เศรษฐกิจไทยฝ่ามรสุมครึ่งหลังปี 65

‘รัฐบาล’ ประคองจีดีพีโต 3 %
เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเผชิญผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ในปี 2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ติดลบถึง 6.1% และในปี 2564 จีดีพีขยายตัวได้เพียง 1.6% โดยเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลายส่วนแทบจะดับลง เช่น ภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนถึง 20% ของจีดีพี เมื่อนักท่องเที่ยวไม่ได้เดินทางเข้ามาจากการปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป

ในปี 2565 ท่ามกลางความหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาจากแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงของโรคลดลงจนรัฐบาลใกล้จะประกาศให้โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ แต่บรรยากาศของเศรษฐกิจและการค้าโลกกลับตกอยู่ในความตรึงเครียดอีกครั้งจากสงครามระหว่างยูเครน และรัสเซีย ส่งผลให้เกิดการคว่ำบาตร และการงดส่งออกสินค้า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาโภคภัณฑ์ทั้งพลังงาน อาหาร และวัตถุดิบอย่างปุ๋ย ล้วนแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจนทำให้หลายประเทศเริ่มทยอยปรับลดการคาดการณ์ของจีดีพีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น
ปรับเป้าจีดีพีปี 65 เหลือ 3%
เศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสที่ 1ปีนี้จะขยายตัวได้ 2.2% สูงกว่าที่หลายสำนักเศรษฐกิจคาดการณ์ไว้ โดยดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ได้รับอานิสงค์จากหลายส่วนทั้งภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ 14.6% การลงทุนรวมขยายตัว 0.8% สาขาโรงแรม ที่พัก และร้านอาหารขยายตัวกว่า 34.1% สาขาการเกษตรและป่าไม้ขยายตัวได้ 4.1% เป็นต้น

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวของปีก่อนได้ หากแต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้มีปัจจัยที่น่าเป็นห่วง เป็นความเสี่ยง และปัจจัยที่จะกดดันเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกมาก ถึงแม้ว่าประเด็นในเรื่องของโควิด-19 จะคลี่คลายลงไปแต่ยังมีประเด็นใหญ่ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้มากคือ เรื่องของสงครามยูเครน – รัสเซีย ที่ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการคว่ำบาตรระหว่างกัน รวมทั้งประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อที่มาจากราคาพลังงาน และอาหารที่เพิ่มสูง ซึ่งเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่อาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อในประเทศ ทำให้ประเทศต่างๆต้องขยับขึ้นดอกเบี้ยตาม จากปัจจัยต่างๆทำให้ สศช.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5 – 4.5% เหลือ 2.5 – 3.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ประมาณ 3% เท่านั้น
จีดีพีไทยฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระดับ 2.2% ในไตรมาสที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศพบว่ามีการฟื้นตัวน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร ในไตรมาสที่ 1 จีดีพีขยายตัว 8.7% ยูโรโซนที่ไตรมาสที่ 1 จีดีพีขยายตัว 5.4% ออสเตรเลียจีดีพีไตรมาส 1 ขยายตัว 4.7% เวียดนามจีดีพีไตรมาส 1 ขยายตัว 2.6% เกาหลีใต้จีดีพีไตรมาส 1 ขยายตัว 3.1% และอินโดนิเชียไตรมาส 1 จีดีพีขยายตัวได้ 5% โดยหลายประเทศที่จีดีพีขยายตัวสูงเนื่องมาจากในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ทำให้มีการล็อกดาวน์ปิดเมืองจนกระทบกับภาวะเศรษฐกิจ
โดยในส่วนของประเทศไทยนั้นการที่เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศเนื่องจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังพึ่งพาอุตสาหกรรมเดิมๆ และมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงมากถึง 20% ของจีดีพี เมื่อนักท่องเที่ยวยังกลับมาไม่มากนักการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงมีข้อจำกัดและทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจช้ามากแทบจะช้าที่สุดในอาเซียน
เศรษฐกิจไทยปี 65 ฝากความหวังไว้กับภาคการท่องเที่ยว
ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ให้สามารถขยายตัวได้ 3% ตามที่ สศช.ได้คาดการณ์ไว้ฝากความหวังไว้กับ เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ 3 ส่วนที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวนั้นเป็นความหวังสำคัญของเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยแล้วประมาณ 4.7 แสนคน สร้างรายรับจากการท่องเที่ยวแล้ว 1.73 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยในช่วงเวลาดังกล่าวถือว่ามากกว่าในปี 2564 ทั้งปี

ประกอบกับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 เป็นต้นมาประเทศไทยได้มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ โดยยกเลิกมาตรการ Test & Go ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยแล้วฉีดวัคซีนครบโดสแล้วไม่ต้องกักตัว รวมทั้งให้มีการเปิดด่านชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเลเซียและส.ป.ป.ลาว ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีมาตรการผ่อนปรนหรือยกเลิกมาตรการกักตัวของหลายประเทศเมื่อเดินทางกลับไปยังประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้การเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศมากขึ้นตามมาตรการการผ่อนคลายนโนบายโควิดที่ลดลง โดยคาดการณ์ว่าในปีนีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน สอดคล้องกับการคาดการณ์ขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งอวค์การสหประชาชาติ (UNWTO) มีการคาดการณ์ว่าตลาดการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ 30% จนถึงระดับ 78% ในปี 2565 เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจต่อมาที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็คือ การส่งออก โดยในเรื่องของการส่งออก สศช.คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าและบริการของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 7.3% ลดลงจาก 18.8% ในปี 2564 โดยการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2565 ชะลอตัวลงตามการปริมาณการค้า และเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2564 โดยในปี 2565 ปริมาณการค้าโลกชะลอตัวมาอยู่ที่ 4.7% ลดลงจากปี 2564 ที่การค้าโลกขยายตัว 10.1% ส่วนเศรษฐกิจโลกในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ลดลงจากในปี 2564 ที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ 4.5%
สำหรับเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสุดท้ายของเศรษฐกิจไทยมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ตามการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง จนทำให้การระบาดลดลงและสามารถที่จะเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ หลังจากที่มีการกระจายการฉีดวัคซีนในวงกว้างแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆจึงกลับมาดำเนินได้ ทำให้การจ้างงานดีขึ้นอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงเหลือ 1.5% ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 8 ไตรมาส ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการนำเข้าและการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
โดยล่าสุดที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) อนุญาตให้มีการเปิดสถานบันเทิง – ผับบาร์ และจำหน่ายสุราถึงเวลา 24.00 น.ในพื้นที่นำร่องที่ผ่อนคลายการควบคุม และเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า – สีเขียว) ได้ สะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆใกล้จะกลับมาเป็นปกติทั้งหมด สอดคล้องกับการเป็นโรคประจำถิ่นที่ ศบค.จะมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในเดือน ก.ค.นี้
ทั้งนี้ในประเด็นของอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัว ยังเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นกำลังซื้อและรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศให้ไม่ลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่การฟื้นตัว ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงอยู่ระหว่างการหารือกันถึงการทำมาตรการคนละครึ่งเฟสที่ 5 โดย สศช.ในฐานะหน่วยงานที่เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท ระบุว่ามีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท แต่มีรายการรอใช้จ่ายอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง เหลือวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท ยังคงเพียงพอที่จะทำมาตรการได้ อย่างไรก็ตามจะมีการทำมาตรการโครงการคนละครึ่งต่อหรือไม่ รวมทั้งหากตัดสินใจที่จะทำมาตรการนี้อีกจะต้องหาช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะออกมาตรการนี้เพื่อให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุด
สศช.ฝาก 6 ประเด็นบริหารเศรษฐกิจปี 65
สำหรับประเด็นในการบริหารเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 สศช.ให้ความเห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญใน 6 ประเด็น เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจในปี 2565 สามารถขยายตัวได้ที่ 3% เป็นอย่างน้อย ได้แก่
1.การรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน การติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของ 6 โรคโควิด-19 รวมทั้ง การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน การดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้า เคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และ การดูแลกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า
2.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยการส่งเสริมการ ท่องเที่ยวภายในประเทศ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และมีกำลังซื้อสูง การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ สามารถกลับมาประกอบธุรกิจ และการยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและ ยั่งยืน
3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการ เพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน การพัฒนาสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน การใช้ประโยชน์จาก กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลง การค้าเสรีที่ก าลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และการเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ และการปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
4. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริม การลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ การลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้าน คมนาคมขนส่งที่สำคัญๆ และการพัฒนาก าลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
5.การดูแลการผลิต ภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเพื่อเตรียมการรองรับฤดูกาล เพาะปลูก และการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น
และ
6. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ในช่วงภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง