ประยุทธ์ กำ 45 เสียง ชนะศึกซักฟอก

หลังวันที่ 15 มิ.ย. 2565 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะหมดสิทธิ์ ชิงยุบสภา เมื่อพรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย

ชื่อนายกรัฐมนตรี-รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูก จองกฐิน ไว้ล่วงหน้า สมราคาขู่ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นระดับหัวหน้า-เลขาธิการและนายทุนของพรรค
แน่นอนว่า พี่-น้อง 3 ป. เป็นหนึ่งในนั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย .
ขณะที่รัฐมนตรีพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ ไม่น้อยหน้า เพราะเป็นรัฐมนตรีที่สร้างผลงาน-เป็นหน้าเป็นตาให้กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงรัฐมนตรีที่พรรคฝ่ายค้านไม่ชอบหน้าเป็นการเฉพาะตัว
ผนวกกับรัฐมนตรีที่เป็น เส้นเลือดใหญ่ – นายทุนให้กับพรรค รวมถึงมี ชนักปักหลัง
รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ได้แก่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ส่วนรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านหวังลึก ๆ ว่า จะงัดไม้เด็ด –ใบเสร็จ บีบให้พรรคถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล – พลิกขั้ว

รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎร์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ .
หากเช็กเสียงโหวตในสภา โดยเอาการคะแนนลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณณ พ.ศ.2566 วาระที่ 1 เป็นไพ่พยากรณ์ในการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เสียง ส.ส.ที่เลือกยืนอยู่ฝ่ายรัฐบาล จากทั้งหมด 18 พรรคการเมือง 269 เสียง มี ส.ส.เห็นด้วย จำนวน 266 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ร่วมประชุม 1 เสียง
กลุ่ม ส.ส.ที่เห็นด้วย – อยู่ฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.ทั้งหมด 97 คน เห็นด้วย 96 คน ไม่ร่วมประชุม 1คน พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.ทั้งหมด 62 คน เห็นด้วย 62 คน พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส.ทั้งหมด 52 คน เห็นด้วย 51 คน งดออกเสียง 1 คน
พรรคเศรษฐกิจไทย มี ส.ส.ทั้งหมด 16 คน เห็นด้วย 16 คน พรรคชาติไทยพัฒนา มีส.ส.ทั้งหมด 12 คน เห็นด้วย 12 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ มี ส.ส.ทั้งหมด 6 เสียง เห็นด้วย 5 เสียง ลงมติไม่เห็นด้วย 1 เสียง
พรรคพลังท้องถิ่นไท มี ส.ส.ทั้งหมด 5 เสียง เห็นด้วย 5 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย มี ส.ส.ทั้งหมด 5 เสียง เห็นด้วย 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา มี ส.ส.ทั้งหมด 4 เสียง เห็นด้วย 4 เสียง
พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย มี ส.ส.ทั้งหมด 2 เสียง เห็นด้วย 2 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน มี ส.ส.ทั้งหมด 1 เสียง เห็นด้วย 1 เสียง พรรคไทรักธรรม มี ส.ส.ทั้งหมด 1 เสียง เห็นด้วย 1 เสียง
พรรคประชาธิปไตยใหม่ มี ส.ส.ทั้งหมด 1 คน เห็นด้วย 1 คน พรรคประชาภิวัฒน์ มี ส.ส.ทั้งหมด 1 เสียง เห็นด้วย 1 เสียง พรรคพลเมืองไทย มี ส.ส.ทั้งหมด 1 คน เห็นด้วย 1 คน พรรคพลังชาติไทย มี ส.ส.ทั้งหมด 1 คน เห็นด้วย 1 เสียง พรรคพลังธรรมใหม่ มี ส.ส.ทั้งหมด 1 เสียง เห็นด้วย 1 เสียง พรรคเพื่อชาติไทย มี ส.ส.ทั้งหมด 1 คน เห็นด้วย 1 เสียง

ฟากเสียง ส.ส.ที่ ตัวยืนอยู่ฝ่ายค้าน – มีใจไปอยู่กับรัฐบาล จากทั้งหมด 7 พรรคการเมือง 208 เสียง มี ส.ส.ไม่เห็นด้วย จำนวน 193 เสียง เห็นด้วย 12 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ร่วมประชุม 2 เสียง
กลุ่ม ส.ส.ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 – อยู่ฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย มี ส.ส.ทั้งหมด 132 คน ไม่เห็นด้วย 123 เสียง เห็นด้วย 7 เสียง ไม่ร่วมประชุม 2 เสียง
พรรคก้าวไกล มี ส.ส.ทั้งหมด 51 คน ไม่เห็นด้วย 46 คน เห็นด้วย 4 คน งดออกเสียง 1 คน พรรคเสรีรวมไทย มี ส.ส.ทั้งหมด 10 คน ไม่เห็นด้วย 10 คน
พรรคประชาชาติ มี ส.ส. ทั้งหมด 7 คน ไม่เห็นด้วย 6 คน เห็นด้วย 1 คน พรรคเพื่อชาติ มี ส.ส.ทั้งหมด 6 คน ไม่เห็นด้วย 6 คน พรรคไทยศรีวิไลย์ มี ส.ส.ทั้งหมด 1 คน ไม่เห็นด้วย 1 คน พรรคพลังปวงชนไทย มีส.ส.ทั้งหมด 1 คน ไม่เห็นด้วย 1 คน
สรุปแล้ว พรรคฝ่ายรัฐบาลได้เสียงเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 ชนะ พรรคฝ่ายค้านไปได้ 278 เสียง ต่อ 194 เสียง จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 477 คน
กลายเป็นว่า พรรคฝ่ายรัฐบาลมี เสียงเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 9 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านมี เสียงลดลง อย่างต่ำ 15 เสียง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า เสียง ส.ส.เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะมีมากกว่าเสียง ส.ส.ไม่เห็นด้วย – พรรคฝ่ายค้าน
ทว่าไม่ได้การันตีว่า พรรคธรรมนัส ที่มี ส.ส.16 เสียง กับพรรคเล็ก 1 เสียง ที่ลงมติเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะยกมือ ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติ ซักฟอก
โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 151 วรรคสี่ กำหนดไว้ว่า “มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”
ปัจจุบัน ส.ส.ทั้งหมด มีจำนวน 477 คน “คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่ง” เท่ากับ 238 คนขึ้นไป
เพราะเหตุผลของการลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 เพื่อเป็นประตูไปสู่การ ต่อรอง ผลประโยชน์จากงบประมาณและโครงการที่จะลงไปในพื้นที่ของแต่ละพรรคการเมือง – ส.ส.แต่ละคน ในชั้นกรรมาธิการ-แปรญัตติ เพื่อจัดสรร-แบ่งปันกันให้ ลงตัว เพื่อนำไปต่อยอดทางการเมือง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
มิหนำซ้ำ ลงมติเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 เป็นเพียงวาระแรก ยังมีวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ให้ได้แก้มือ แก้ตัว หากผลประโยชน์ไม่ลงตัว

แต่ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นการแพ้-ชนะกันในยกเดียว ไม่มีโอกาสได้แก้มือ จึงต้องวัดกันที่ขุมกำลังของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน
ทว่าพรรคฝ่ายค้านคงต้องออกแรงมหาศาลในการดึงเสียง ถึง 30 ตัวเป็นอย่างต่ำ หรือ โน้มน้าวพรรคร่วมรัฐบาลให้แปรพักตร์ – ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
ยิ่งไปกว่านั้น หากนำเอาตัวเลข 193 เสียง ส.ส.ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 พรรคฝ่ายค้านต้องการเสียง ส.ส.ถึง 45 เสียงขึ้นไป ถึงจะ ล้มพล.อ.ประยุทธ์ได้