ส่องงบประมาณรายจ่ายปี 66
รัฐบาลจัดงบฯเตรียมเลือกตั้งใหญ่
ผ่านพ้นไปเรียบร้อยสำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรที่มีการอภิปรายตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. – 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยกฎหมายงบประมาณปี 2566 วงเงินงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 6.95 แสนล้านบาท ได้รับความเห็นชอบในการพิจารณาวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง 278 ต่อ 194
ในขั้นตอนต่อไปร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯจะถูกนำเข้าสู่การแปรญัตติงบประมาณในชั้นกรรมาธิการก่อนที่จะมีการเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 – 3 ของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 17-18 ส.ค. และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 29-30 ส.ค.จากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อประกาศใช้ภายในวันที่ 1 ต.ค.2566 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของปีงบประมาณ 2566 ต่อไป
นายกฯขอบคุณ ส.ส.ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯ66 วาระ 1
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กล่าวขอบคุณส.ส.ที่โหวตให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เนื่องจากงบประมาณมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ รัฐบาลจะนำทุกความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ รวมถึงข้อกังวลของที่ประชุมสภาฯ ที่ได้แสดงความห่วงใยไว้ตลอดระยะเวลาการประชุม ไปพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้เงินงบประมาณมากที่สุด
นอกจากนี้ยังยืนยันว่ารัฐบาลจะกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณด้วยความโปร่งใส เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวพ้นวิกฤติ และการใช้งบประมาณจะเน้นไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมาโดยเร็ว รวมทั้งจะใช้งบประมาณส่วนนี้ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติที่รออยู่ข้างหน้าด้วย
ตั้งงบจ่ายเงินกู้–ชำระดอกเบี้ยรวมกว่า 3 แสนล้านบาท
สาระสำคัญของงบประมาณปี 2566 สามารถสรุปได้ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงต่อรัฐสภาดังนี้
1.วงเงินงบประมาณรวม 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 8.5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.74%
2.รายจ่ายประจำมีจำนวน 2,396,942.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 23,932.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.01% คิดเป็นสัดส่วน 75.26% ของวงเงินงบประมาณรวม
3.รายจ่ายลงทุนวงเงินรวม 69,5077.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.59% คิดเป็นสัดส่วน 21.82% ของวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ที่มีการตั้งงบประมาณการลงทุนไว้ที่ 19.74% และรายจ่ายชำระเงินต้นเงินกู้วงเงิน 1 แสนล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ 2565 ที่เคยตั้งไว้ชำระคืนเงินต้นเงินกู้ที่ 1 แสนล้านบาทเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อดูจากข้อมูลของสำนักงบประมาณที่มีการอธิบายเรื่องรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐในปี 2566 รวมวงเงินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ภาครัฐต้องจ่ายในปี 2566 จะรวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 306,618 แสนล้านบาท ซึ่งภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เกิดจากเงินกู้ที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 6.5% ของงบประมาณทำให้รายจ่ายในส่วนของกระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น และเป็นข้อจำกัดของงบลงทุนในปี 2566 ที่ไม่สามารถตั้งงบลงทุนเพิ่มขึ้นได้มากนัก แม้ว่าในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 การลงทุนด้านต่างๆของภาครัฐจะมีความจำเป็นและช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้น
ปีสุดท้ายรัฐบาลจัดงบประมาณก่อนเลือกตั้งใหญ่
ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2566 ถือว่าเป็นการจัดทำร่างงบประมาณในปีสุดท้ายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นการจัดทำงบประมาณในช่วงก่อนที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งหากรัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ครบวาระ 4 ปี การเลือกตั้งจะมีขึ้นภายในเดือน มี.ค.2566
ดังนั้นการจัดทำงบประมาณ 2566 จึงถูกจับตามองจากทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่ฝ่ายค้านที่มีหน้าที่อภิปรายงบประมาณฯโดยตรงแต่ในขั้วการเมืองฟากฝั่งรัฐบาลที่เป็นพรรคร่วมก็ติดตามดูตัวเลขงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรลงไปในกระทรวง หน่วยงาน และพื้นที่ต่างๆอย่างใกล้ชิดเพราะถือว่ามีผลในเรื่องของการทำงานทางการเมืองด้วยเช่นกันเพราะเมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้ง ส.ส.จำเป็นที่ต้องมีข้อมูลโครงการที่จะนำไปใช้อธิบายในพื้นที่เพื่อขอคะแนนเสียงจากประชาชนในพื้นที่
จัดสรรงบน้ำลงพื้นที่ 3.3 แสนล้าน กระจายทั่วประเทศ
ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการอนุมัติแผนปฏิบัติการด้าน ทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2566 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเสนอ วงเงินรวม 334,256 ล้านบาท ครอบคลุมแผนงาน 59,334 รายการ วงเงิน จาก 26 หน่วยงาน 77 จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยเมื่อแยกตามลุ่มน้ำจะมีรายการที่สำคัญ เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2,521 รายการ วงเงิน 53,118 ล้านบาท, ลุ่มน้ำมูล 6,683 รายการ วงเงิน 34,723 ล้านบาท ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ 10,302 รายการ วงเงิน 29,589 ล้านบาท, ลุ่มน้ำชี 5,889 รายการ วงเงิน 27,887 ล้านบาท,ลุ่มน้ำท่าจีน 1,542 รายการ วงเงิน 21,275 ล้านบาท ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน 1,499 รายการ วงเงิน 17,875 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกตามกระทรวง และหน่วยงาน ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด พบว่าเป็นกระทรวงที่อยู่ในการกำกับดูแลของพรรคการเมืองที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ 1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 15,862 รายการ ได้รับวงเงินมากที่สุด 159,226 ล้านบาท
2.กระทรวงมหาดไทยจำนวน 22,194 รายการ วงเงิน 142,115 ล้านบาท 3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 20,971 รายการ วงเงินรวม 22,170 ล้านบาท 4.กระทรวงคมนาคม 61 รายการ วงเงินรวม 6,274 ล้านบาท
5.สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 77 รายการ วงเงินรวม 2,135 ล้านบาท 6.กระทรวงกลาโหม จำนวน 133 รายการ วงเงิน 1,264 ล้านบาท 6.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 29 รายการ วงเงินรวม 645 ล้านบาท และ 7.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 5 รายการ วงเงิน 398 ล้านบาท
จะเห็นว่าเมื่อรวมงบบริหารจัดการน้ำที่ได้รับการจัดสรรไปตามกระทรวงต่างๆในโควตาพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล จะสามารถเรียงลำดับได้ดังนี้ 1.พรรคพลังประชารัฐวงเงินรวม 144,648 2.พรรคประชาธิปัตย์ วงเงินรวม 159,226 ล้านบาท 3. พรรคชาติไทยพัฒนา วงเงินรวม 22,170 ล้านบาท พรรคภูมิใจไทย 6,274 ล้านบาท และ 5.พรรครวมพลังประชาชาติไทย วงเงินรวม 645 ล้านบาท
พรรคแกนนำ – พรรคร่วมรับจัดสรรงบฯก้อนโต
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากการจัดสรรงบประมาณปี 2566 ให้กับพรรคร่วมรัฐบาลตามกระทรวงต่างๆ ตามพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล สามารถจัดลำดับได้ดังนี้
1.พรรคพลังประชารัฐ ที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวม 9.47 แสนล้านบาท
2.พรรคประชาธิปัตย์ ที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วงเงินงบประมาณได้รับการจัดสรรรวม 1.57 แสนล้านบาท
3.พรรคภูมิใจไทย ที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วงเงินงบประมาณได้รับการจัดสรรรวม 3.42 แสนล้านบาท
4.พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) วงเงินงบประมาณได้รับการจัดสรรรวม 1.24 แสนล้านบาท
5.พรรคชาติไทยพัฒนา ที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงินงบประมาณได้รับการจัดสรรรวม 3.06 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้นในปี 2566 ยังมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดอีกประมาณ 21,727.7 ล้านบาท และมีงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนวงเงินรวม 9.24 หมื่นล้านบาทที่เป็นอำนาจในการเสนอขออนุมัติจาก ครม.ได้โดยอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยตรง
ปี 66 จัดสรรงบ 7.3 แสนล้านบาทลงท้องถิ่น
ในการจัดสรรงบประมาณปี 2566 รัฐบาลได้กำหนดสัดส่วนในการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในสัดส่วน 29.6% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล (ไม่รวมเงินกู้) เป็นจำนวนเงิน 737,083.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ ฃ2565 จำนวน 29,023.5 ล้านบาท คิดเป็น 4.1% โดยจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 307,111.6 ล้านบาท ที่เหลือเป็นอำนาจของท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษี และรายได้ตามอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนด
จะเห็นได้ว่าการจัดสรรงบประมาณในปี 2566 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในการทำงานของรัฐบาลในปัจจุบัน และแม้ว่าเมื่อมีการนำเอามุมมองทางการเมือง การแข่งขันแย่งชิงคะแนนเสียงระหว่างคู่แข่งพรรคการเมืองต่างๆมาอธิบายในการจัดสรรงบประมาณ
อย่างไรก็ตามยังมีขั้นตอนที่รออยู่คือการแปรญัตติงบประมาณในชั้นกรรมาธิการโดยมีการตั้งกรรมาธิการทั้งหมด 72 คน นอจากนั้นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2566 ในวาระที่ 2 และ 3 ขณะที่กรอบงบประมาณส่วนใหญ่โครงสร้างงบประมาณยังเป็นส่วนของเงินเดือนประจำของข้าราชการถึงประมาณ 72% ส่งผลให้งบประมาณฯปี 2566 ก็เผชิญกับข้อจำกัดหลายเรื่องๆ โดยเฉพาะงบลงทุนที่เหลืออยู่ในสัดส่วนประมาณ 21% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีการใช้เงินส่วนนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงผลทางการเมือง หรือแค่เพียงผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นแค่เพียงเท่านั้น