“เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4” พระเอกตัวจริง กู้ชีพจร “ท่องเที่ยวไทย” ฟื้น
โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ป๊อบปูล่า โครงการหนึ่งตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของรัฐบาล ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เพราะจากการทำโครงการมาจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 4 ครั้ง ก็ได้รับความสนใจมีคนเข้าไปใช้สิทธิจองห้องพักที่เข้าร่วมโครงการหมดเป็นล้านสิทธิแทบทุกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และวันหยุดราชการยาวหลายวัน
ล่าสุดด้วยเสียงเรียกร้อง และความสำเร็จของโครงการในรอบที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตัดสินใจขยายโครงการที่ว่านี้อีกครั้ง โดยใช้วงเงินของโครงการที่เหลืออยุ๋ประมาณ 4,000 ล้านบาท ทำโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 ส่วนต่อขยาย รอบนี้เตรียมสิทธิไว้ให้เข้าไปใช้อีก 1.5 ล้านสิทธิด้วยกัน
สถานะโครงการปัจจุบัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเหมือนจะมีดรามาเกิดขึ้นมานิด ๆ เพราะบางคนเข้าใจว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่แท้ที่จริง ที่ประชุมครม.เพียงแค่รับทราบผลประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ซึ่งเห็นชอบให้ดำเนินโครงการนี้เท่านั้น
เพราะจริง ๆ แล้วโครงการดังกล่าว จะต้องเสนอเข้าครม.อีกครั้ง โดยเป็นการนำเสนอเป็นมติของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ผ่านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เพื่อให้ครม.ตีตราเห็นชอบ ก่อนจะมีผลทางการปฏิบัติต่อไป
“นายยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่า ตอนนี้ขั้นตอนของโครงการ ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมศบศ. แล้ว และเสนอครม.รับทราบมติ ขั้นตอนจากนี้ ททท. จะหารือกับทางคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณารายละเอียดของโครงการทั้งหมด ทั้งระยะเวลาเริ่มต้น สิ้นสุดโครงการ เงื่อนไขการทำโครงการซึ่งเบื้องต้นในเงื่อนไขจะไม่ได้เปลี่ยนไปจากโครงการเดิม แต่อาจดูข้อมูลบางอย่างที่อาจต้องเพิ่มเข้ามา
โดยเฉพาะกรณีของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ซึ่งจะเริ่มมีการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ดังนั้นโครงการนี้ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวกับการต้องยืนยันการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเข้าร่วมโครงการ ล่าสุด ททท. ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันเป๋าตังว่า อาจจะมีการกดให้ยืนยันข้อมูลส่วนบุคคลในแอปฯ ด้วย
สำหรับระยะเวลาของโครงการ ณ ความพร้อมล่าสุด อาจเริ่มต้นดำเนินโครงการนี้ได้ประมาณกลางเดือนมิถุนายน นี้ ซึ่งเลื่อนออกจากกำหนดเวลาเดิมที่ ททท. เคยตั้งใจไว้ว่า จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป และในการหารือกับทางคณะกรรมการกลั่นกรองฯ รอบนี้ ททท.จะมีการเสนอขอขยายระยะเวลาโครงการออกไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เพื่อให้มีระยะเวลาในการทำโครงการที่เหมาะสม โดยทั้งหมดนี้หากได้ข้อสรุป จะเสนอครม.เป็นขั้นตอนต่อไป
จะว่าไปแล้วการดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกันในแต่ละรอบ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อาจเครมได้เลยว่าโครงการนี้สำเร็จเป็นผลงานชิ้นโบแดงจริง เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับนักท่องเที่ยว เนื่องจากรัฐบาลจะช่วยออกค่าที่พักให้สัดส่วน 40% แล้ว ยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาร่วมใช้สิทธิต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมที่พัก ซึ่งเดิมอาการร่อแร่จากพิษโควิด ปิดกิจการไปก็มาก ก็ได้พอลืมตาอ้าปากประคับประคองกิจการให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้จำนวนไม่น้อย
ก่อนหน้าที่โครงการจะออกมาครั้งนี้ “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกไว้ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ลุ้นอยู่ไม่น้อยว่าจะผลักดันโครงการออกมาได้หรือไม่ เพราะกังวลเรื่องของการใช้งบประมาณ แต่ก็โชคดีที่การทำโครงการในเฟสที่ 4 ยังพอมีเงินเหลืออยู่ เลยตัดสินใจเสนอไปยังศบศ. และคณะกรรมกรรกลั่นกรองฯ ช่วยพิจารณา
อีกอย่าง…การมีโครงการนี้ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางภายในประเทศได้ในช่วงที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการท่องเที่ยวก็กำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จึงจำเป็นต้องรับษาโมเมนตัมของการเติบโตเอาไว้ให้ได้ ขณะเดียวกันยังมีโอกาสดีอีกอย่างกับกรณีที่รัฐบาลกำลังจะประกาศให้โควิด-19 กลายเป้นโรคประจำถิ่น ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่มีเหตุผลอันใดที่รัฐบาลจะไม่ต่ออายุโครงการนี้ออกไป
จากข้อมูลทางเอกสารที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เสนอไปยัง ศบศ. ยังระบุความจำเป็นของโครงการที่น่าสนใจ โดยมองว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกันจะทำให้เกิดกิจกรรมกระจายหลายพื้นที่ รองรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสร้างสีสันแก่คนกรุงเทพฯ ในครึ่งหลังปี 2565 และพื้นที่ธุรกิจได้ประโยชน์ รวมไปถึงยังช่วงให้เกิดการลงทุนปรับปรุงโบสถ์และวิหารวัด Unseen ที่สวยงาม ให้น่าสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติยิ่งขึ้นในระยะยาว
ที่สำคัญ ยังช่วยนำเสนอวัฒนธรรมสมัยนิยมและศักยภาพสร้างสรรค์ของประเทศ ในช่วงการประชุม APEC เดือนพฤศจิกายน 2565 ด้วย
โดยในปี 2565 ททท. ได้ตั้งเป้าหมายรายได้รวมจากการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.28 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวน 6.6 แสนล้านบาท โดยเป็นการท่องเที่ยวจำนวนทั้งสิ้น 160 ล้านคน-ครั้ง และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 6.3 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 5 – 15 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับการเปิดประเทศและภาคการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เนื่องจากค่าครองชีพภายในประเทศที่สูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก เช่นเดียวกับการเปิดประเทศของประเทศปลายทางการท่องเที่ยวอื่น ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตัดสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศอื่น ๆ แทน
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังคงประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงแรงงาน และต้นทุนการบริการสูงขึ้นในหลายธุรกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวในปี 2565 แนวทางการสื่อสารตลาดส่งเสริมท่องเที่ยวไทย 2565 จึงมาในแนวคิด “Visit Thailand Year 2022: Amazing New Chapter” โดยเป็นการนำเสนอประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยในรูปแบบมิติที่แตกต่างกัน
โดยจะมีการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านโครงการ “Unfolding Bangkok” เป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว แบ่งช่วงเวลาจัดกิจกรรมขนาดเล็กและใหญ่ตามเทศกาลในประเทศไทย มาจากแนวคิดการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ และสร้างประสบการณ์วัฒนธรรมสมัยนิยมแก่นักท่องเที่ยว โดยกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว “เราเที่ยวด้วยกัน” ยังช่วยเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวตามนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 ด้วย
การดำเนินโครงการรอบนี้ตั้งเป้าหมาย ดึงยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20,000 คนต่อวัน รวมถึงนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ เช่น การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อสูงที่มองหากิจกรรมเชิงวัฒนธรรมให้ออกมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ
ส่วนเงื่อนไขของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 เบื้องต้นจะทำภายใต้เงื่อนไขเดิม โดย สิทธิที่ 1 คือ ส่วนลดค่าที่พัก โดยจะได้รับสิทธิส่วนลดค่าห้องพัก 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องหรือคืน และสูงสุด 10 ห้อง หรือ 10 คืน สิทธิที่ 2 ได้รับส่วนลดค่าอาหารและสถานที่ท่องเที่ยว โดยรับคูปองมูลค่าสูงสุด 600 บาทต่อห้องต่อคืน สามารถใช้เป็นส่วนลดค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวที่ร่วมโครงการ โดยชำระเพียง 60% อีก 40% ตัดจากคูปอง โดยเมื่อ Check-in เข้าพัก จึงจะได้รับคูปองเป็นรายวัน
ขณะที่ สิทธิที่ 3 คืนเงินค่าตั๋วเครื่องบิน โดยจะได้รับสิทธิคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบิน 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท ต่อผู้โดยสาร จำกัดห้องพักละ 2 ผู้โดยสาร ตามจำนวนห้องพักที่จองผ่านโครงการ กำหนดเฉพาะท่องเที่ยวในจังหวัดที่กำหนด ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และเชียงราย เท่านั้น
ทั้งนี้คงต้องมารอลุ้นกันอีกไม่กี่อึดใจ หลายคนคงได้เข้าไปใช้สิทธิโครงการนี้กันอีกครั้ง หากโครงการเริ่มต้นในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ได้ตามแผน การจะฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยให้พลิกกลับมาคึกคักอีกครั้งได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันอีกต่อไป