6 ระเบิดเวลา 120 วันอันตราย “ประยุทธ์”
22 พฤษภาคม 2565 ถึง พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้ เป็นระยะเวลา 120 วัน
โดยมีพันธมิตรพรรคฝ่ายค้าน ที่มี พรรคเพื่อไทย เป็นหัวขบวน หัวเรือใหญ่ มือจุดระเบิดเวลา 6 ลูก ใส่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ระเบิดเวลาลูกที่ 1 การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาในเดือนมิถุนายน 2565
ถือเป็น กฎหมายการเงิน หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการ ยุบสภา
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะ คิดสั้น ตีหม้อข้าว ตัดท่อน้ำเลี้ยงตัวเอง โดยเฉพาะ เม็ดเงิน และ โครงการต่าง ๆ ที่จะลงไปในพื้นที่จังหวัด ซึ่งจะกลายเป็น กระแสตีกลับ เข้าใส่ฝ่ายค้าน
อย่างมากพรรคฝ่ายค้านทำได้เพียงการ เปิดแผล ความไร้ประสิทธิภาพการใช้เงินของรัฐบาล และโดยเฉพาะงบจัดซื้ออาวุธ ของกองทัพ ที่จะถูกถล่มเข้าใส่พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะสวมหมวกกระทรวงกลาโหมให้กลายเป็น ตำบลกระสุนตก
สำหรับงบประมาณปี 66 จำนวน 3.18 ล้านล้านบาท นับเฉพาะงบกลางและงบกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 10 อันดับ ดังนี้
อันดับหนึ่ง งบกลาง จำนวน 590,470 ล้านบาท อันดับสอง กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 325,900 ล้านบาท อันดับสาม กระทรวงมหาดไทย จำนวน 325,578 ล้านบาท อันดับสี่ กระทรวงการคลัง 285,230 ล้านบาท อันดับห้า กระทรวงกลาโหม จำนวน 197,292 ล้านบาท
อันดับหก กระทรวงคมนาคม จำนวน 180,502 ล้านบาท อันดับเจ็ด กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 156,408 ล้านบาทอันดับแปด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 126,067 ล้านบาท อันดับเก้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 124,748 ล้านบาท และ อันดับสิบ กระทรวงแรงงาน จำนวน 54,338 ล้านบาท
ขณะที่ปฏิทินร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 66 ไทม์ไลน์ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ดังนี้
วันที่ 1-2 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 66 วาระที่ 1
วันที่ 17-18 สิงหาคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 66 วาระที่ 2-3
วันที่ 29-30 สิงหาคม 2565 วุฒิสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 66
วันที่ 6 กันยายน 2565 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 66 ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ระเบิดเวลาลูกที่ 2 กฎหมายเลือกตั้ง การพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับในเดือนมิถุนายน 2565 ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
โดยประเด็นที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา กฎหมายเลือกตั้ง ที่มี สาธิต ปิตุเตชะ เป็นประธาน ได้ข้อสรุปแล้ว เช่น เบอร์ ส.ส.เขต และ เบอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ เบอร์คน-เบอร์พรรค “คนละเบอร์” การสรรหาผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ขั้นต้น แบบง่าย คือ ใช้วิธีเห็นชอบในที่ประชุมของสาขาพรรคประจำจังหวัด หรือ ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด
อย่างไรก็ตาม ประเด็นใหญ่ที่ พรรคเล็ก ยังคงยื้อ กัน คือ การคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ต้องการให้ หาร 500 เพื่อเอื้อให้เกิด พรรคปัดเศษ แต่แนวโน้มที่จะหาร 100 เป็นไปได้สูงที่สุด
ไม่ว่าพรรคการเมืองจะชิงไหวชิงพริบในการแก้กติกาเลือกตั้งในครั้งหน้าอย่างไร และพรรคใหญ่ หรือ พรรคเล็กจะได้เปรียบ-เสียเปรียบกับกติกาเลือกตั้งบัตรสองใบ
แต่ทันทีที่ กฎหมายลูก 2 ฉบับ ผ่านสภา พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกกดดันจากรอบทิศทางให้ปล่อยอำนาจ ประกาศยุบสภา เพื่อเปิดทางไปสู่การเลือกตั้งทันที
ระเบิดเวลาลูกที่ 3 ศึกซักฟอก การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151
พรรคฝ่ายค้าน จองกฐิน พล.อ.ประยุทธ์ เป็น จำเลยที่ 1 โดยตั้งไว้ 7 ข้อกล่าวหาหนัก ได้แก่ 1.การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว 2.ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์และพวกพ้อง 3.จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและฝ่าฝืนจริยธรรม
4.คุกคามเสรีภาพพี่น้องประชาชน 5.ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาและปฏิบัตินโยบายล้มเหลว 6.ทำลายระบอบประชาธิปไตยและระบบรัฐสภา และ 7.ต่อเนื่องที่เคยอภิปรายและเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขกลับถูกละเลย
หากพรรคฝ่ายค้านเคาะ วัน ว. เวลา น. ยื่นญัตติซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ จะหมดสิทธิใช้อำนาจสุดท้าย ชิงยุบสภา ทันที
ระเบิดเวลาลูกที่ 4 ปม นายกรัฐมนตรี 8 ปี พรรคฝ่ายค้าน ล็อกเป้า ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ อายุขัยนายกรัฐมนตรี ในเดือนกรกฎาคม 2565 ก่อน วันพิพากษาสถานะพล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
โดยผลออกได้ 3 หน้า หน้าแรก เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ดังนั้น จะครบกำหนด 8 ปี ในวันที่ 21 สิงหาคม 2565
หน้าที่สอง เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 6 เมษายน 2568
หน้าที่สาม เริ่มนับตั้งแต่วันที่พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 5 มิถุนายน 2570
ระเบิดเวลาลูกที่ 5 พรรคร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า – 18 เสียง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย กับ 12 เสียงของพรรคเล็ก เป็น 30 เสียง ที่จะชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์ในสภา ในการลงมติไม่ไว้วางใจใน ศึกซักฟอก
หาก 208 เสียงของพรรคฝ่ายค้านเป็นปึกแผ่น ไม่ถูกซื้อตัว ขณะที่เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลปริ่มน้ำที่ 240 เสียง และ 30 เสียงของพรรคธรรมนัส-พรรคเล็ก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่สามารถคุมเสียงให้อยู่ในแถวได้
และส่งผลให้มติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 240 เสียง (กึ่งหนึ่ง คือ 239 เสียง จากทั้งหมด 478 เสียง) ความเป็นนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลง และ ครม.พ้นทั้งคณะ ทันที
ระเบิดเวลาลูกที่ 6 – ระเบิดพลีชีพ พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมือง ยังไม่สุกงอม พรรคภูมิใจไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ 2 พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงในสภาเป็นอันดับสอง และอันดับสาม ตามลำดับ ผลประโยชน์ยังลงตัว แต่คำว่า การเมือง ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร อะไรก็เกิดขึ้นได้
เป็น 120 วันอันตราย ที่มี ระเบิดเวลา 6 ลูก รอจุดชนวน ทำลายล้าง รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์และคณะ