ดีลล้ม บิ๊กตู่ ล่ม ส.ส.ปัดเศษ สูญพันธุ์
ดีลล้ม บิ๊กตู่ พล.อ.ประยทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนเปิดสภาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 กลายเป็น ดีลล่ม หลังจาก บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องเบ่งบารมี พี่ใหญ่ ยกหู ต่อสาย หัวหน้ากบฏ ร.อ.ธรรมนัส พหรมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทยให้ เบามือ
ผู้กองธรรมนัส กลับลำ ไม่ไปตามนัด มื้ออาหารค่ำ หลังจากตกปาก รับคำเชิญของ โจ้ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แผนลับ แผนล้ม พล.อ.ประยุทธ์ กลางสภา ภาคสอง จึงต้อง พับใส่ลิ้นชัก
เป็นความพยายามอย่างไม่ลดราวาศอกของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ต้องการ น็อก พล.อ.ประยุทธ์ให้คว่ำ กลางสภา หลังจาก เปิดดีล หม่ำข้าวกลางวัน กับ พรรคเล็ก ที่โรงแรมโกลเดน ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9 แต่ไม่สำเร็จ
“การรวมกับพรรคอื่นเป็นเรื่องอนาคต ยุบสภาค่อยว่ากัน แต่ก็มาคุยกันก่อนว่า ทิศทางความเป็นไปได้จะเป็นอย่างไร วันนี้ก็มีทั้งที่จะเดินต่อกับไปด้วยกันในอนาคต”นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค พรรคไทรักธรรม 1 ในพรรคเล็กเล่นตัว
กลับตาลปัตรเป็นการ เปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดฟลอร์ดินเนอร์กับพรรคเล็ก ที่สโมสรราชพฤกษ์ ยื่นข้อเสนอโครงการ-งบประมาณที่จะลงไปในพื้นที่ เป็นภาคผนวกผลงานให้กับพรรคเล็กใช้หาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า เช่น กฎหมายบำเหน็จผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน
ตีขนาบข้างไปกับ พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ หัวหน้ากลุ่ม 16 ที่ออกมาเตะสกัดการประมูล โครงการท่อส่งน้ำในภาคตะวันออก ทุบถุงเงิน สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
จน บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร ต้องยกหู (อีกครั้ง) ให้ เบาเครื่อง แต่นายพิเชษฐ กลับ เหิมเกริม หนักข้อขึ้น ถึงขั้นไปร่วมวงอาหารค่ำบนโรงแรมหรู และวีดิโอคอลกับ ทักษิณ ชินวัตร
นำมาสู่มติคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ที่มี ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค เป็นประธาน ขับนายพิเชษออกจากกลุ่มไลน์พรรค พร้อมทั้งติดสิทธิที่พึงได้จากพรรค เป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้แก่
1.สิทธิในการได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ หรือตำแหน่งอื่นในสัดส่วนของพรรค 2.สิทธิในการร่วมกิจกรรม ร่วมประชุมหรือใช้ห้องประชุมพรรค และสิทธิในการรับข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ เช่น ในระบบแอปพลิเคชั่นไลน์ของพรรค และ 3.สิทธิในการใช้ชื่อ ตรา เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ของพรรคพลังประชารัฐ ในการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ
“ปรากฏว่านายพิเชษฐ ในฐานะสมาชิกพรรคพลังประชารัฐไปร่วมประชุมหารือวางแผนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีกับคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยถึง 2 ครั้ง การกระทำของนายพิเชษฐ จึงเป็นการกระทำที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และเป็นการตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับพรรคพลังประชารัฐ ด้วยเหตุนี้นายพิเชษฐ จึงฝ่าฝืนข้อบังคับของพรรคพลังประชารัฐหลายข้อ”
“นายพิเชษฐ ได้โทรศัพท์คุยกับนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และเป็นบุคคลที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นการกระทำดังกล่าวข้างต้นของนายพิเชษฐ จึงเป็นการกระทำตามอำเภอใจ โดยไม่มีสำนึกร่วมรับผิดชอบต่อเสถียรภาพของพรรค ไม่มีจิตสำนึกในอุดมคติของพรรค ในฐานะเป็นเจ้าของพรรค ไม่เป็นไปตามหลักการอยู่ร่วมกันของสมาชิกพรรคภายใต้ระเบียบแบบแผนของพรรคพลังประชารัฐ”ผลการประชุมคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรคระบุ
จุดเปลี่ยนของ พรรคเล็ก คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์สั่ง “ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย” กรณี หมอระวี นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ขอให้วินิจฉัยว่า การลงมติแก้กติกาการเลือกตั้ง จาก บัตรใบเดียว เป็น บัตรสองใบ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และขัด-แย้งต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมร่วมกันของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ปรากฏว่าผู้ร้อง (นพ.ระวี) เป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำใด…”
ความหวังของ ส.ส.ปัดเศษ ที่ฝากความหวังไว้กับ คะแนนตกน้ำ ไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญในการ เพื่อ ล้มบัตรเลือกตั้งสองใบ จึงเป็นอันต้องอกหักไปตาม ๆ กัน
ตอกฝาโลงด้วย มติ 35 ต่อ 11 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการ หาร 100
เป็นการยืนยันตาม “ร่างคณะรัฐมนตรี” ในมาตรา 23 คือ
มาตรา 23 ให้ยกเลิกความในมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 128 เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อจากผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้ว ให้ดำเนินการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้
(1) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
(2) ให้นำคะแนนรวมจาก (1) “หารด้วยหนึ่งร้อย” ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน
(3) ในการคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (2) ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็มคือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
(4) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบหนึ่งร้อยคนให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็มและพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากการคำนวณตาม (3) พรรคใดเป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุดให้ได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออีกหนึ่งคนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจำนวนหนึ่งร้อยคน
(5) ให้การดำเนินการตาม (4) ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากันและจะทำให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเกินจำนวนหนึ่งร้อยคน ให้ตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเศษเท่ากัน “จับสลาก” ตามวันและเวลาที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน
ให้ถือว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองตามจำนวนที่พรรคการเมืองนั้นได้รับตามผลการคำนวณตามวรรคหนึ่งได้รับเลือกตั้งเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นจนครบจำนวน แต่ตั้งไม่เกินจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้ส่งสมัคร จำนวนที่ยังขาดอยู่ให้เป็นไปตามมาตรา 83 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
โดยร่างกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ (ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง อีก 1 ฉบับ) จะส่งถึงมือ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาในวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ดีลล้ม บิ๊กตู่ จึงล่ม พร้อมๆ กับการปิดฉาก พรรคเล็ก ส.ส.ปัดเศษ จากการปิดจ็อบ สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วยการ หาร 100 ไม่ให้จุติ สูญพันธุ์ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า