กระแส “คังคุไบ” ฟีเวอร์กับตลาดการท่องเที่ยวอินเดียที่กำลังเติบโต
หลายวันมานี้บ้านเรากำลังมีกระแสอินเดียฟีเวอร์ “คังคุไบ” (Gangubai Kathiawadi) หรือ “หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ภาพยนตร์จากแดนภารตะที่นำมาให้ชมบนเน็ตฟลิกซ์ และได้รับความนิยมจนติด 10 อันดับแรกของภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดใน 25 ประเทศทั่วโลก จนเกิดกระแสเลียนแบบถ่ายรูปลงบนสังคมออนไลน์ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ดารา และยูทูปเปอร์
จะว่าไปแล้วกระแสความนิยมผ่านภาพยนตร์ มักเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายยุคหลายสมัย แต่ในสมัยของโลกการสื่อสารไร้พรมแดน และทุกคนเป็นเจ้าของบัญชีในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยว่า เมื่อมีกระแสอะไรเกิดขึ้นบนมุมโลก คนส่วนใหญ่ก็พร้อมลอกเลียนแบบ เพื่อสร้างความบันเทิงและอวดตัวตนให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ในสังคมออนไลน์ ที่ไปไกลกว่าสังคมชมหน้าอย่างมาก
แน่นอนว่าทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร และทุกกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ต่างใช้โอกาสทองในช่วงนี้ช่วงชิงลูกค้ากันอย่างตึกคัก โดยพาะเรื่องของการท่องเที่ยวเองนั้น ด้วยกระแสหนังที่แรงแบบนี้ เรียกว่าจุดติดง่าย การท่องเที่ยวตามรอยหนังดัง จึงมักได้รับความนิยมแบบถล่มทลาย ตัวอย่างก็มีให้เห็นอย่างเรื่อง Lost in Thailand ของเมืองจีนที่สร้างคลื่นนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยอย่างถล่มทลายปีละกว่า 10 ล้านคน
แต่ก่อนจะพอไปสัมผัสเรื่องการท่องเที่ยวตามรอยหนังดัง เราขอชวนทุกท่านไปรู้จักแง่มุมต่าง ๆ ของ “คังคุไบ” หรือ “หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” กันก่อน
ทำความรู้จัก “คังคุไบ” กันก่อน
สำหรับเนื้อหาของหนังดังเรื่องนี้ ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง “Mafia Queen of Mumbai” ของ “ฮุสเซน ไซดี” (Hussain Zaidi) ซึ่งเขียนขึ้นมาโดยอ้างอิงเรื่องราวในชีวิตจริงของโสเภณีแห่งเมืองมุมไบ คือ “คังคุไบ ฮาร์จีวันดัส” (Gangubai Harjeevandas) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “คังคุไบ กฐิยาวาฑี” (Gangubai Kathiyawadi)
เรื่องราวบนแผ่นฟิล์มเล่าเรื่องราวของเธอที่ชีวิตต้องเผชิญโชคชะตามากมาย จนกระทั่งถูกสามีหลอกให้ค้าประเวณี แน่นอนว่าด้วยอาชีพที่ต้องพัวพันกับอิทธิพลและความมืด ทำให้ชีวิตของเธอต้องหาทางรอด และกล้าแกร่ง ในสุดท้ายแล้วเธอก็ได้กลายมาเป็นผู้มีอิทธิพล และได้รับฉายา “ราชีนีมาเฟียแห่งมุมไบ” ในที่สุด
แม้หลังเรื่องนี้จะได้รับความชื่นชมจากผู้ชมทั่วโลก ซึ่งลบภาพของหนังดินเดียวิ่งข้ามเขาในอดีตไปไกล กลายเป็นหนังดรามาดี ๆ อีกหนึ่งเรื่อง เพราะนอกจากเรื่องวิถีชีวิต และโชคชะตาของนางเอกแล้ว หนังยังซ่อม Soft Power เอาไว้เพียบ ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี งานเทศกาล การแต่ง กาย กินกิน การอยู่ ทั้งหมดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชาวอินเดียทั้งสิ้น
สถานที่เที่ยวตามรอยหนัง
ในฉากของหนังนำเสนอมุมหนึ่งของมุมไบ คือ “กามธิปุระ” (Kamthipura) หรือย่านโคมแดงแห่งมุมไบ เก่าแก่ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1795 แต่เดิมเป็นย่านที่รวบรวมเหล่าชนชั้นแรงงานในอินเดีย ก่อนการมาของอาชีพโสเภณีในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่มีชาวญี่ปุ่นและยุโรปเข้ามา จนในที่สุดก็กลายมาเป็นแหล่งโสเภณีชื่อดังของอินเดียมาจนถึงทุกวันนี้ โดยในบริเวณเมืองนี้ยังมีรูปปั้นและภาพถ่ายเก่า ๆ ของ “คังคุไบ” อยู่ด้วย
แม้ว่าในหนังจะไม่ได้ถ่ายสถานที่จริง เพราะมีการเซ็ตขึ้นมาทั้งหมด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่านเก่าแก่ของมุมไบนี้ มีความเป็นเอกลักษณ์ ด้วยสถาปัตยกรรมของตึกรอบข้าง รวมไปถึงร้านอาหาร ร้านชา ซึ่งในเรื่องมีร้านอาหาร หนึ่งร้านที่แสดงวิถีชีวิตการกิน อาหาร และชา ของอินเดียอย่างชัดเจน คือ ร้าน “Olympia Coffee House” ไม่แน่หลังจากเปิดประเทศเต็มรูปแบบแล้ว อาจมีคนทั่วโลกจำนวนไม่น้อยแวะไปชิมอาหารร้านนี้จนล้นทะลักก็เป็นได้
ใส่ชุดสาหรี่เที่ยว
จุดเด่นที่หลายคนพากันพูดถึงของหนังเรื่องนี้ชื่อเครื่องแต่งกายของนักแสดง นั่นคือ ชุดสาหรี่ ถือเป็นเครื่องแต่งกายของสตรีชาวเอเชียใต้ ทั้ง อินเดีย เนปาล ศรีลังกา บังกลาเทศ มีลักษณะเป็นผ้าคลุมตัว มีความยาว 5–9 หลา และกว้าง 2–4 ฟุต การแต่งกายจะพาดรอบเอว และคลุมไหล่อีกด้านเพื่อไม่ให้ร่างกายชื้นจนเกินไป
ส่าหรีนั้นมีหลายประเภท แต่ประเภทที่นิยมใส่มักจะเป็นแบบนีวิ (Nivi style ส่าหรีนั้นมักจะแต่งคู่กับเสื้อครึ่งตัวที่เรียกว่า “โจลี” (choli) ส่าหรีนั้นเป็นเครื่องแต่งกายชนิดหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ “ส่าหรี” เป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เนื่องจากมักนิยมสวมใส่ในเหตุการณ์หรืองานสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะนักแสดงชาวอินเดีย
แต่อย่างไรก็ตามการแต่งชุดสาหรี่สีขาว และการนำมาลอกเลียนแบบกระแสหนังของคนทั่วไปนั้น ล่าสุดก็มีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นที่น่าสนใจ นั่นคือ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม จากศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สรุปได้ว่า
จากกระแส คังคุไบ ด้วยความห่วงกังวล แม้หนังจะทำให้เราชาวไทยจะได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจชาวอินเดียให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ปรัชญาสำคัญของการสร้างหนัง Bollywood คือ ภาพยนตร์คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำให้ชาวอินเดียได้หลีกลี้ออกไปจากโลกความเป็นจริงอันโหดร้าย เข้าสู่โลกแห่งภาพยนตร์
โดยสิ่งที่ห่วงกังวลมากที่สุดก็คือ ชั่วโมงนี้ในประเทศไทย ทั้งบุคคลธรรมดา บุคคลมีชื่อเสียง ต่างก็ออกมาใส่ส่าหรีสีขาว แตะ bindi สีแดงขนาดใหญ่กลางหน้าผาก และที่สำคัญคือออกมา post ท่าทางแบบเธอในการเชิญชวนลูกค้า ลงในสื่อ online มากมายเต็มไปหมด
ในอินเดียคนที่ใส่ส่าหรีขาว ที่มีนัยถึงความบริสุทธิ์มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ นักการเมือง หญิงหม้ายที่รักษาพรหมจรรย์ และคนที่มีประวัติไม่ค่อยดี โดยนักการเมืองจะใช้ส่าหรีสีขาว ที่มีคลิบแถบสีประจำพรรคการเมือง ในขณะที่คนที่มีประวัติไม่ค่อยดี จะนิยมสีขาวบริสุทธิ์
ในขณะที่ท่าทางยกแขนชูหนึ่งข้าง อีกข้างกวักมือเชิญชวนลูกค้า และยืนแอ่น ยกขาเอียง point เท้า คือถ้าเชิญชวนเรียกลูกค้าของหญิงโสเภณีที่มีบรรยายในคัมภีร์ กามสูตร อายุกว่าพันปี
ดังนั้น หากกระแสยังเกิดต่อไป และกลับกลายเป็นว่าคนไทยที่ไปเที่ยวอินเดีย ซึ่งขณะนี้เขาเปิดประเทศให้ไปท่องเที่ยวได้แล้ว แล้วพวกเราก็ด้วยความสนุกและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จัดหาชุดส่าหรีสีขาวบริสุทธิ์ ไปยืนถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ อย่างสนุกสนาน ด้วยท่าทางดังกล่าว ลองนึกดูนะครับ ว่าคนอินเดียที่พบเห็นแล้วเขาไม่รู้หรอกว่า นี่คือกระแสฟีเวอร์จากภาพยนตร์ แต่พวกเขาเข้าใจสัญญะเหล่านี้ในแบบที่มันเป็นจริงคือการเชิญชวนให้ซื้อบริการ อะไรจะเกิดขึ้น
ต้องอย่าลืมนะครับว่า ในอดีตภาพจำของสตรีเอเชียหลายๆ ประเทศก็มีภาพจำจากคนต่างชาติเรื่องการค้าบริการอยู่แล้ว ผมไม่อยากให้ภาพเหล่านี้บนสื่อออนไลน์ หรือในสถานการณ์จริงๆ ในสถานที่ท่องเที่ยว ยิ่งทำให้เกิดการตอกย้ำซ้ำทวนภาพจำที่เลวร้ายแบบนั้นลงไปอีก
ดังนั้นเราต้องรู้เท่าทันในสื่อที่เราเสพให้มากกว่านี้ครับ อย่าผิวเผิน สนุกคะนอง จนเกิดภาพจำผิด ๆ กับหญิงไทย
ททท.หาทางดึงตลาดอินเดีย
แม้ว่ากระแสหนังจะดังและดึงดูดให้คนไทยสนใจเดินทางไปเที่ยวอินเดียมากขึ้น แต่ในทางกลับกันด้วยความนิยมตอนนี้ไทยก้ยังหาทางเปิดตลาดอินเดียให้เดินทางมาเที่ยวไทยได้เช่นกัน
ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ยกคณะนักธุรกิจการท่องเที่ยว และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมงานส่งเสริมการขาย South Asia Travel and Tourism Exchange (SATTE) 2022 ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทย ดึงนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ตลาดนักท่องเที่ยวจากอินเดีย เป็นตลาดสำคัญไม่แพ้ตลาดอื่น เพราะมีโอกาสขยายตัว โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยว ตามแผนของไทยเล็งเจาะกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีศักยภาพ มีการใช้จ่ายสูง อาทิ กลุ่ม leisure กลุ่มครอบครัว กลุ่ม Millennials และกลุ่มความสนใจเฉพาะ (Niche Market) ได้แก่ กลุ่มแต่งงาน กลุ่ม Luxury & Wellness และกลุ่มกอล์ฟ ซึ่งตลาดอินเดียมีศักยภาพมาก
เห็นได้จากตัวเลขการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -11 พฤษภาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย เป็นจำนวน 966,686 คน โดยประเทศที่เดินทางมาไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมัน อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
สำหรับจังหวัดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่เลือกเดินทางเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ธานี กิจกรรมที่ได้รับความสนใจ 3 ลำดับแรก ได้แก่ กิจกรรมชายหาด รับประทานอาหารไทย และการท่องเที่ยวยามค่ำคืน
หากบ้านเราหาทางส่งเสริมตลาดนี้ดี ๆ ไม่แน่ก็อาจสร้างรายได้เข้าประเทศอีกมหาศาลก็เป็นไปได้