8 ปี รัฐประหาร 8 ปี ประยุทธ์ เสียของ
วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ครบ 8 ปี รัฐประหาร ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ ครบ 8 ปี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
22 พฤษภาคม 2557 นับตั้งแต่นาทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นหลังเสือ ทุบโต๊ะ ยึดอำนาจ สถาปนาตัวเอง เป็น หัวหน้าผู้ก่อการปฏิวัติ นั่งเก้าอี้ต้องห้ามนายกรัฐมนตรี ยุบ 2 พรรคการเมือง ใช้เงินแผ่นดิน 26 ล้านล้าน หนี้สาธารณะทะลุ 9.9 ล้านล้าน
8 ปี รัฐประหาร 8 ปี ที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านการยุบพรรคการเมือง ขั้วตรงข้าม ไปแล้ว 2 พรรคการเมือง พรรคแรก พรรคแบงก์ร้อยของ พรรคเพื่อไทย คือ พรรคไทยรักษาชาติ
อาฟเตอร์ช็อกจากเหตุการณ์ แผ่นดินไหวทางการเมือง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ส่งผลให้พรรคไทยรักษาชาติ ถูกยุบพรรค จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ วันที่ 7 มีนาคม 2562
พรรคที่สอง คือ พรรคอนาคตใหม่ หรือ พรรคก้าวไกลในปัจจุบัน หลังจาก ธนาธร-ปิยบุตร สร้างปรากฎการณ์ กวาดเก้าอี้ ส.ส.ในสภาได้ถึง 81 ที่นั่ง เป็นพรรคการเมืองอันดับสาม ที่ได้ คะแนนดิบ 6.3 ล้านคะแนน เขย่าขวัญโครงสร้างอำนาจนำ
หนังม้วนเดิมกลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิห้ามลงเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 กรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้นสื่อ
ขณะที่การเมืองในระบบรัฐสภา ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปี 60 เกิดปรากฎการณ์แจกกล้วย ซื้อ-ขายงูเห่า ตัวละ 20-30 ล้าน เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ต่อรองตำแหน่ง แบบโจ่งครึ่ม ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ตลอด 8 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจ ได้จัดทำงบประมาณประจำปี-งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนทั้งสิ้น 12 หน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 26 ล้านล้าน ดังนี้
งบประมาณปี 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2561 จำนวน 150,000 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 จำนวน 2.9 ล้านล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2560 จำนวน 190,000 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 จำนวน 2.733 ล้านล้านบาท งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2559 จำนวน 59,000 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 จำนวน 2.72 ล้านล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จำนวน 2.575 ล้านล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์ยังจัดทำงบประมาณขาดดุล ติดต่อกัน 8 ปี ดังนี้ งบประมาณปี 2566 ขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท งบประมาณปี 2565 ขาดดุล จำนวน 7 แสนล้านบาท งบประมาณปี 2564 ขาดดุล จำนวน 608,962 ล้านบาท
งบประมาณปี 2563 ขาดดุล จำนวน 570,022 ล้านบาท งบประมาณปี 2562 ขาดดุล จำนวน 4.5 แสนล้านบาท งบประมาณปี 2561 ขาดดุล จำนวน 4.5 แสนล้านบาท งบประมาณปี 2560 ขาดดุล จำนวน 3.9 แสนล้านบาท
งบประมาณปี 2559 ขาดดุล จำนวน 3.9 แสนล้านบาท และ งบประมาณปี 2558 ขาดดุล จำนวน 2.5 แสนล้านบาท
มิหนำซ้ำ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้ ก่อหนี้ ที่เป็น หนี้สาธารณะ จำนวนกว่า 9.9 ล้านล้านบาท จนได้รับฉายาจาก สื่อทำเนียบรัฐบาล ว่า VERY กู้
โดยหนี้สาธารณะ ณ เดือนมีนาคม 2565 จำนวน 9,951,962 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.64 ต่อจีดีพี ทะลุเพดานหนี้สาธารณะ ปี 2564 จำนวน 9,337,543 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.31 ต่อจีดีพี
ปี 2563 จำนวน 7,848,155 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.47 ต่อจีดีพี ปี 2562 จำนวน 6,901,801 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.06 ต่อจีดีพี ปี 2561 จำนวน 6,780,953 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.94 ต่อจีดีพี
ปี 2560 จำนวน 6,369,331 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.78 ต่อจีดีพี ปี 2559 จำนวน 5,988,386 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.75 ต่อจีดีพี ปี 2558 จำนวน 5,783,323 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.56 ต่อจีดีพี
และ ปี 2557 จำนวน 5,690,814 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.33. ต่อจีดีพี
นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ยัง กู้เงิน ผ่านพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน จำนวน 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ได้แก่ 1.พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
และ 2.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท
สวนทางกับเหตุผลการรัฐประหารปี 57 คือ ปัญหาการคอร์รัปชั่น จากการจัดอันดับดัชนีความโปร่งใสขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ประเทศไทยกลับมีอันดับร่วงลง และคะแนนย่ำอยู่กับที่
ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ประจำปี 2557 (Corruption Perception Index 2014) ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 85 จากทั้งหมด 175 ประเทศ
CPI ปี 2558 ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 จากทั้งหมด 168 ประเทศ CPI ปี 2559 ประเทศไทยได้คะแนน 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ
CPI ปี 2560 ประเทศไทยได้คะแนน 37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 96 จากทั้งหมด 180 ประเทศ CPI ปี 2561 ประเทศไทยได้คะแนน 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 99 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
CPI ปี 2562 ประเทศไทยได้คะแนน 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 จากทั้งหมด 180 ประเทศ CPI ปี 2563 ประเทศไทยได้คะแนน 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 104 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
และ CPI ปี 2564 ประเทศไทยได้คะแนน 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 110 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
ตลอด 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ถืออำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ตลอดจนการใช้กลไกรัฐผ่านรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ การเมืองยังไม่รู้จักคำว่า ปรองดอง เศรษฐกิจถดถอย – คอร์รัปชั่นพุ่งทะยาน
เป็น 8 ปีรัฐประหาร 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจเสียของ