เทียบ “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” – “สมรสเท่าเทียม” ต่างกันตรงไหน
AEC10News เทียบให้ดู “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” – “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ต่างกันตรงไหน
ขณะนี้เราอยู่ในช่วง Pride Month หรือ “เดือนแห่งความภาคภูมิใจ” ของ กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มีการจัดงาน Pride Month เป็นกิจกรรมสำคัญที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา
มาที่ฝั่งรัฐบาล ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มิถุนายน เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อเป็นกฎหมายรองรับความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน
สำหรับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. ให้สิทธิและหน้าที่คู่ชีวิต เช่น
1)หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
2)อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา
3)สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
4)สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
5)สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
6)สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
และ 7)สิทธิจัดการศพ
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. อาทิ
1.คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
2.กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
3.การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น
4.กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ
5.กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
6.คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)
7.ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน
8.การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี
9.บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. นี้ และ ป.พ.พ. แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้
10.เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยมรดก
11.กำหนดให้นำบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลมในบางกรณี
ส่วนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ
1.ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
2.กาหนดให้เหตุฟ้องหย่ารวมถึง กรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉัน “คู่ชีวิต”
3.ให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต ทั้งนี้ สิทธิที่เกี่ยวข้องกับคู่ชีวิตในกฎหมายฉบับอื่นๆ จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้
นอกจากรัฐบาลแล้ว ซีกฝ่ายค้านโดยพรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างกฎหมายที่มีความคล้ายกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม
พรรคก้าวไกล พยายามชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เริ่มจากในเชิงหลักการ
1. ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ยืนยันหลักการเรื่องความเสมอภาค เมื่อเทียบกับ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เสี่ยงจะตอกย้ำการปฏิบัติกับกลุ่ม LGBTQIA+ แยกออกไป ไม่ได้ยึดหลักการว่าทุกคู่รักควรมีสิทธิและถูกปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันนัก
2. พ.ร.บ. คู่ชีวิต อาจยังมีเนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมสิทธิหรือสวัสดิการบางประการที่คู่สมรสตามกฎหมายปัจจุบันได้รับ อย่างเช่น การหมั้น การอุ้มบุญ การขอสัญชาติไทยให้คู่รักที่เป็นชาวต่างชาติ รวมถึงประเด็นเรื่องสิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และสิทธิลดหย่อนภาษี
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่ายัง “มีความแตกต่างกันในบางอย่าง” และ “ไม่เหมือนกับกรณีคู่สมรส ชายกับหญิง 100%”
ส่วนในเชิงปฏิบัติ 1.ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ไม่มีคำนิยามคำว่า “คู่ชีวิต” ในกฎหมายฉบับต่างๆ แต่จะทำให้คู่รักทุกคู่ ไม่ว่าจะมีเพศกำเนิด เพศสภาพ หรือรสนิยมทางเพศแบบไหน ถูกนิยามภายใต้คำว่า “คู่สมรส” เหมือนกันหมด ไม่ใช่คู่ชีวิต เหมือน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต
2. ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม นิยามให้ทุกคู่รักเป็น “คู่สมรส” ทำให้ถ้าในอนาคตมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิหรือสวัสดิการของ “คู่สมรส” ก็จะทำให้ทุกคนได้รับสิทธิหรือสวัสดิการนั้นโดยอัตโนมัติ ต่างจาก ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่นิยามให้คู่รัก LGBTQIA+ เป็น “คู่ชีวิต” ทำให้พวกเขาจะได้รับสิทธิหรือสวัสดิการเหล่านั้นก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายที่ปรับเรื่องสิทธิและสวัสดิการของ “คู่ชีวิต” ควบคู่ไปด้วย