รัฐถอดแบบ ‘อีอีซี’ ฟื้นการลงทุน เร่งปั้น ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค’
ความสำเร็จของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “โครงการอีอีซี” ใน 3 พื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ มีคำขอส่งเสริมการลงทุน และการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานที่สำคัญในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องการที่จะต่อยอดความสำเร็จของโครงการอีอีซีไปยังพื้นที่อื่นๆของประเทศ
โดยถอดแบบโมเดลความสำเร็จไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ดึงการลงทุน เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศเพื่อเป็นการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจที่จะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องการเพิ่มรายได้ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ การลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาเชิงพื้นที่ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนาของประเทศตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
7 ปียอดลงทุนพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน 3.6 หมื่นล้าน
ทั้งนี้แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และการลงทุน ได้มีการคิดรูปแบบที่ทีความหลากหลายทั้งในรูปแบบกลุ่มจังหวัด คลัสเตอร์จังหวัด รวมทั้งการจัดทำระเบียงเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนโดยได้มีกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใน 10 พื้นที่ อย่างไรก็ตามพบว่าหลังจากการประกาศนโยบายนี้ตั้งแต่ปี 2558เป็นต้นมา ยอดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจชายแดนของภาคเอกชนยังไม่สูงนัก โดยปัจจุบันมีการลงทุนของภาคเอกชนแล้วประมาณ 36,882 ล้านบาทเท่านั้นซึ่งถือว่ายังเป็นมูลค่าที่น้อยมากเมื่อเทียบกับในพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศอย่างในอีอีซี
ดังนั้นในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่บริเวณชายแดน และพื้นที่อื่นๆของประเทศเพิ่มเติมซึ่งจะส่งผลดีทั้งในแง่ของการใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทดแทนการขาดแคลนแรงงานในประเทศ และการแสวงหาโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆได้มากขึ้น ล่าสุดรัฐบาลมีการตกผลึกแนวความคิดนี้แล้วโดยจะเดินหน้าพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ในพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดต่างๆใน 4 พื้นที่โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศว่าจะใช้นโยบายนี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และฟื้นฟูประเทศภายหลังจากสถานการณ์โควิด -19 เริ่มคลี่คลาย
เคาะเดินหน้า 4 ระเบียงเศรษฐกิจทั่วประเทศ
ล่าสุดนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา และจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ซึ่งได้กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนา และจุดเด่นตามศักยภาพของพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันใน 4 พื้นที่ได้แก่
1.ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA ซึ่งประกอบไปด้วย 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปางโดยกำหนดให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ของประเทศ จากฐานทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่สั่งสมมาในพื้นที่ซึ่งสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศได้อย่างยั่งยืน
2.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC – Bioeconomy ประกอบไปด้วยพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย โดยพื้นที่นี้ถือว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมีวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร และอุตสาหกรรม ชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ โดยภาครัฐต้องทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาส่งเสริมและปรับปรุงการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศในระยะต่อไป
3.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง – ตะวันตก หรือ Central – Western Economic Corridor : CWEC ประกอบไปด้วย 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี โดยระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง – ตะวันตก ถือว่าเป็นพื้นที่ศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นระเบียงเศรษฐกิจชั้นนำในอนาคตทั้งในเรื่องของภาคเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง รวมทั้งเป็นพื้นที่สำคัญในการเชื่อมโยงกรุงเทพฯ พื้นที่โดยรอบ และ EEC ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างมาก นอกจากในพื้นที่ฝั่งตะวันตกใน จ.กาญจนบุรี ยังมีศักยภาพที่เชื่อมโยงไปยังเมียนมา รวมถึงการเปิดประตูรับการค้าการลงทุนจากกลุ่มประเทศความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บิมสเทค) รวมถึงตลาดขนาดใหญ่ในอินเดียที่สามารถทำตลาดการค้าในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ๆได้เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตของประเทศไทยในอนาคต
และ 4. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC ประกอบไปด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราชโดย SEC มีแผนการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการแลนด์บริจ การพัฒนาท่าเรือระนองเป็นท่าเรือในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในกลุ่มภาคใต้ตอนบนเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้า และโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาค ฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง เช่น การเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมัน และยางพาราด้วยการวิจัย และพัฒนา รวมทั้งเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูงเข้ามาใช้จ่ายเพิ่มความคึกคักของเศรษฐกิจภายในพื้นที่
แบ่งงาน 5 ด้านเร่งรัดการลงทุนใน 4 เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ทั้งนี้ที่ประชุม กพศ.ต้องการเร่งรัดให้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วโดยล่าสุดได้มีการเห็นชอบแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมุ่งเน้นการตลาด
การประชาสัมพันธ์ และ Roadshow เพื่อสร้างโอกาสของประเทศไทยในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกเผชิญกับความผันผวนและห่วงโซ่อุปทานเกิดความเปลี่ยนแปลงในแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ ให้สร้างการรับรู้ต่อสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่องเพื่อโอกาสดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมายังประเทศไทย
รวมทั้งได้มีการแต่งตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบใน 5 ด้าน ประกอบไปด้วย
1.การให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกการลงทุน มอบหมายให้กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มอบหมายกระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ
3.การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ หน่วยงานรับผิดชอบหลักได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม)
4. การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ หน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ กระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์)
และ 5.การวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี หน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับเขตตรวจราชการกำกับการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจในแต่ละภาคติดตามความคืบหน้าและนำความก้าวหน้าการดำเนินงานมารายงานให้ทราบเป็นระยะๆ
มอบปลัดกระทรวงการคลังเร่งจัดทำสิทธิประโยชน์
คณะกรรมการ กพศ.ได้มีการกำหนดพื้นที่จังหวัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคทั่วประเทศ และกำหนดแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเบื้องต้นแล้ว เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุน กพศ.ได้มอบหมายคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และกระทรวงมหาดไทย เร่งรัดพิจารณากำหนดกิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน และนำเสนอที่ประชุม กพศ.เพื่อออกเป็นประกาศเป็นมาตรการสนับสนุนการลงทุนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่งมีข้อมูลเรื่องสิทธิประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกพื้นที่ที่จะลงทุน
คงต้องจับตาดูต่อไปว่าในที่สุดแล้วนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 4 ภาคทั่วประเทศของรัฐบาลจะประสบความสำเร็จเหมือนกับที่โครงการอีอีซีเคยทำได้ในแง่ของการดึงดูดการลงทุนมาสู่ประเทศไทยหรือไม่