาน
โรดโชว์ยุโรป-หาตลาดใหม่ดึงคนเดินทาง
ขณะเดียวกัน ททท. ยังรุกตลาดต่างประเทศเต็มสูบ โดยได้โรดโชว์ยุโรปครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังที่มีการระบาดของโควิด-19 โดยเริ่มต้นนำคณะภาคเอกชนไทย 13 ราย ออกโรดโชว์ในภูมิภาคยุโรป เริ่มต้นจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวจาก 3 ประเทศนี้มาประเทศไทยภายในปี 2565 ให้ได้ตามเป้า 478,000 คน สร้างรายได้เข้าประเทศ 34,800 ล้านบาท
อีกทั้งในเร็ว ๆ นี้ ททท.มีแผนนำภาคเอกชนไทยไปโรดโชว์ในประเทสวีเดินและเดนมาร์ก ซึ่งกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเป็นอีกตลาดสำคัญในยุโรป โดยตลอดปี 2565 ตั้งเป้าผลักดันให้มีนักท่องเที่ยวจากยุโรปมาไทย 2.5 ล้านคน สร้างรายได้ 200,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562 เคยมีนักท่องเที่ยวยุโรป 8.2 ล้านคน สร้างรายได้ 500,000 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวต่อทริปอยู่ที่ 70,000 บาท สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่คนละ 60,000 บาท
ขณะที่ตลาดเอเชียและตะวันออกกลาง ก็กำลังพยายามหาตลาดใหม่ ๆ อย่างที่น่าจับตามารกที่สุด คือ การฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย ซึ่ง ททท. จะมุ่งส่งเสริมตลาดดาวรุ่งซาอุดีอาระเบีย โดยมีเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 1 แสนคน ในปีนี้ โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดตะวันออกกลาง รวมอยู่ที่ 4 แสนคน สร้างรายได้ 2.8 หมื่นล้านบาท
รวมทั้งหาตลาดเข้ามาเพิ่มเติม ทั้ง อิสราเอล คาซัคสถาน ที่มีศักยภาพ ปักธงกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มครอบครัว ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีค่าใช้จ่ายสูง อีกกลุ่ม คือ กลุ่มมิลเลนเนียล ที่นิยมท่องเที่ยวกับเพื่อน หรือคู่รัก ซึ่งในปัจจุบันเห็นการใช้จ่ายที่มีความถี่มากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งจะดันให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกลุ่มเพศทางเลือก หรือ LGBT+ ด้วย
ส่วนแผนทั้งหมดจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูงหรือไม่ คงต้องมานั่งลุ้นกันอีกที